In Focus: จับตาตลาดหุ้นญี่ปุ่น หลังทะลุหลัก 40,000 จุดเป็นครั้งแรก จะได้ไปต่อหรือหยุดเพียงเท่านี้

ตลาดหุ้นญี่ปุ่นได้กลายเป็นที่จับตาไปทั่วโลก หลังทำสถิติใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้รับแรงหนุนจากผลประกอบการอันสดใสของบริษัทหลายแห่ง ประกอบกับมาตรการต่าง ๆ ที่เอื้ออำนวยต่อนักลงทุน โดยเมื่อวันจันทร์ที่ 4 มี.ค. ที่ผ่านมา ดัชนีนิกเกอิตลาดหุ้นโตเกียวปิดตลาดที่ระดับ 40,109.23 จุด ทะลุระดับ 40,000 จุดได้เป็นครั้งแรก หลังจากที่เพิ่งโค่นสถิติเดิมเมื่อปี 2532 ไปได้ไม่นาน

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวส่งผลให้ผู้เชี่ยวชาญบางส่วนมองว่า ตลาดหุ้นญี่ปุ่นยังอยู่ในช่วงขาขึ้นและไปต่อได้อีก แต่ก็มีอีกส่วนหนึ่งที่มองว่าตลาดหุ้นญี่ปุ่นมีแนวโน้มที่จะแผ่วลง เนื่องจากเศรษฐกิจญี่ปุ่นเองก็ไม่ได้ส่งสัญญาณสดใสมากนัก

นับตั้งแต่วันที่ 22 ก.พ. จนถึงวันนี้ ดัชนีนิกเกอิไต่ระดับขึ้นมาแล้วเกือบ 1,000 จุดเหนือระดับสูงสุดที่เคยทำไว้เมื่อปี 2532 โดยดึงดูดเม็ดเงินลงทุนทั้งในและต่างประเทศด้วยอานิสงส์ของผลประกอบการของบริษัทที่แข็งแกร่ง อัตราดอกเบี้ยต่ำ และความคาดหวังว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะหลุดพ้นจากภาวะเงินฝืด

นักวิเคราะห์กล่าวว่า นักลงทุนต่างชาติยังคงซื้อหุ้นญี่ปุ่นเนื่องจากมองว่าถูกกว่าตลาดหุ้นในประเทศอื่น ๆ แต่ขณะเดียวกันโบรกเกอร์หลายแห่งกล่าวว่า แม้ระดับ 40,000 จุดจะสะท้อนถึงผลการดำเนินงานของบริษัทญี่ปุ่น แต่เมื่อดูจากความเร็วในการปรับตัวขึ้นของนิกเกอิแล้ว ก็ไม่ชัดเจนว่าดัชนีจะสามารถรักษาโมเมนตัมขาขึ้นได้ในช่วงนี้หรือไม่

อนึ่ง ตลาดหุ้นญี่ปุ่นเข้าสู่ช่วงซบเซาเป็นเวลานานหลังจากนิกเกอิปิดบวกที่ระดับออลไทม์ไฮเดิมที่ 38,915.87 จุดในช่วงสิ้นปี 2532 ซึ่งเป็นช่วงที่ญี่ปุ่นเผชิญภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่

หลังฟองสบู่แตกในช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ 1990 นิกเกอิก็ร่วงสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 7,054.98 จุดในเดือนมี.ค. 2552 หลังเกิดวิกฤตการเงินทั่วโลก อันมีชนวนเหตุมาจากการล้มละลายของบริษัทเลห์แมน บราเธอร์ส ของสหรัฐ

ต่อมา ตลาดหุ้นญี่ปุ่นก็เข้าสู่ช่วงขาขึ้นโดยได้แรงหนุนจากนโยบายผ่อนคลายทางการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ภายใต้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบ “อาเบะโนมิกส์” ของอดีตนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ผู้ล่วงลับ

*มั่นใจสิ้นปีหน้าทะลุหลัก 55,000 จุด

ผู้เชี่ยวชาญจำนวนหนึ่งมองว่า การที่ดัชนีนิกเกอิทะลุระดับ 40,000 จุดได้นั้นเป็นเพียงจุดเริ่มต้นใหม่เท่านั้น และยังมีโอกาสไปต่อได้อีกไกล หนึ่งในนั้นคือ เจสเปอร์ โคลล์ ผู้อำนวยการของบริษัทผู้ให้บริการทางการเงินอย่างโมเน็กซ์ กรุ๊ป (Monex Group) ซึ่งเป็นคนที่คาดการณ์มาตั้งแต่เดือนก.ค.ปีที่แล้วว่า ดัชนีนิกเกอิจะทะลุระดับ 40,000 จุดได้จริง

คุณเจสเปอร์เปิดเผยกับสำนักข่าวซีเอ็นบีซีว่า ดัชนีนิกเกอิตลาดหุ้นโตเกียวยังมีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับปัจจุบันได้อีก 37% แตะหลัก 55,000 จุดได้ภายในสิ้นปี 2568

คุณเจสเปอร์เคยให้เหตุผลที่ทำให้เขามีมุมมองบวกต่อตลาดหุ้นญี่ปุ่นว่าเป็นเพราะภาคเอกชนของญี่ปุ่นเองล้วน ๆ โดยกล่าวว่า “ญี่ปุ่นมีจุดแข็งจากล่างขึ้นบนโดยอยู่ที่ภาคเอกชนนั่นเอง” และเสริมว่า “บริษัทญี่ปุ่นมีศักยภาพในการทำกำไรแข็งแกร่ง” โดยกลยุทธ์การบริหารงานแบบญี่ปุ่น (kaizen) ได้ทำให้องค์กรญี่ปุ่นกลายเป็นมหาอำนาจในการสร้างมูลค่าเงินทุนไปแล้ว

ผู้เชี่ยวชาญรายนี้มองว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับมหภาค และการบริหารจัดการวิกฤติแบบ “บนลงล่าง” เป็นเรื่องล้าสมัยไปแล้ว โดยนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) และนโยบายทุนนิยมที่นายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ ได้ประกาศไปเมื่อปีที่แล้ว ไม่น่าจะมีอิทธิพลต่อทิศทางของตลาดหุ้นญี่ปุ่นได้เท่ากับผลงานภายในภาคเอกชนเอง

นอกจากนี้ คุณเจสเปอร์ยังเปรียบเทียบแนวโน้มกำไรต่อหุ้น (EPS) ของบริษัทในตลาดหุ้นญี่ปุ่นเทียบกับบริษัทในตลาดหุ้นนิวยอร์กด้วย ซึ่งระหว่างปี 2538 ถึงปี 2565 นั้น บริษัทในดัชนี TOPIX ตลาดหุ้นโตเกียวมีกำไรต่อหุ้นเพิ่มขึ้นถึง 11 เท่า ขณะที่บริษัทในดัชนี S&P 500 ตลาดหุ้นสหรัฐมีกำไรต่อหุ้นเพิ่มขึ้นเพียง 6 เท่าในช่วงเวลาเดียวกัน ทำให้ผู้เชี่ยวชาญรายนี้เชื่อมั่นในศักยภาพของภาคเอกชนญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก

ด้านคุณคาซึโอะ มอมมะ นักเศรษฐศาสตร์จากสถาบันวิจัยมิซูโฮ (Mizuho Research Institute) คาดการณ์ว่า ดัชนีนิกเกอิมีโอกาสแตะหลัก 50,000 จุดในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า โดยบริษัทไฮเทคมีแนวโน้มสดใสมากที่สุด

คุณคาซึโอะมีมุมมองในทางเดียวกับคุณเจสเปอร์ว่า ภาคเอกชนเป็นปัจจัยหลักที่ขับเคลื่อนตลาดหุ้นญี่ปุ่น แต่ขณะเดียวกันก็เน้นย้ำว่า ดัชนีหุ้นไม่ได้สะท้อนให้เห็นเศรษฐกิจในภาพรวมได้เสมอไป เพราะเศรษฐกิจในภาพรวมมีภาคครัวเรือนและภาคเอสเอ็มอีรวมอยู่ด้วย

นอกจากนี้ การอ่อนค่าของเงินเยน ประกอบกับการที่นักลงทุนต้องการลดการลงทุนในจีน ก็ได้เข้ามาหนุนหุ้นบริษัทญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน โดยศาสตราจารย์ซายูริ ชิราอิ จากมหาวิทยาลัยเคโอ และอดีตสมาชิกคณะกรรมการธนาคารกลางญี่ปุ่น กล่าวว่า “การที่เศรษฐกิจจีนเติบโตน้อยและนักลงทุนเริ่มเลี่ยงการลงทุนในจีน ก็ทำให้นักลงทุนต่างชาติสนใจลงทุนในหุ้นบริษัทญี่ปุ่นมากขึ้นด้วย” แต่ขณะนี้ก็ยังเร็วเกินไปที่จะตัดสินใจให้แน่ชัดว่า แนวโน้มขาขึ้นเช่นนี้จะยั่งยืนหรือไม่ เพราะท้ายที่สุดแล้วเศรษฐกิจญี่ปุ่นในภาพรวมก็ยังคงอ่อนแอ

*ช้าก่อนอย่าเพิ่งรีบดีใจ ระวังปัญหาเศรษฐกิจญี่ปุ่น จับตาปมการค้าโลก

แม้คุณคาซึโอะมองว่าอัตรากำไรของบริษัทญี่ปุ่นในปีที่ผ่านมานั้นปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และมองว่าดัชนีนิกเกอิมีโอกาสแตะหลัก 50,000 จุด แต่ขณะเดียวกันนักเศรษฐศาสตร์จากสถาบันวิจัยมิซูโฮรายนี้คาดว่า ดัชนีนิกเกอิน่าจะเผชิญกับอุปสรรคสำคัญจนทำให้เคลื่อนไหวขลุกขลักอยู่บ้าง ไม่ได้ราบรื่นเป็นเส้นตรงอย่างกับที่หลายฝ่ายคาดหวังกันเอาไว้ และตลาดหุ้นน่าจะมีการปรับฐานในอีกไม่กี่สัปดาห์หรือไม่กี่เดือนข้างหน้า

คุณคาซึโอะ กล่าวว่า “ผมคงไม่รู้สึกประหลาดใจเท่าไรถ้าดัชนีนิกเกอิขยับลงไปแตะระดับ 36,000-37,000 จุดในราว ๆ กลางปี” และหากเป็นเช่นนั้นแล้ว ดัชนีนิกเกอิน่าจะฟื้นตัวกลับไปแตะระดับ 40,000 จุดได้ภายในปลายปีนี้

นอกจากนี้ ยังมีอีกหลาย ๆ ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นญี่ปุ่นได้ ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นภาษีในญี่ปุ่น โอกาสในการเกิดสงครามการค้าในระดับโลก

สำหรับในญี่ปุ่นนั้น คุณเจสเปอร์ซึ่งเป็นผู้ที่คาดว่าดัชนีนิกเกอิมีโอกาสแตะหลัก 55,000 จุดได้นั้น มองว่าญี่ปุ่นอาจต้องปรับขึ้นภาษีในอีกไม่กี่ปีนี้ เพราะนายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ ได้ประกาศเพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐเอาไว้สูงมาก แต่ไม่เคยให้ข้อมูลชัดเจนว่าจะเอางบประมาณจากส่วนใดมาสนับสนุนนโยบายเหล่านี้ และเมื่อว่ากันตามอดีตที่ผ่านมา การเพิ่มภาษีล้วนเป็นปัจจัยกดดันหุ้นของบริษัทญี่ปุ่น

ส่วนปัจจัยภายนอกนั้น คุณเจสเปอร์มีมุมมองว่า หากเกิดสถานการณ์ที่ทำให้ทางการจีนออกมาลดค่าเงินหยวนลงประมาณ 20-30% แล้ว ศักยภาพทางการแข่งขันของญี่ปุ่นก็จะได้รับผลกระทบอย่างใหญ่หลวง นอกจากนี้ คุณเจสเปอร์กล่าวว่า “หากเกิดสงครามการค้าในระดับโลกแล้ว ญี่ปุ่นจะได้รับผลกระทบไปด้วย” ซึ่งต้องคอยจับตาว่า สหรัฐและยุโรปจะใช้มาตรการทางภาษีใด ๆ กับสินค้าจีนบ้าง

ด้านศาสตราจารย์ซายูริก็เห็นด้วยเช่นกันว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นยังคงอ่อนแอ ไม่มีปัจจัยขับเคลื่อนแข็งแกร่งมากพอ เพราะนอกเหนือจากปัญหาความสามารถในการผลิตซบเซาแล้ว ญี่ปุ่นยังมีอุปสรรคจากสังคมผู้สูงอายุด้วย นอกจากนี้ การที่ดัชนีนิกเกอิปรับตัวเพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งเป็นเพราะได้รับแรงหนุนจากเศรษฐกิจสหรัฐด้วย ซึ่งนักลงทุนควรเผื่อใจไว้ด้วยว่าราคาหุ้นพุ่งแรงได้ ก็ร่วงหนักได้เช่นกัน

ขณะเดียวกัน อามีร์ อันวาร์ซาเดห์ นักกลยุทธ์ด้านตลาดทุนญี่ปุ่นจากบริษัทอะซิมเมทริก แอดไวเซอร์ส (Asymmetric Advisors) ระบุว่า หากเงินเยนแข็งค่าขึ้นแตะระดับ 140 เยนต่อดอลลาร์แล้ว ท้ายที่สุดนักลงทุนก็จะเทขายหุ้นกลุ่มส่งออก จนกดดันให้ดัชนีนิกเกอิปรับตัวลง และหากเศรษฐกิจจีนปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจนแล้ว ก็อาจทำให้นักลงทุนหอบเงินจากญี่ปุ่นกลับไปจีนได้เหมือนกับตอนที่หอบเงินจากจีนมาให้ญี่ปุ่นเช่นกัน

ฟิลลิป โคลมาร์ นักกลยุทธ์และหุ้นส่วนผู้จัดการของบริษัทวิจัย เอ็มอาร์บี พาร์ทเนอร์ส (MRB Partners) ให้ข้อคิดเห็นอีกแง่ว่า ดัชนีนิกเกอิเป็นเกณฑ์ชี้วัดที่ยังไม่สมบูรณ์แบบ เพราะถ่วงน้ำหนักโดยใช้ราคาหุ้น ณ ปัจจุบัน (price-weighted) เมื่อเทียบกับดัชนี S&P 500 ของสหรัฐที่ถ่วงน้ำหนักด้วยมูลค่าตลาด (capitalization-weighted) ทำให้การเพิ่มขึ้นของดัชนีนิกเกอิเป็นเรื่องของเงินเฟ้อเงินฝืดมากกว่า

ท้ายที่สุดแล้ว แม้ตลาดหุ้นญี่ปุ่นจะทะลุระดับ 40,000 จุด จนโค่นสถิติเก่าเมื่อกว่า 30 ปีที่ผ่านมาได้สำเร็จ แต่ก็ยังมีความกังวลว่าแนวโน้มขาขึ้นเช่นนี้จะยั่งยืนหรือไม่ เพราะญี่ปุ่นยังคงมีความไม่แน่นอนรออยู่อีกมาก รวมถึงอาจได้รับผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ทั้งจากในและนอกประเทศ อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากยังคงมองในแง่บวกว่า ตลาดหุ้นญี่ปุ่นยังไปต่อได้อีกไกล โดยมีปัจจัยหนุนหลัก ๆ จากความแข็งแกร่งของภาคเอกชนญี่ปุ่น ซึ่งมีศักยภาพในการทำกำไรค่อนข้างมาก แต่จะก้าวไปข้างหน้าได้อย่างรวดเร็วหรือช้าแต่ชัวร์ ก็เป็นเรื่องที่ต้องจับตากันอย่างใกล้ชิดต่อไป

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 มี.ค. 67)

Tags: , , , ,
Back to Top