In Focus: จบไม่สวย! ที่ประชุมแก้โลกร้อน COP28 ถึงเวลาปิดฉาก แต่ยังเสียงแตกประเด็นเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล

ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกราว 200 แห่งยังไม่สามารถตกลงกันได้อย่างเป็นเอกฉันท์ว่า มนุษยชาติควรจะเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลหรือไม่ โดยที่ประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติครั้งที่ 28 (COP28) ที่นครดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ต้องยืดเยื้อเกินจากกำหนดเวลาปิดฉากประชุมในช่วงบ่ายวานนี้ (12 ธ.ค.) เนื่องจากผู้เจรจาต้องต่อเวลาหารือกันเพื่อจัดทำร่างปฏิญญาสุดท้าย หลังจากที่นานาประเทศมีความเห็นต่างเกี่ยวกับข้อเสนอในการเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ในการเจรจาซึ่งล่วงเลยมาจนถึงเช้าวันนี้ (13 ธ.ค.)

In Focus สัปดาห์นี้ จะนำเสนอประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวให้ผู้อ่านได้รับทราบ เพราะเรื่องโลกร้อน และอากาศที่นับวันจะร้อนขึ้น ๆ นั้น ไม่ใช่เรื่องที่ไกลตัวพวกเราเลย

 

เสียงแตก… หลายประเทศเรียกร้องให้เลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล แต่หลายประเทศคัดค้าน

สหรัฐ สหภาพยุโรป และประเทศหมู่เกาะขนาดเล็ก พยายามผลักดันให้เลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล อาทิ น้ำมัน เป็นการถาวร เพราะเชื่อว่าเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดโลกร้อน แต่กลับเจอกระแสต่อต้านจากประเทศสมาชิกกลุ่มโอเปกและพันธมิตร อาทิ ซาอุดีอาระเบียและรัสเซีย แม้กระทั่ง UAE ซึ่งเป็นประเทศเจ้าภาพจัดประชุม COP28 ก็ยังลังเลที่จะฟันธงในปฏิญญาให้โลก “เลิกใช้” เชื้อเพลิงฟอสซิล

ร่างปฏิญญาที่มีการเปิดเผยเมื่อวันจันทร์ (11 ธ.ค.) ก่อนถึงกำหนดเวลาปิดฉากการประชุม COP28 ในวันอังคาร (12 ธ.ค.) นั้น ได้ตัดคำว่า “การเลิกใช้” เชื้อเพลิงฟอสซิลออกไป ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและหลายประเทศในยุโรป ขณะที่ประเทศอื่น ๆ ที่ผลักดันให้ยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น สหรัฐ ก็ระบุว่า ปฏิญญาเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวจำเป็นต้องใช้ภาษาที่เข้มแข็งมากขึ้น

ในช่วงบ่ายวันจันทร์ (11 ธ.ค.) สุลต่าน อัล จาเบอร์ ประธาน COP28 และรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีของ UAE ได้เปิดเผยร่างปฏิญญาที่มุ่งเน้นไปที่การปรับลดการผลิตและการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล (น้ำมัน ก๊าซ และถ่านหิน) ขณะที่คัดค้านการระบุถึง “การเลิกใช้” ในร่างปฏิญญา

ทั้งนี้ ร่างปฏิญญาจำนวน 21 หน้านั้นไม่ได้เรียกร้องให้มีการดำเนินการเกี่ยวกับเชื้อเพลิงฟอสซิล เพียงแต่นำเสนอมาตรการที่ประเทศต่าง ๆ อาจจะดำเนินการในเรื่องดังกล่าว ทำให้หลายประเทศไม่พอใจกับแนวทางในร่างปฏิญญาดังกล่าว

หนังสือพิมพ์เดอะ การ์เดียนของอังกฤษรายงานเมื่อวันจันทร์ (11 ธ.ค.) ว่า มากกว่า 100 ประเทศ รวมถึงรัฐที่เป็นเกาะเล็ก ๆ ของโลกระบุว่า พวกเขาต้องการให้เลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างไม่มีเงื่อนไข อย่างไรก็ตาม ประเทศต่างๆ เช่น ซาอุดีอาระเบียและรัสเซียที่ต้องพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างมากในด้านพลังงานและการเติบโตทางเศรษฐกิจ ต่างลังเลที่จะทำตามเป้าหมายดังกล่าว

นอกจากนี้ ยังมีประเทศกำลังพัฒนาบางประเทศที่กังวลเกี่ยวกับภาระทางการเงินในการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจที่เลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และเรียกร้องให้มีการสนับสนุนทางด้านการเงินมากขึ้น โดยประเทศเหล่านี้ซึ่งไม่ต้องการเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลโดยสิ้นเชิงนั้น ต้องการให้ปฏิญญาสุดท้ายนั้นอนุญาตให้มีการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลต่อไป แม้ลดปริมาณการใช้ลงก็ตาม

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ผู้แทนการประชุม COP28 บางรายได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับการเจรจาเรื่องสภาพอากาศของโลกในประเทศเจ้าภาพซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมัน หลังจากมีการประกาศเมื่อวันจันทร์ (11 ธ.ค.) ว่า อาเซอร์ไบจานและบราซิลจะเป็นเจ้าภาพจัดการเจรจาเรื่องสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติในปี 2567 และ 2568 ตามลำดับ โดยเศรษฐกิจของอาเซอร์ไบจานพึ่งพาการส่งออกน้ำมันและก๊าซเป็นอย่างมาก และบราซิลก็เป็นหนึ่งในผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ 10 อันดับแรกของโลก

อย่างไรก็ตาม ตัวแทนจากกระทรวงการต่างประเทศอาเซอร์ไบจานกล่าวถึงแผนการของประเทศที่จะเพิ่มความหลากหลายของแหล่งพลังงาน โดยจะผลิตพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ให้มากขึ้น ขณะที่ประธานาธิบดีลุยซ์ อินาซิโอ ลูลา ดา ซิลวาของบราซิลให้คำมั่นว่าจะบรรลุเป้าหมายในการลดการตัดไม้ทำลายป่าให้เป็นศูนย์ภายในปีนี้

 

การประชุม COP28 ยังพอประกาศผลสำเร็จได้บ้าง

แม้จนถึงขณะนี้ที่ประชุม COP28 ยังไร้ข้อสรุปเกี่ยวกับอนาคตของเชื้อเพลิงฟอสซิล แต่ก็ยังสามารถที่จะประกาศความสำเร็จได้บางส่วนสำหรับการดำเนินการด้านสภาพอากาศโลก

เมื่อวันที่ 30 พ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันเปิดฉากประชุม COP28 นั้น เกือบ 200 ประเทศเห็นพ้องที่จะจัดตั้งกองทุนรับมือความสูญเสียและความเสียหาย (Loss and Damage Fund) เพื่อช่วยเหลือประเทศกลุ่มเสี่ยงที่ต้องเผชิญกับผลกระทบที่เลวร้ายที่สุดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

จนถึงขณะนี้ ประเทศต่าง ๆ ให้คำมั่นว่าจะสมทบเงินทุนประมาณ 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2.5 หมื่นล้านบาท) ให้กับกองทุนนี้ โดยทั้งอิตาลีและฝรั่งเศสให้คำมั่นสัญญาที่จะสมทบเงินทุนสูงสุดถึง 108 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามมาด้วยเยอรมนีและ UAE ให้คำมั่นที่จะสมทบทุน 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และสหรัฐก็จะร่วมสมทบทุนด้วยแต่ในวงเงินที่น้อยกว่า

มีรายงานว่าบรรดาผู้แทนประเทศต่าง ๆ ขานรับการจัดตั้งกองทุนดังกล่าว แต่ก็มีความกังวลในกลุ่มปฏิบัติการด้านสภาพภูมิอากาศว่า เงินทุนเพียง 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐที่มีการให้คำมั่นไว้ในปัจจุบันนั้นอาจจะไม่เพียงพอในการรับมือกับปัญหาโลกร้อน

นายฮาร์เจต ซิงห์จาก Climate Action Network International ซึ่งเป็นกลุ่มแนวร่วมปฏิบัติการด้านสภาพภูมิอากาศเกือบ 2,000 กลุ่มได้วิพากษ์วิจารณ์คำมั่นสัญญาในการจัดตั้งกองทุนดังกล่าว โดยระบุว่าความต้องการเงินทุนที่แท้จริงนั้นคาดว่าจะมีมูลค่าหลายแสนล้านดอลลาร์ต่อปี

 

จุดยืนของประเทศไทยบนเวที COP28

พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะเจ้าหน้าที่ของไทยได้เข้าร่วมการประชุม COP28 โดยได้กล่าวถ้อยแถลงระบุว่า ประเทศไทยมุ่งมั่นในการดำเนินการตามเป้าหมาย โดยจะมีแผนปฏิบัติการที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายของแผนการลดก๊าซเรือนกระจกภายในปี 2030 (2573)

นอกจากนี้ รัฐบาลไทยจะเร่งผลักดันพระราชบัญญัติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อเป็นเครื่องมือในการกำกับดูแลด้านการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเพิ่มขีดความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยมีกลไกการเงินที่เหมาะสมและเข้าถึงได้เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero อย่างเป็นระบบ รวมทั้งไทยยังได้จัดทำแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศแห่งชาติเพื่อเป็นกรอบหลักในการสร้างความภูมิคุ้มกันอย่างยั่งยืนให้กับประชาชนด้วย

 

สภาพอากาศโลกในอนาคตจะเป็นอย่างไร มนุษยชาติจะยอมเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดโลกเดือดหรือไม่ ปฏิญญาสุดท้ายของ COP28 จะออกมาอย่างไร และจะสามารถใช้ได้กับทุกประเทศและทุกคนบนโลกนี้ได้หรือไม่นั้น ล้วนเป็นคำถามที่ทำให้เรายังคงต้องติดตามหาคำตอบกันต่อไป

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 ธ.ค. 66)

Tags: , , , , , , ,
Back to Top