รมช.พาณิชย์ชี้โอกาสทองสินค้าเกษตรไทยเข้าฉงชิ่งเปิดประตูจีนทั่วประเทศ-เอเชียกลาง-ยุโรป

นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รมช.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้เข้าร่วมการประชุมหารือความร่วมมือระหว่างมณฑลเสฉวน-นครฉงชิ่ง กับประเทศลุ่มน้ำโขง (2023 Sichuan-Chongqing Region & Mekong Countries Sub-National Cooperation Forum) ระหว่างวันที่ 22-23 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ณ มหานครฉงชิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยได้กล่าวสนับสนุนการยกระดับความร่วมมือเศรษฐกิจข้ามพรมแดน และการเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์ เพื่อขยายการค้าและการลงทุน รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (FTA) ท่ามกลางผู้บริหารระดับสูงของนครฉงชิ่ง มณฑลเสฉวน และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ของกัมพูชา สปป.ลาว และเมียนมา

“มั่นใจว่าไทยจะสามารถเชื่อมโยงโลจิสติกส์ในการขนส่งสินค้าทั้งทางบก (รางและบรรทุก) และทางทะเลร่วมกับประเทศลุ่มน้ำโขง พร้อมทั้งสนับสนุนให้ผู้ประกอบการใช้ประโยชน์จาก FTA อาเซียน-จีน ควบคู่กับความตกลง RCEP ให้มากขึ้น โดยนครฉงชิ่งเป็นประตูกระจายสินค้าผักและผลไม้ ผ่านการขนส่งหลากหลายรูปแบบ (multimodal transport) จึงเป็นโอกาสทองของผู้ประกอบการไทยในการขนส่งสินค้ากระจายไปสู่ผู้บริโภคจีนทั่วประเทศและภูมิภาคใกล้เคียง โดยเฉพาะตลาดเอเชียกลางและยุโรป ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยมีเส้นทางขนส่งสินค้าสู่จีน 5 เส้นทาง ซึ่งเป็นทางบก 4 เส้นทาง ได้แก่ 1) เชียงราย-ด่านรถไฟโม่ฮาน 2) บึงกาฬ/หนองคาย-ด่านโหย่วอี้กวน 3) มุกดาหาร-ด่านรถไฟผิงเสียง/ด่านตงชิง และ 4) นครพนม-ด่านตงชิง/ด่านโหยวอี้กวน และทางทะเล 1 เส้นทาง คือ แหลมฉบัง-ท่าเรือชินโจว” นายนภินทร กล่าว

นายนภินทร เสริมว่า ได้ใช้โอกาสนี้ในการส่งเสริมความร่วมมือระดับมณฑลของจีน ระหว่างกระทรวงพาณิชย์ของไทยกับรัฐบาลฉงชิ่งและรัฐบาลเสฉวน ในการสร้างเครือข่ายทางธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการของทั้งสองฝ่าย เพื่อช่วยขยายมูลค่าการค้าและการลงทุน พร้อมทั้งเชิญชวนนักลงทุนจีนเข้ามาลงทุนในไทย โดยเฉพาะในพื้นที่อุตสาหกรรมอัจฉริยะ (Smart Park) ที่เน้นอุตสาหกรรมสมัยใหม่ อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร ซึ่งรัฐบาลไทยพร้อมที่จะอำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุนจีนอย่างเต็มที่

นอกจากนี้ ยังได้นำทีมเข้าเยี่ยมชมตลาดซวงฝู ซึ่งเป็นตลาดค้าส่งสินค้าเกษตรขนาดใหญ่ มีเนื้อที่กว่า 500 ไร่ โดยมีการติดตั้งระบบการบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์ และการกำจัดขยะที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจีน โดยสามารถรองรับสินค้าผักและผลไม้จากไทย อาทิ ลำใย ทุเรียน และมังคุด ที่ส่วนใหญ่ขนส่งมาจากเส้นทาง R3A ออกจากเชียงรายไปด่านรถไฟโม่ฮาน ก่อนเข้าสู่นครฉงชิ่ง เนื่องจากมีระยะทางและใช้เวลาในการขนส่งที่สั้นกว่า

ทั้งนี้ ได้เชิญชวนผู้บริหารตลาดค้าส่งซวงฝู สร้างเครือข่ายการค้ากับตลาดของไทย เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ด้านรูปแบบการบริหารจัดการทั้งระบบ ตั้งแต่การรับซื้อจนกระทั่งการกระจายสินค้า และการพัฒนาตลาดให้สามารถตอบสนองต่อผู้บริโภคทุกระดับชั้น ซึ่งหากในอนาคตไทยมีความร่วมมือกับตลาดค้าส่งซวงฝู ผู้ประกอบการไทยจะสามารถเพิ่มปริมาณการส่งออกผลไม้ไทยไปจีนได้มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันตลาดค้าส่งซวงฝูสามารถรองรับสินค้าผักและผลไม้นำเข้าได้มากกว่า 10,000 ตันต่อวัน

สำหรับประเทศสมาชิกกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ประกอบด้วย 6 ประเทศ ได้แก่ ไทย จีน กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม โดยในช่วง 9 เดือน (ม.ย.-ก.ย. 2566) การค้าระหว่างไทยกับประเทศสมาชิกแม่โขง-ล้านช้าง มีมูลค่า 1.11 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกไปประเทศสมาชิกแม่โขง-ล้านช้าง มูลค่า 46.39 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และไทยนำเข้าจากประเทศสมาชิกแม่โขง-ล้านช้าง มูลค่า 64.38 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง น้ำมันสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติก และเคมีภัณฑ์

ทั้งนี้ ในช่วง 9 เดือน (ม.ย.-ก.ย. 2566) การค้าระหว่างไทยกับจีน มีมูลค่า 78,916.39 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ ผลไม้สด แช่เย็นและแช่แข็ง (ทุเรียน มังคุด ลำใย) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และยางพารา และสินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 พ.ย. 66)

Tags: , ,
Back to Top