TISCO ESU แนะลงทุนบอนด์เพิ่มโอกาสรับผลตอบแทน กระจายความเสี่ยงหลังมองศก.โลกปี 67 ชะลอ

นายธรรมรัตน์ กิตติสิริพัฒน์ หัวหน้าฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (TISCO ESU) กล่าวว่า เศรษฐกิจโลกในปี 67 จะชะลอตัวลงอันเป็นผลจากนโยบายการเงินที่เข้มงวดที่สุดในรอบหลายทศวรรษที่จะส่งผลกดดันต่อกิจกรรมเศรษฐกิจอย่างชัดเจนทั้งกิจกรรมด้านบริการและภาคการผลิตนอกจากนี้ด้วยอัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูงกว่ากรอบเป้าหมายของธนาคารกลางต่างๆและมีแนวโน้มว่าจะปรับตัวลดลงอย่างช้าๆทำให้ TISCO ESU ประเมินว่าอัตราดอกเบี้ยทั่วโลกในปี 67 จะยังคงอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่องเพราะธนาคารกลางจะต้องควบคุมอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ตามเป้าหมาย

แม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวแต่ยังให้น้ำหนักไม่มากที่จะเข้าสู่ “ภาวะถดถอย” โดยหากอ้างอิงจากการคาดการณ์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่มองว่าเศรษฐกิจของประเทศในกลุ่มที่ “พัฒนาแล้ว” จะชะลอตัวลงต่อเนื่อง แต่ยังสามารถขยายตัวได้ ขณะที่เศรษฐกิจของประเทศที่ “กำลังพัฒนา” แม้จะมีแนวโน้มชะลอลงบ้างแต่จะยังขยายตัวได้ในอัตราที่สูงกว่าหากเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว อย่างไรก็ตาม ประเด็นเศรษฐกิจถดถอยก็ยังเป็นความเสี่ยงของปี 67 ที่ไม่อาจละเลยได้ เพราะสถานการณ์เศรษฐกิจมีหลายปัจจัยที่มีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งรวมไปถึงเหตุการณ์สงครามที่ยากต่อการคาดการณ์ด้วย

สำหรับเศรษฐกิจไทยปี 67 คาดว่าจะเติบโต 3.5% ดีขึ้นจากปี 66 ที่น่าจะขยายตัวต่ำกว่า 3% หลัง GDP ไตรมาสสามออกมาแย่กว่าที่คาด เพราะการส่งออกสินค้าและการใช้จ่ายภาครัฐจะกลับมาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจอีกครั้ง แต่ยังมีประเด็นสำคัญที่ต้องติดตาม คือ ความรวดเร็วของการอนุมัติร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี 67 และการผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม เช่น โครงการ Digital Wallet โครงการกองทุนเพิ่มขีดความสามารถ และโครงการ e-Refundให้สำเร็จตามเป้าหมายเพราะการใช้จ่ายภาครัฐนับเป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญต่อทิศทางเศรษฐกิจในปีหน้า

ล่าสุดทางคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบรายละเอียดร่างฯ วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาทเป็นที่เรียบร้อยแล้วโดยหากรัฐบาลสามารถเร่งการพิจารณาร่างฯในขั้นตอนต่างๆได้เร็วขึ้นกว่าแผนที่วางกรอบไว้ก่อนเดือนพฤษภาคม 67 จะทำให้มีเม็ดเงินจากภาครัฐกลับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้เร็วขึ้น ในส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมยังมีความไม่แน่นอนสูงทั้งในแง่ความสำเร็จในการผลักดันให้สามารถดำเนินการได้จริงและรายละเอียดความชัดเจนบางส่วนของโครงการจึงไม่มั่นใจว่าจะสามารถผลักดันให้เป็นรูปธรรมได้หรือไม่ ดังนั้นศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้มองว่ายังเร็วเกินไปที่จะนับรวม “ความคาดหวัง”เชิงบวกของมาตรการไว้ในประมาณการในกรณีฐานแต่หากรัฐบาลสามารถผลักดันมาตรการได้สำเร็จการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยที่สูงเกินกว่า 4% จะมีโอกาสลุ้นให้เป็นจริงมากขึ้นได้ในปี 67

นายคมศร ประกอบผล หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ กล่าวว่า นับตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจโลกในปี 51 ตลาดพันธบัตรอยู่ในภาวะซบเซาและให้ผลตอบแทนต่ำกว่าตลาดหุ้นมากว่า15 ปีถือเป็นระยะเวลาที่ยาวนานที่สุดเป็นประวัติการณ์ ผลจากภาวะดอกเบี้ยต่ำและธนาคารกลางการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเป็นพิเศษเพื่อต่อสู้กับภาวะเงินฝืดและกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวจากภาวะวิกฤต

อย่างไรก็ตามศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้มองว่าในปี 67 ตลาดพันธบัตรโลกจะกลับมาให้ผลตอบแทนที่น่าสนใจกว่าตลาดหุ้นอีกครั้งและจะกลายเป็นสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนที่ดีที่สุดในปี 67 โดยคาดว่ามีโอกาสสร้างผลตอบแทนอยู่ที่ราว 8-15% นอกจากนี้การลงทุนในพันธบัตรโลกโดยเฉพาะพันธบัตรสหรัฐฯยังมีความเสี่ยงยังต่ำกว่าตลาดหุ้นและยังช่วยกระจายความเสี่ยงและลดผลขาดทุนของพอร์ตโดยรวมในกรณีที่เศรษฐกิจถดถอยได้อีกด้วย

ขณะที่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเริ่มเห็นการกลับขาของนโยบายทางการเงินจากผ่อนคลายเป็นเข้มงวด โดยธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจาก 0% มาอยู่ที่ 5.5% และดูดสภาพคล่องออกจากระบบไปแล้วกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่อัตราผลตอบแทนที่แท้จริงของพันธบัตร 10 ปีสหรัฐฯ (Real yield)ก็พุ่งขึ้นจากติดลบ 1% มาอยู่ที่บวก 2% เป็นระดับที่สูงเทียบเท่ากับในช่วงก่อนวิกฤตเศรษฐกิจโลกในปี 51 แล้ว ซึ่งอัตราผลตอบแทนที่แท้จริงที่กลับมาเป็นบวกนั้น ส่งผลให้ตลาดพันธบัตรกลับมาอยู่ในความสนใจของนักลงทุนอีกครั้ง

TISCO ESU จึงมองว่า ในกรณีฐาน ปี 67 เศรษฐกิจชะลอตัวแต่ไม่เข้าสู่ภาวะถดถอย (Softlanding) ผลตอบแทนจากการลงทุนในพันธบัตรสหรัฐฯ จะอยู่ที่ราว 8% ในรูปสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนในกรณีที่ปี 67 เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถอดถอย (hardlanding) ผลตอบแทนจากการลงทุนในพันธบัตรจะเพิ่มขึ้นเป็น 15%

ด้านตลาดหุ้นยังซื้อขายอยู่ในระดับที่ค่อนข้างแพงโดยดัชนี S&P500 ซื้อขายที่อัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรต่อหุ้น(P/E) 18เท่าซึ่งศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้มองว่าสูงเกินไปโดยหากประเมินจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นและสภาพคล่องที่ลดลงค่าP/E ที่เหมาะสมนั้นควรอยู่ที่ราว 17 เท่าและตลาดหุ้นยังอาจถูกกดดันจากการปรับลดคาดการณ์ผลกำไรอีกด้วยโดยปัจจุบันนักวิเคราะห์คาดผลประกอบการปี 67 ของบริษัทจดทะเบียนที่ซื้อขายอยู่ในดัชนี S&P500 ว่าจะเติบโตที่ 12% นับเป็นการคาดการณ์ที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ที่คาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(GDP) สหรัฐฯจะขยายตัวเพียง1.5% น้อยกว่าปี 66 ที่คาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโต 2%

อย่างไรก็ตามแม้เศรษฐกิจไทยปี 67 อาจเติบโตมากกว่าปี 66 แต่ TISCO ESU ยังให้น้ำหนักการลงทุนในหุ้นไทยคือ”คงน้ำหนักการลงทุน” หรือ Neutral ยังไม่แนะนำให้ “เพิ่มน้ำหนักการลงทุน” หรือ Overweight เพราะมูลค่าหุ้นที่ยังแพงเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นเอเชียโดยรวมและแนวโน้มการเติบโตระยะยาวที่ยังไม่ชัดเจน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 พ.ย. 66)

Tags: , , , ,
Back to Top