สว.คำนูณ ชี้แก้ กม.ประชามติ วิปวุฒิให้อิสระตอบแบบสอบถาม มองเงื่อนไขไม่ง่าย!

นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา (สว.) กล่าวว่า ในการประชุมวิปวุฒิสภาวันนี้ จะหารือเรื่องการทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่นายนิกร จำนง ประธานคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เกี่ยวกับแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไข รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 ส่งแบบสอบถามเกี่ยวกับการทำประชามติมาให้ สว. แสดงความคิดเห็น ซึ่งถือว่าเป็นอิสระที่จะให้สมาชิกได้ตอบแบบสอบถาม โดยไม่มีผลผูกพันทางกฎหมายแต่อย่างใด

นายคำนูณ ยอมรับว่า โดยเงื่อนไขของกฎหมาย การทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปได้ยาก เนื่องจาก 1.ต้องเป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ว่าในการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต้องสอบถามประชาชน ซึ่งตามกฎหมายต้องทำอย่างน้อย 2 ครั้ง หลังครั้งแรกผ่าน ครั้งที่ 2 ถึงจะเกิดขึ้น ในการแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 256 ที่เปิดให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

และเมื่อแก้ฉบับนี้แล้วเสร็จ จะต้องทำประชามติอีกครั้งหนึ่ง และการทำประชามติทั้ง 3 ครั้งตามที่กฎหมายกำหนด จะต้องมีผู้ออกเสียงออกมาใช้สิทธิเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ และผลของประชามติก็ต้องเกินกึ่งหนึ่งเช่นกัน

“ได้ยินมาว่ามี สส.บางพรรค เสนอให้แก้ไขกฎหมายการทำประชามติ แต่ส่วนตัวไม่เห็นด้วย เนื่องจากยังไม่เคยใช้กฎหมายฉบับนี้เลยตั้งแต่ปี 2564 หากจะไปสรุปว่าทำแล้วไม่สำเร็จ เหตุผลไม่เพียงพอ แต่หากจะแก้ไขต้องใช้ทั้ง 2 สภารวมกัน ซึ่งวาระของ สว. ก็จะหมดแล้ว ดังนั้น การจะทำประชามติให้ผ่านทั้ง 3 ครั้ง ไม่ใช่เรื่องง่าย รวมทั้งการจะแก้ไขกฎหมายการทำประชามติ ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย” นายคำนูญ กล่าว

*เปิด 5 คำถามสอบถาม สว.

สำหรับคำถามในการรับฟังความคิดเห็นเบื้องต้นของ สว. เกี่ยวกับแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีทั้งหมด 5 คำถาม ดังนี้

คำถามที่ 1 ถามว่า เห็นสมควรจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่

คำถามที่ 2 ถามว่า ในกรณีที่เห็นว่าไม่สมควรจะทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ เห็นสมควรแก้ไขเป็นรายมาตราหรือไม่

คำถามที่ 3 ถามว่า ในกรณีที่เห็นว่าควรจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ เห็นว่าเนื้อหาในรัฐธรรมนูญมีปัญหาประการใดที่จำเป็นต้องแก้ไข

คำถามที่ 4 ในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ เห็นว่าสมควรจัดตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้งหมด หรือที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน โดยมีนักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญ ในสัดส่วนด้วยวิธีการได้มาตามที่กรรมาธิการกำหนด

คำถามที่ 5 ในการจัดทำประชามติ เห็นด้วยหรือไม่ที่จะจัดให้มีการทำประชามติก่อนเริ่มดำเนินการใดๆ ในกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และเห็นด้วยหรือไม่ที่จะจัดให้มีการทำประชามติ เมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว เพื่อให้ประชาชนเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งหนึ่ง ก่อนนายกรัฐมนตรี จะนำร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว ขึ้นทูลเกล้าฯ

*ไทม์ไลน์ยังไม่ชัดเจน

ด้านนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา คาดว่า จะสามารถรวบรวมแบบสอบถามของคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 เพื่อส่งกลับคืนให้คณะอนุกรรมการฯ ได้ภายใน 2 วัน ซึ่งขณะนี้มี สว.ได้ทำแบบสอบถามเสร็จแล้ว 244 คน จากทั้งหมด 250 คน

สำหรับจำนวนครั้งในการทำประชามติ ที่ยังเป็นข้อถกเถียงกันอยู่นั้น นายพรเพชร มองว่า การสอบถามความเห็นจาก สว.ถือเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่ในทางวิชาการ จะต้องไปศึกษาอีกครั้งหนึ่ง พร้อมทั้งสอบถามผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งขณะนี้ยังตอบไม่ได้ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร

ส่วนไทม์ไลน์การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่รัฐบาลวางไว้นั้น นายพรเพชร กล่าวว่า ยังไม่เห็นไทม์ไลน์ที่ชัดเจน มีเพียงการแสดงเจตนารมณ์ของฝ่ายนั้น ฝ่ายนี้ แต่คาดว่าจะมีการพิจารณาในเร็วๆ นี้

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 ธ.ค. 66)

Tags: , ,
Back to Top