Power of The Act: ผลกระทบของความเสี่ยงจากวิกฤติภูมิอากาศต่อความเป็นไปได้ทางการเงินของโครงการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์

กรมอุตุนิยมวิทยาให้คำนิยามของ “การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Climate Change)” ว่าหมายถึงการเปลี่ยนแปลงลักษณะอากาศเฉลี่ย (Average Weather) ในพื้นที่หนึ่ง ลักษณะอากาศเฉลี่ย หมายความรวมถึง ลักษณะทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับอากาศ เช่น อุณหภูมิ ฝน ลม เป็นต้น (โปรดดู ศูนย์ภูมิอากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา: “การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ คืออะไร?”) ในขณะที่อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change หรือ “UNFCCC”) ได้ให้นิยามของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเอาไว้ใน Article 1 ว่า “การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ คือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อันเป็นผลทางตรง หรือทางอ้อมจากกิจกรรมของมนุษย์ ที่ทำให้องค์ประกอบของบรรยากาศเปลี่ยนแปลงไป นอกเหนือจากความผันแปรตามธรรมชาติ”

ส่วนคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change หรือ “IPCC”) ได้ให้คำนิยามของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเอาไว้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงหรือการผันแปรของคุณสมบัติของสภาพภูมิอากาศซึ่งสามารถถูกระบุ (เช่น โดยการใช้สถิติ) ได้ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาที่ยาวนานช่วงหนึ่ง ซึ่งโดยปกติแล้วจะมีระยะเวลาสิบปีหรือนานกว่านั้น โดยที่การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอาจเกิดขึ้นโดยธรรมชาติหรือโดยการกระทำของมนุษย์ (Anthropogenic) ก็ได้ (โปรดดู Intergovernmental Panel on Climate Change: ‘Glossary of Terms’)

จากนิยามข้างต้นจะเห็นได้ว่าการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศนั้นมีสาระสำคัญคือการที่สภาพภูมิอากาศนั้นมีการ “เปลี่ยนแปลง” ไปจากเดิม โดยจะต้องเป็นการเปลี่ยนแปลงที่มีความต่อเนื่องในช่วงระยะเวลาหนึ่ง การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้อาจเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติหรือการกระทำของมนุษย์ก็ได้ เมื่อการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ต้องอาศัยแสงอาทติย์และได้รับผลกระทบจากฟ้าฝน เมฆ ตลอดจนลมพายุ การเปลี่ยนของภูมิอากาศจึงส่งผลต่อโครงการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งในมิติที่กระทบต่อการรับแสงอาทิตย์และปัจจัยอื่นที่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของระบบผลิตไฟฟ้า ภาระหน้าที่ตลอดจนต้นทุนที่เกี่ยวข้องนั้นอาจจะมากกว่าการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล

การผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ยากกว่าการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างไร ?

การผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์นั้นไม่อาจ “หนีจากความจริง” ที่ว่าแดดไม่ได้ออกทั้งวัน ดังนั้น การผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์จึงอาจไม่เกิดขึ้นทั้งวัน และแน่นอนว่าไม่อาจผลิตได้ตอนกลางคืน เป็นเหตุผลว่าเพราะเหตุใดโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จึงไม่อาจผลิตไฟฟ้าได้มากเท่าโรงไฟฟ้าที่อาศัยเชื้อเพลิงฟอสซิลที่มีกำลังการผลิตติดตั้งเท่ากัน โรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิลสามารถเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลได้ตลอด 24 ชั่วโมง แต่โรงไฟฟ้าที่ผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์นั้นไม่ได้มี “วัตถุดิบในการผลิต” ตลอด 24 ชั่วโมงเพราะแสงอาทิตย์นั้นไม่ได้มีตลอด 24 ชั่วโมง หากปริมาณาแสงอาทิตย์สูงสุดต่อวันนับรวมได้เพียง 4 ชั่วโมงแล้ว โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จะสามารถผลิตไฟฟ้าได้น้อยกว่าโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิลถึง 6 เท่า

ยกตัวอย่างเช่น โรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล (ก๊าซธรรมชาติ) กำลังการผลิตติดตั้ง 100 เมกะวัตต์ต่อชั่วโมง สามารถผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติได้ตลอด 24 ชั่วโมงต่อหนึ่งวัน หากผลิตไฟฟ้าตลอด 30 วันแล้ว โรงไฟฟ้านี้จะผลิตไฟฟ้าได้ (100 MW X 24 ชั่วโมง X 30 วัน) 72,000 เมกะวัตต์-ชั่วโมง ในขณะที่โรงไฟฟ้าที่ผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์กำลังการผลิตติดตั้ง 100 เมกะวัตต์ต่อชั่วโมง สามารถผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์เฉลี่ย 4 ชั่วโมงต่อหนึ่งวัน หากผลิตไฟฟ้าตลอด 30 วันแล้ว โรงไฟฟ้านี้จะผลิตไฟฟ้าได้ (100 MW (Solar) X 4 ชั่วโมง X 30 วัน) 12,000 เมกะวัตต์-ชั่วโมง เท่านั้น

มุมมองของผู้ซื้อและราคารับซื้อ

การผลิตไฟฟ้าได้น้อยกว่าย่อมหมายความว่าผู้ผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ก็ย่อมจะมีสิทธิเรียกเก็บจากผู้ซื้อ (เช่น การไฟฟ้า) นั้นย่อมมีจำนวนน้อยกว่าโครงการโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในมุมมองของผู้ซื้อไฟฟ้านั้น ผู้ซื้ออาจประสงค์จะซื้อไฟฟ้าที่ผลิตจากเชื้อเพลิงฟอสซิลมากกว่าและในราคาแพงกว่าได้ เนื่องจากไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าประเภทนี้มีความแน่นอนที่จะสั่งได้ (เพราะสั่งให้เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าได้ตลอด) ผู้ซื้อไฟฟ้าอาจจะซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้ากลุ่มเชื้อเพลิงฟอสซิลเพื่อให้ไฟฟ้าในระบบโครงข่ายไฟฟ้ามีปริมาณเพียงพอและรักษาความมั่นคงของระบบโครงข่ายไฟฟ้า

ในขณะที่ผู้ซื้อไม่ได้รับ “ความแน่นอน” ในการสั่งให้มีการผลิตและปริมาณไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ เพราะผู้ผลิตย่อมไม่อาจบังคับให้มีแสงอาทิตย์ได้ตามเวลาที่ถูกสั่งให้ผลิต เมื่อผู้ซื้อไม่แน่ใจว่าตนจะได้ “ของ” ที่มีการซื้อขายหรือไม่ ก็อาจประสงค์จะซื้อสินค้าที่ผลิตได้ในลักษณะนี้ในราคาที่ต่ำกว่าหรือมีข้อตกลงการซื้อขายที่เป็นคุณกับผู้ขายน้อยกว่าผู้ขายอีกประเภทที่สามารถส่งของตามปริมาณและตามเวลาที่สั่งได้อย่างแน่นอน

ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่าในทางเทคนิคผู้ผลิตไฟฟ้าจากใช้ระบบกักเก็บพลังงานเพื่อกักเก็บไฟฟ้าที่ผลิตไฟฟ้าให้ได้มากที่สุด (Capture When Possible) และจ่ายไฟฟ้าจากระบบกักเก็บเมื่อได้รับคำสั่งให้จ่ายไฟฟ้าจากผู้ซื้อ ณ เวลาและในปริมาณที่ผู้ซื้อต้องการ อย่างไรก็ตาม การใช้ระบบกักเก็บพลังงานนั้นย่อมส่งผลให้ต้นทุนของโครงการมีจำนวนสูงขึ้น

การเปลี่ยนของสภาพภูมิอากาศกับการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์

คำถามมีอยู่ว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศนั้นส่งผลต่อปริมาณแสงอาทิตย์และจะส่งผลกระทบต่อปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้จากระบบการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์หรือไม่? คำตอบคือ “มีผล” Sonia Jerez และคณะได้เผยแพร่ผลการศึกษาในปี ค.ศ. 2015 แสดงว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีผลกระทบต่อพลังงานไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ (PV) ในยุโรปโดยใช้ชุดการคาดการณ์สภาพภูมิอากาศที่มีความละเอียดสูงร่วมกับโมเดลการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ ปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้จากแผงโซลาร์นั้นจะมีการเปลี่ยนแปลง (Alteration) อย่างมีนัยสำคัญเมื่อสิ้นศตวรรษโดยเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโดยการเปลี่ยนแปลงจะอยู่ในช่วงตั้งแต่ -14% ถึง +2% ในประเทศยุโรปทางตอนเหนือ แต่ประเทศที่อยู่ทางตอนใต้ของทวีปยุโรปอาจจะได้รับผลดีจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (โปรดดู Sonia Jerez et al.: ‘The impact of climate change on photovoltaic power generation in Europe’ (2015))

ในปี ค.ศ. 2020 Jun Yin และคณะได้เผยแพร่ผลการศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบจากความผันผวนไม่แน่นอนของแสงอาทิตย์ต่อการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ ปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้นั้นมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับรังสีของแสงและปัจจัยอื่นที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพของโซลาร์เซลล์และการทำงานของผิวหน้าของแผงโซลาร์ และการถูกเงาของต้นไม้บดบังล้วนส่งผลต่อปริมาณการผลิตไฟฟ้าจากแผงโซลาร์ได้ อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเหล่านี้ควบคุมได้จากการบำรุงรักษาที่ทำอย่างเป็นประจำสม่ำเสมอ (โปรดดู Jun Yin: ‘Impacts of solar intermittency on future photovoltaic reliability’ (2020))

“อุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น” นั้นส่งผลกระทบต่อการผลิตไฟฟ้า โดย Jun Yin และคณะพบว่าอุณหภูมินั้นเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อประสิทธิภาพของระบบ (Conversion Efficiency) และส่งผลต่อการผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ที่มีอุณภูมิสูงอย่างมีนัยสำคัญ โดยการผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ที่มีอุณภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นนั้นจะส่งผลให้ได้ปริมาณไฟฟ้าลดลง 0.45% (ทุก ๆ องศาที่เพิ่มสูงขึ้น) (โปรดดู Jun Yin: ‘Impacts of solar intermittency on future photovoltaic reliability’ (2020))

การบริหารจัดการความเสี่ยงและการสนับสนุนทางการเงิน

บริษัท Allianz ได้เผยแพร่บทความชื่อว่า “Top Five Risks of Solar Energy” ในวันที่ 27 กันยายน ค.ศ. 2023 แสดงบทวิเคราะห์ถึงความเสี่ยงที่โครงการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ต้องเผชิญโดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยระบุถึงความเสี่ยงประการแรกว่าในสภาวะอากาศที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างสุดขั้ว (Extreme Weather) ตัวแผงโซลาร์อาจถูกลมพัด ผลกระทบจากค่าฝุ่น PM 2.5 หรือได้รับความเสียหายจากลมพายุ หรือถูกฟ้าผ่า (โปรดดู Allianz: ‘Top Five Risks of Solar Energy) ในประเทศไทยนั้น ปัจจัยที่มีผลต่อการผลิตกระแสไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์มักจะได้แก่ปัญหาเมฆฝน และพายุ เนื่องจากการผลิตไฟฟ้าต้องใช้แสงอาทิตย์เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า โดยจะมีประสิทธิภาพน้อยลงเมื่อมีเมฆฝน และพายุ เช่นพายุลูกเห็บ

ธนาคารทีทีบีธนชาตินั้นก็ได้ให้ความสำคัญกับการให้การสนับสนุนทางการเงินแก่โครงการผลิตพลังงานสะอาด โดยธนาคารได้ให้การสนับสนุนโครงการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมโดยได้อออก Green Bond มูลค่า 60 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐในปี ค.ศ. 2018 และ Blue Bond มูลค่า 50 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐในปี ค.ศ. 2020 ในการวิเคราะห์ความเสี่ยงเพื่อให้การสนับสนุนทางการเงินแก่โครงการนั้น ธนาคารจะวิเคราะห์ถึงความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate-Related Risk) ซึ่งจะเป็นการวิเคราะห์ทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ (โปรดดู ‘TMBThanachart Bank’s Climate Strategy’)

ความเสี่ยงจากวิกฤติภูมิอากาศกับความเป็นไปได้ทางการเงินของโครงการ

ในการให้สินเชื่อแก่โครงการผลิตไฟฟ้านั้นในรูปแบบสินเชื่อโครงการ (Project Finance) สถาบันการเงินจะพิจารณาศักยภาพในการคืนเงินทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยจากรายรับโครงการ กล่าวคือ รายรับของโครงการนั้น “สามารถหล่อเลี้ยง”การคืนเงินของผู้กู้ได้หรือไม่ โดยการประเมินปัจจัยหลายประการซึ่งรวมไปถึงการประเมินถึงความสามารถในการชำระภาระผูกพัน (Debt Service Coverage Ratio หรือ “DSCR”) อีกด้วย DSCR สามารถคำนวณได้จากกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย หารด้วย หนี้สินระยะสั้นที่มีภาระดอกเบี้ยและหนี้สินระยะยาวที่มีภาระดอกเบี้ยที่ครบกำหนดภายใน 1 ปี (โปรดดู SEC: ‘วิธีการคำนวณอัตราส่วนทางการเงิน (Key Financial Ratio)’)

จะเห็นได้ว่า “รายรับโครงการ” นั้นเป็นปัจจัยสำคัญซึ่งเรียกได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นในการคำนวณ อัตราค่าไฟฟ้าที่ผู้ผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ตามต้นทุนที่แท้จริงของแต่ละโครงการ เช่น ต้นทุนในการจัดหาที่ดิน ค่าใช้จ่ายในการจัดหาและติดตั้งแผงโซลาร์ ค่าใช้จ่ายสำหรับระบบกักเก็บพลังงาน (ถ้ามี) ค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาแผงโซลาร์ การสร้างจุดเชื่อมต่อเพื่อส่งไฟฟ้าที่ผลิตได้ให้กับผู้ซื้อนั้นจึงต้องมีอยู่ในระดับที่เหมาะสม

ภาระค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ย่อมมีจำนวนสูงขึ้นหากผู้ประกอบการต้องเสียเงินมากขึ้นในการป้องกันมิให้แผงโซลาร์ถูกสภาพภูมิอากาศที่อาจเปลี่ยนแปลงสุดขั้วทำให้เสียหาย ผู้ประกอบการอาจจะต้องลงทุนมากขึ้นในการล้างความสะอาดแผงโซลาร์เพื่อป้องกันมิให้มีฝุ่นมาจับจนมิอาจผลิตไฟฟ้าอย่างเต็มประสิทธิภาพ ค่าใช้จ่ายเหล่านี้อาจเกิดขึ้นและมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

ธนาคารในฐานะผู้พิจารณาสินเชื่อก็จะต้องพิจารณาถึงปัจจัยความเสี่ยงเหล่านี้ในการพิจารณาศักยภาพการชำระหนี้ของผู้ประกอบกิจการที่ประสงค์จะขอรับการสนับสนุนทางการเงินผ่านสินเชื่อโครงการ ค่าเสี่ยงจากการเปลี่ยนของสภาพภูมิอากาศที่เพิ่มมากขึ้นส่งผลให้ต้นทุนการประกอบการสูงขึ้น และส่งผลต่อ DSCR อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะเมื่อผู้ประกอบการต้องเสียเงินมากขึ้นก็ย่อมมีเงินสำรองที่จะนำมาชำระสินเชื่อได้น้อยลง

โดยสรุป การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศนั้นส่งผลต่อปริมาณแสงอาทิตย์และจะส่งผลกระทบต่อปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้จากระบบการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ ซึ่งมิอาจผลิตไฟฟ้าได้ตลอดทั้งวันและทั้งคืนดังเช่นการผลิตไฟฟาจากโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงฟอสซิล ต้นทุนในการประกอบกิจการยังอาจเพิ่มสูงขึ้นจากการที่ผู้ประกอบการต้องบริหารจัดการความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น การที่แผงโซลาร์จะเสียหายหรือไม่อาจทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนอย่างสุดขั้ว แม้ปัจจัยเหล่านี้อาจจะยังไม่ได้เกิดขึ้น ณ เวลานี้ แต่การศึกษาทางวิชาการ ตลอดจนมุมมองของบริษัทประกันภัย และธนาคารพาณิชย์นั้นแสดงให้เห็นว่าความเสี่ยงเหล่านี้มีอยู่จริงและ ความเป็นไปได้ที่จะเกิดนี้ส่งผลต่อความเป็นไปได้ทางการเงินของโครงการโดยเฉพาะอย่างยิ่งการพิจารณาเพื่อให้สินเชื่อแก่โครงการผลิตไฟฟ้าจากแผงโซลาร์

ผศ.ดร.ปิติ เอี่ยมจำรูญลาภ ผู้อำนวยการหลักสูตร LL.M. (Business Law)

หลักสูตรนานาชาติ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 ธ.ค. 66)

Tags: , , ,
Back to Top