KTB คาดเอลนีโญ ฉุดผลผลิตภาคเกษตรเสียหายกว่า 5.3 หมื่นลบ.

Krungthai COMPASS ระบุว่า ปัญหา Climate Risk ที่ทวีความรุนแรงขึ้นทั่วโลก ได้สร้างความเสียหายให้กับผลผลิตภาคเกษตรทั่วโลกอยู่ที่ราวปีละ 21,400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ราว 71.6 หมื่นล้านบาท) และคาดว่าในปี 2573 ความเสียหายในภาคเกษตรจะเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ปีละ 150,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ราว 502.5 หมื่นล้านบาท) ขณะที่ไทย เป็นประเทศผู้ผลิตสินค้าเกษตรและอาหารที่สำคัญของโลก ทำให้ปัจจัย Climate Risk มีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

*สถานการณ์ Climate Risk ในไทย และความเสี่ยงของภาคเกษตร

ไทยมีความเสี่ยงสูงจากปัญหา Climate Change และความเสี่ยงดังกล่าวเริ่มส่งผลกระทบต่อไทยชัดเจนมากขึ้น โดยจากข้อมูลจาก Global Climate Risk 2021 ชี้ว่า ไทยถูกจัดอันดับเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอันดับที่ 9 จาก 180 ประเทศทั่วโลก จึงมีโอกาสสูงที่จะเผชิญกับปัญหาสภาพอากาศที่สูงขึ้นกว่าปกติและสภาพอากาศสุดขั้ว

ภาคเกษตรเป็น Sector ที่มีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบจากปัญหา Climate Risk ชัดเจนกว่า Sector อื่น เนื่องจากมีสัดส่วนการใช้น้ำมากที่สุด เมื่อเทียบกับ Sector อื่นๆ โดยภาคเกษตรใช้น้ำคิดเป็นสัดส่วน 77% ของการใช้น้ำในแต่ละปีของไทย ทั้งนี้ ความต้องการใช้น้ำในแต่ละปีของไทยอยู่ที่ราว 147,747 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) แบ่งเป็น การใช้น้ำสำหรับภาคเกษตรที่ 113,961 ล้าน ลบ.ม. (สัดส่วน 77% ของการใช้น้ำทั้งหมด) รองลงมา คือ การใช้เพื่อระบบนิเวศ 27,090 ล้าน ลบ.ม. (19%) การใช้เพื่อการท่องเที่ยวและอุปโภคบริโภคที่ราว 4,783 ล้าน ลบ.ม. (3%) และใช้สำหรับภาคอุตสาหกรรมที่ราวปีละ 1,913 ล้าน ลบ.ม. (1%)

โดยภาคเกษตรส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อย ทำให้มีข้อจำกัดในการปรับตัวด้านการบริหารจัดการน้ำ อีกทั้งพื้นที่เพาะปลูกของไทยอยู่นอกพื้นที่ชลประทานถึง 78% ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงจากปัญหาขาดแคลนน้ำในการทำเกษตรกรรมมากที่สุด

 

*คาด Climate Risk สร้างความเสี่ยงต่อภาคเกษตรไทยใน 2 มิติ

 

Krungthai COMPASS ระบุว่า Climate Risk มีแนวโน้มจะสร้างความเสี่ยงต่อภาคเกษตรไทยใน 2 มิติหลัก คือ 1. ความเสี่ยงจากผลกระทบทางกายภาพ (Physical risk) เช่น การเกิดภัยแล้งที่สร้างความเสียหายต่อความสามารถในการแข่งขันของภาคเกษตรไทยในตลาดส่งออก 2. ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนผ่านต่อระบบเศรษฐกิจ (Transition risk) เช่น ความเสี่ยงต่อความสามารถในการแข่งขันของภาคเกษตรไทยในตลาดส่งออก จากการเปลี่ยนแปลงของกฎเกณฑ์และนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของคู่ค้า รวมทั้งพัฒนาการของเทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค

“ความเสี่ยงจากผลผลิตสินค้าเกษตรที่เสียหายจากปัญหาภัยธรรมชาติที่รุนแรงขึ้น และความเสี่ยงจากนโยบายและกฎระเบียบทางการค้าที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น จะเป็นความเสี่ยงที่จะเห็นได้ชัด และส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทยชัดเจนขึ้นในระยะ 1-2 ปีนี้” บทวิเคราะห์ ระบุ

ปัญหา Climate risk ที่เห็นชัดเจนมากขึ้น คือ ภาวะเอลนีโญที่เกิดถี่ขึ้น ส่งผลให้เกิดภัยแล้ง และสร้างความเสี่ยงต่อผลผลิตสินค้าเกษตรไทย โดยก่อนที่จะเกิดเอลนีโญกำลังแรงในปี 2558-2559 นั้น ได้เกิดเอลนีโญในช่วงก่อนหน้า คือ ปี 2552-2553 หรือทิ้งช่วงประมาณ 5 ปี แต่หลังจากปี 2559 เกิดเอลนีโญอีกครั้ง คือ ปี 2562-2563 และ 2566-2567 หรือเกิดถี่ขึ้นเป็นทุก 3 ปี ปัจจัยได้กล่าวส่งผลทำให้ผลผลิตสินค้าเกษตรเสียหาย โดยในปี 2558 และ 2562 ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรหดตัวราว 5.7%YoY และ 4.7%YoY ตามลำดับ ดังนั้นภาวะเอลนีโญที่มีแนวโน้มเกิดถี่ขึ้นจะยิ่งสร้างความเสี่ยงต่อผลผลิตสินค้าเกษตรของไทยเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้า

ทั้งนี้ ปรากฎการณ์เอลนีโญที่เริ่มก่อตัวขึ้นตั้งแต่ช่วงครึ่งปีหลังของปี 2566 และจะทวีความรุนแรงในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2567 จะส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำต้นทุนที่ใช้ในการเพาะปลูก โดย ณ 19 ก.ค. 2566 ปริมาณน้ำในเขื่อนใช้การได้ โดยรวมทั้งประเทศอยู่ในระดับต่ำ โดยเฉพาะภาคกลาง และภาคตะวันตก ซึ่งอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปี 2558 ที่เกิดภัยแล้งรุนแรง

สถานการณ์ดังกล่าว จะสร้างความเสี่ยงต่อผลผลิตสินค้าเกษตรสำคัญ อย่างข้าวนาปีที่จะมีผลผลิตออกสู่ตลาดมากในช่วงปลายปี 2566 รวมทั้งข้าวนาปรัง อ้อย และมันสำปะหลัง ที่จะมีผลผลิตออกสู่ตลาดมากในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2567 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยคาดว่าข้าวจะได้รับความเสียหายเป็นหลัก เนื่องจากภาคกลาง ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งรุนแรงเป็นแหล่งเพาะปลูกข้าวที่สำคัญ โดยเฉพาะข้าวนาปรัง อีกทั้งเป็นพืชที่ทนแล้งได้น้อยกว่าอ้อย และมันสำปะหลัง

 

*ประเมินความเสียหายด้านเกษตรกว่า 5.3 หมื่นลบ. จากเอลนีโญ

โดยเอลนีโญในรอบนี้ คาดว่าจะทำให้ 3 พืชในภาคเกษตรกรรมสำคัญ ได้แก่ ข้าว อ้อย และมันสำปะหลังได้รับความเสียหายรวมกันอยู่ที่ราว 16,000-126,000 ล้านบาท โดยขึ้นอยู่กับความรุนแรงของสถานการณ์เอลนีโญ ซึ่งมีสมมติฐานในแต่ละกรณีดังนี้

กรณีที่ 1 Base Case: ภาวะฝนทิ้งช่วงตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 2566 ไปจนถึงกลางปี 2567 โดยผลผลิตข้าวนาปี อ้อย และมันสำปะหลัง คาดว่าจะได้รับผลกระทบตั้งแต่ช่วงปลายปี 2566 และจะทวีความรุนแรงในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 คาดว่าผลผลิตข้าว อ้อยและมันสำปะหลังจะได้รับความเสียหายพอสมควร จากปริมาณน้ำต้นทุนที่ลดต่ำลงมาก ส่งผลให้มีมูลค่าความเสียหายรวม 53,215 ล้านบาท

กรณีที่ 2 Best Case: ภาวะฝนทิ้งช่วงกินเวลาไม่นาน ตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 2566 และจะคลี่คลายภายในต้นปี 2567 ทำให้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 ผลผลิตข้าวนาปี อ้อย และมันสำปะหลัง ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนในเขื่อนยังมีเพียงพอ ส่วนในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 คาดว่าผลผลิตข้าวนาปรัง อ้อยและมันสำปะหลังจะได้รับผลกระทบน้อย เพราะเอลนีโญอ่อนกำลังลง ส่งผลให้มีมูลค่าความเสียหายรวม 16,000 ล้านบาท

กรณีที่ 3 Worse Case: ภาวะฝนทิ้งช่วงลากยาวตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 2566 ไปจนถึงปลายปี 2567 โดยผลผลิตข้าวนาปี อ้อย และมันสำปะหลัง จะได้รับผลกระทบตั้งแต่ปลายปี 2566 ประกอบกับในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 คาดว่าผลผลิตข้าวนาปรัง อ้อยและมันสำปะหลังจะได้รับความเสียหายพอสมควร จากปริมาณน้ำต้นทุนที่ลดต่ำลงมาก นอกจากนี้ ยังสร้างความเสียหายต่อเนื่องไปถึงการปลูกข้าวนาปีในช่วงครึ่งปีหลังของ ปี 2567 ซึ่งเป็นผลผลิตข้าวส่วนใหญ่คิดเป็นกว่า 80% ของผลผลิตข้าวรวมทั้งปี ส่งผลให้มีมูลค่าความเสียหายรวม 126,000 ล้านบาท

โดย Krungthai COMPASS มองว่า ความเสียหายในกรณีที่ 1 มีความเป็นไปได้มากที่สุด พร้อมมีคำแนะนำไปยังผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในภาคเกษตร ดังนี้

– ธุรกิจเกษตรแปรรูป ควรให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการวัตถุดิบ เพื่อรับมือกับความผันผวนของต้นทุนสินค้าเกษตร, ควรร่วมมือกับเกษตรกรในการประยุกต์ใช้ Climate Tech เพื่อช่วยบริหารจัดการและติดตามข้อมูลสภาพอากาศและภัยธรรมชาติ อีกทั้งควรศึกษาและติดตามกฎระเบียบการค้า เนื่องจากกฎระเบียบการค้าด้านสิ่งแวดล้อมมีการยกระดับอยู่เสมอและมีแนวโน้มเข้มงวดขึ้น รวมถึงมีโอกาสขยายขอบเขตไปยังสินค้ากลุ่มอื่นๆ

– เกษตรกร

ควรประยุกต์ใช้ความรู้ด้านการเพาะปลูกสมัยใหม่ที่พึ่งพาการใช้ทรัพยากรน้ำน้อยกว่าเดิม และควรปรับปรุงประสิทธิภาพในการผลิตเพื่อลดต้นทุน

– ภาครัฐ

ควรให้ความสำคัญกับการลงทุนบริการจัดการน้ำ โดยเฉพาะการลงทุนเพิ่มแหล่งกักเก็บน้ำในพื้นที่นอกชลประทานซึ่งมักเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งค่อนข้างมาก, สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาพันธุ์พืช และปศุสัตว์ ที่ทนแล้ง รวมทั้งสภาพอากาศที่มีแนวโน้มแปรปรวนมากขึ้น

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 ส.ค. 66)

Tags: , , , , ,
Back to Top