รัฐสภาเสร็จสิ้นการโหวตนายกฯ “เศรษฐา” กวาดเสียงสนับสนุน 482 ต่อ 165 งด 81

มติที่ประชุมรัฐสภาเห็นชอบการแต่งตั้ง นายเศรษฐา ทวีสิน ให้เป็นนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 272 วรรคหนึ่ง ด้วยคะแนน ห็นชอบ 482 เสียง ไม่เห็นชอบ 165 เสียง งดออกเสียง 81 เสียง โดยถือว่านายเศรษฐา ได้รับคะแนนเห็นชอบมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา

ประวัติของนายเศรษฐา เกิดวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2505 ชื่อเล่น “นิด” เป็นบุตรคนเดียวของของร้อยเอกอำนวย ทวีสิน กับ นางชดช้อย ทวีสิน (สกุลเดิม จูตระกูล) โดยตระกูลทวีสินเป็นหนึ่งในตระกูลที่มีความเกี่ยวข้องกับสายเครือญาติ 5 ธุรกิจยักษ์ใหญ่ของไทย ได้แก่ ยิบอินซอย จักกะพาก จูตระกูล ล่ำซำ และ บูรณศิริ

ในระดับประถม นายเศรษฐา ศึกษาที่โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร จากนั้นไปศึกษาต่อที่สหรัฐในระดับไฮสกูล และจบการศึกษาระดับปริญญาตรีในสาขาเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐแมสสาชูเซ็ตส์ (University of Massachusetts) ปริญญาโทในสาขาบริหารธุรกิจด้านการเงินจากบัณฑิตวิทยาลัยแคลมอนต์ (Claremont Graduate School) ของสหรัฐ

หลังเรียนจบในปี 2529 นายเศรษฐากลับมาทำงานที่ประเทศไทยในบริษัท พรอคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล (Procter & Gamble) บริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่เพิ่งย้ายฐานการผลิตเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่การตลาดคนแรก

แต่หลังจากทำงานไปได้ 3 ปีได้ปฏิเสธที่จะย้ายไปทำงานในต่างประเทศ จึงได้ไปเริ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ร่วมกับนายอภิชาติ จูตระกูล ภายใต้ชื่อ บริษัท แสนสำราญ จำกัด ในปี 2533 ประเดิมพัฒนาโครงการแรก คือ บ้านไข่มุก ริมหาดหัวหิน ประสบความสำเร็จอย่างสูง มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของลูกค้าในตลาดระดับบน จากนั้นได้เปลี่ยนชื่อเป็น แสนสิริ และจดทะเบียนเป็นบริษัทมหาชนจำกัดในปี 2538 ก่อนจะส่งเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

นอกจากการบริหารงานใน บมจ.แสนสิริ (SIRI) ตั้งแต่ปี 2549-2566 นายเศรษฐายังดำรงตำแหน่งกรรมการในกว่า 30 บริษัท เช่น บมจ.เอ็กซ์สปริง แคปปิตอล (XPG) , บริษัท สิริพัฒน์ ทเวลฟ์ จำกัด, บริษัท สิริพัฒน์ อีเลฟเว่น จำกัด, บริษัท สิริพัฒน์ เท็น จำกัด, บริษัท สิริพัฒน์ ไนน์ จำกัด เป็นต้น

ในวันที่ 8 มี.ค.2566 นายเศรษฐา ได้โอนหุ้น SIRI ทั้งหมด 661 ล้านหุ้น หรือสัดส่วน 4.44% ที่ถืออยู่ทั้งหมดให้กับ ชนัญดา ทวีสิน บุตรคนเล็ก และลาออกจากตำแหน่ง ประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ รวมทั้งทุกตำแหน่งในฐานะกรรมการบริษัท และกรรมการชุดย่อยของบริษัท เพื่อลงสู่สนามการเมืองเต็มตัว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 ส.ค. 66)

Tags: , ,
Back to Top