เอ็มดี EXIM BANK ทำนายดวงชะตาเศรษฐกิจไทยปี 67 ส่งออกกลับมาเป็นดาวอุปถัมภ์พลิกฟื้น

นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) กล่าวถึงสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2566 ว่า การฟื้นตัวเป็นไปอย่างช้า ๆ โดยคาดว่าจะขยายตัวต่ำกว่า 3% เนื่องจากการส่งออกที่เคยเป็นเครื่องจักรสำคัญยังหดตัว โดยในช่วง 9 เดือนแรกติดลบไปแล้ว 3.8% และปีนี้มีโอกาสทรงตัวถึงหดตัว 1-2% ขณะที่ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม หดตัว 11 เดือนติดต่อกัน และยังมีกำลังผลิตส่วนเกิน ขณะที่การท่องเที่ยวแม้ว่าจะฟื้นตัวได้ดี แต่ก็ยังต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง เพราะจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติล่าสุดอยู่ที่ 28 ล้านคนจากเป้าหมายทั้งปีที่ 30 ล้านคน โดยนักท่องเที่ยวจีนยังต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ ส่วนการบริโภคฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ความเชื่อมั่นผู้บริโภคสูงสุดในรอบ 42 เดือน ตลาดแรงงานฟื้นตัวดี อัตราว่างงาน -1% เท่ากับช่วงก่อนโควิด และภาคบริการแข็งแกร่ง ดัชนีการใช้จ่ายภาคบริการโต 23 เดือนติดต่อกัน

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การส่งออกเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวกระเตื้องขึ้นมาแล้วในไตรมาส 4/2566 กลับมาขยายตัว โดย EXIM Index เกิน 100 ครั้งแรกในรอบ 4 ไตรมาส และคาดว่าในปี 2567 การส่งออกจะพลิกกลับมาเติบโตได้ กลายเป็นดาวอุปถัมภ์เศรษฐกิจไทยอย่างโดดเด่นเติบโตราว 3.5% ได้รับปัจจัยบวกจากราคาส่งออกเพิ่มขึ้น สินค้าเกษตรได้รับผลบวกจากเอล ณีโญ่ ราคาสินค้าที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันสูงขึ้น ปัญหาด้านอุปทานคลี่คลาย ค่าระวางเรือลดลง สถานการณ์ขาดแคลนชิปดีขึ้น อุปสงค์สินค้าไทยยังดี สินค้าเกษตรและอาหารได้รับผลบวกจาก Food Security

ด้านการลงทุนน่าจะฟื้นตัวดีขึ้นตามการส่งออก และการย้ายฐานการผลิตของต่างชาติมาที่ไทย ซึ่งในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 เราได้เห็นยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนเพิ่มขึ้นมาที่ 3.6 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นถึง 70%

สำหรับการท่องเที่ยวคาดว่าจะฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่องมาแตะระดับใกล้ก่อนโควิด โดยหลายฝ่ายคาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 35 ล้านคน หรือกลับมาราว 95% จากช่วงก่อนโควิด ส่วนการบริโภคจะขยายตัวต่อ โดยได้แรงหนุนจากมาตรการภาครัฐทั้งการกระตุ้นการบริโภค และการลดค่าครองชีพ

นายรักษ์ มองว่า ความขัดแย้งทางภูมิศาสตร์ของโลกที่ผ่านมามักจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทยมากกว่าผลเสีย โดย Trade War ระหว่างสหรัฐและจีน ช่วยเพิ่มโอกาสการลงทุนในไทยจากการย้ายฐานการผลิตออกจากจีน ส่วนความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งทำให้เกิดวิกฤติราคาอาหารและพลังงาน ส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรของไทยสูงขึ้นตามไปด้วย แต่สถานการณ์สงครามอิสราเอลและฮามาสยังต้องรอติดตามดู แต่ปัจจุบันทำให้ราคาน้ำมันและทองคำปรับตัวสูงขึ้น และหากยืดเยื้ออาจเป็น New Wave ของปัญหาเงินเฟ้อได้

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 พ.ย. 66)

Tags: , , ,
Back to Top