JKN แจงไทม์ไลน์โทรแจ้งยื่นแผนฟื้นฟูให้บอร์ดแต่ละคน ยันเข้าประชุมเกินกึ่งหนึ่ง

บมจ.เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป (JKN) ชี้แจงกรณีสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กรณีที่กรรมการยางรายไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการเพื่อพิจารณาการยื่นขอฟื้นฟูกิจการว่า

ประธานเจ้าหน้าที่บริหารได้ชี้แจงต่อสำนักงาน ก.ล.ต. โดยลำดับเหตุการณ์และช่วงเวลาที่ได้ติดต่อกรรมการแต่ละรายก่อนและหลังการประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 10/2566 ในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 โดยลำดับเวลาที่ได้โทรศัพท์หากรรมการทุกราย ซึ่งรายที่ 1,2,3,5 ไม่ได้คัดค้านการยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ กรรมการรายที่ 4 ไม่ได้รับสายเพราะอยู่ระหว่างการเดินทางโดยเครื่องบิน ส่วนกรรมการรายที่ 6 เข้าร่วมประชุมทางออนไลน์รับทราบและไม่ติดขัดการยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ แต่ของดออกเสียง

อย่างไรก็ตาม กรรมการ 3 และ 4 เข้ามาที่บริษัทเพื่อประชุมกับผู้สอบบัญชีหลังจากนั้นได้มีการสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับกระบวนการยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการฯ หลังจากนั้นแจ้งความประสงค์ขอให้บันทึกรายงานการประชุมว่า กรรมการอิสระไม่เข้าร่วมประชุม

ส่วนกรรมการรายที่ 7-10 เข้าร่วมประชุมที่บริษัท โดยรับทราบการยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ และเห็นด้วย

ทั้งนี้ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ชี้แจงต่อ ก.ล.ต. ว่า บริษัทได้มีการกำหนดขั้นตอนการเรียกประชุมคณะกรรมการบริษัทไว้ในข้อบังคับของบริษัทฯ หมวดที่ 3 ข้อที่ 27. วรรคที่หก ซึ่งได้ระบุไว้ว่า “ในการเรียกประชุมคณะกรรมการให้ส่งหนังสือนัดประชุมไปยังกรรมการไม่น้อยกว่าสาม (3) วัน ก่อนวันประชุม เว้นแต่ในกรณีจำเป็นรีบด่วนเพื่อรักษาสิทธิประโยชน์ของบริษัท จะแจ้งการประชุมโดยวิธีการอิเล็กทรอนิกส์ หรือวิธีการอื่นใด และกำหนดวันประชุมให้เร็วกว่านั้นก็ได้”

ประธานเจ้าหน้าที่บริหารขอชี้แจงว่าบริษัทฯ มิได้มีการส่งหนังสือนัดเชิญประชุมไปยังคณะกรรมการ เนื่องจากบริษัทมีความจำเป็นรีบด่วน เพราะประธานเจ้าหน้าที่บริหารจะต้องเดินทางไปต่างประเทศเป็นเวลา 1 เดือน เพื่อปฏิบัติภารกิจการจัดงานประกวด Miss Universe 2023 และเจรจาธุรกิจกับคู่ค้าต่าง ๆ หลายประเทศ เพื่อเป็นการหารายได้กลับเข้าสู่บริษัท ที่จะต้องกระทำเพื่อรักษาสิทธิหรือประโยชน์ของบริษัท เป็นเหตุให้บริษัทไม่สามารถออกหนังสือเชิญประชุมเป็นหนังสือได้ทัน แต่ทั้งนี้ประธานเจ้าหน้าที่บริหารได้ดำเนินการติดต่อไปยังคณะกรรมการของบริษัท

โดยตรงด้วยวิธีการทางโทรศัพท์เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 เพื่ออธิบายสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและแผนสำรองหากการประชุมผู้ถือหุ้นกู้ไม่เห็นชอบกับแผนการชำระหนี้หุ้นกู้ที่จัดทำโดยที่ปรึกษาทางการเงิน จะทำให้หนี้หุ้นกู้ทุกรุ่นถึงกำหนดชำระโดยพลันดังนั้นบริษัทมีความจำเป็นที่จะต้องยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง

ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสามารถติดต่อกรรมการทางโทรศัพท์โดยตรง รวม 5 ราย ซึ่งไม่ได้มีการคัดค้านการยื่นฟื้นฟูกิจการแต่อย่างใด ส่วนอีก 1 รายไม่สามารถติดต่อได้ เนื่องจากอยู่ในระหว่างเดินทางโดยเครื่องบิน ทั้งนี้ กรรมการอีก 4 ราย (ซึ่งรวมถึงประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้วย) เป็นกรรมการและกรรมการบริหาร ซึ่งทำงานอยู่ที่สถานประกอบการของบริษัท

คณะกรรมการบริษัทมีจำนวนทั้งหมด 10 ราย และได้มีการติดต่อไปยังคณะกรรมการบริษัททางโทรศัพท์โดยตรง รวม 5 ราย และไม่สามารถติดต่อได้ 1 ราย ทั้งนี้ กรรมการที่ได้ติดต่อทางโทรศัพท์สามารถเข้าร่วมประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้เพียง 1 รายเมื่อนับรวมกับกรรมการจำนวน 4 รายที่ได้เข้าร่วมประชุม ณ สถานประกอบการของบริษัท รวมเป็นกรรมการที่เข้าร่วมประชุม 5 ราย ถือว่ามีกรรมการมาเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง ซึ่งในวันดังกล่าวประธานในที่ประชุมไม่อยู่ในที่ประชุมและไม่มีรองประธานกรรมการ ดังนั้นกรรมการที่เข้าร่วมประชุมจึงได้แต่งตั้งให้ประธานเจ้าหน้าที่บริหารเป็นประธานในที่ประชุม และในระหว่างที่ดำเนินการจัดการประชุม เพื่อการออกเสียงลงคะแนนในวาระพิจารณาอนุมัติการยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง ได้มีกรรมการงดออกเสียง 1 ราย และ เห็นชอบรวม 4 ท่าน จึงถือได้ว่าเป็นการวินิจชัยชี้ขาดของที่ประชุมเสียงโดยใช้เสียงข้างมาก

ประธานเจ้าหน้าที่บริหารได้ชี้แจงต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ว่าจากข้อบังคับของบริษัทไม่ได้มีการกำหนดอำนาจของกรรมการผู้มีอำนาจลงนามของบริษัทฯ เกี่ยวกับการยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการไว้เป็นการเฉพาะ ซึ่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจลงนามกับกรรมการผู้มีอำนาจลงนามอีก 1 รายได้ร่วมกันลงนามในเอกสารคำร้องขอฟื้นฟูกิจการที่ได้ยื่นต่อศาลล้มละลายกลาง โดยอาศัยมติเสียงข้างมากของที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 10/2566 เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2566

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 พ.ย. 66)

Tags: , ,
Back to Top