ZoomIn: ผู้ผลิตไหวมั้ย! สินค้าจีนราคาถูกทะลักเข้าไทย “รับมือ” หรือ “แก้เกม”

สินค้าจีนทะลักเข้าไทย ไม่ใช่ปัญหาใหม่ แต่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมานาน และยากที่จะควบคุมได้ในยุคแห่งโลกของตลาดการค้าเสรี และกระแสช้อปปิ้งออนไลน์แบบไร้พรมแดน แม้บางธุรกิจอาจอ่วม เพราะสู้กับสินค้าดัมพ์ราคาไม่ได้ แม้แต่กางเกงช้าง soft Power ของไทยยังผลิตจากจีน เพื่อนำเข้ามาขายในราคาถูกกว่าเท่าตัว แนะผู้ประกอบการอย่าถอดใจ ให้ฮึดสู้ด้วยมาตรฐานคุณภาพ พร้อมฝากข้อเสนอถึงภาครัฐร่วมสร้างกติกา-เครื่องมือ เป็นเกราะให้ผู้ผลิตไทยได้ลงเล่นในเวทีแข่งขันที่เป็นธรรม

นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวถึงปัญหาสินค้าจีนทะลักเข้าไทยว่า สถานการณ์ดังกล่าวไม่ได้เพิ่งมาเป็นปัญหาในช่วง 1-2 ปีนี้ แต่เป็นปัญหาที่มีมานานแล้ว หากย้อนดูข้อมูลการค้าจะพบว่าไทยขาดดุลการค้ากับจีนมากขึ้น โดยปี 2553 ไทยขาดดุลการค้าจีน ประมาณ 96,700 ล้านบาท แต่วันนี้ ไทยขาดดุลการค้ากับจีนสูงถึง 1.27 ล้านล้านบาท พุ่งขึ้นเป็นพันเปอร์เซ็นต์

“ที่ผ่านมา เราทำอะไรกันอยู่ ทำไมถึงปล่อยให้เป็นแบบนี้ แต่แทนที่เราจะมานั่งโทษกัน เราควรมาคิดกันดีกว่า ว่าจะเอาอย่างไรกับเศรษฐกิจการค้าไทย-จีนที่เกิดขึ้น ทำอย่างไรที่จะไม่ให้เราเสียเปรียบ และเราไม่เอาเปรียบจีนด้วย นี่เป็นสิ่งสำคัญ” ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ระบุ

ทั้งนี้ สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย มีข้อเสนอแนะ 6 ข้อไปยังภาครัฐ เพื่อแก้ปัญหาการทะลักเข้ามาของสินค้าจีน ดังนี้

1. กรณีการทำข้อตกลงทางการค้ากับจีน ควรทบทวนอัตราภาษีนำเข้าในรายกลุ่มสินค้าที่ไทยเสียเปรียบ และในการให้สิทธิส่งเสริมการลงทุนจากจีนนั้น ต้องพิจารณากิจการที่สามารถเป็นประโยชน์กับเศรษฐกิจของไทยด้วย

2. ทบทวนการยกเว้นการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ในสินค้านำเข้าที่มีมูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาท เพราะมาตรการนี้ทำให้เป็นช่องที่สินค้านำเข้าราคาถูกจากจีนจะทะลักเข้าไทย และสร้างความไม่เป็นธรรมต่อผู้ผลิตในประเทศที่ต้องเสียภาษีตั้งแต่บาทแรก

3. การส่งเสริมธุรกิจ และเกษตรกรไทย ให้ลดนำเข้าสินค้าจากจีน หันมาใช้เศรษฐกิจในรูปแบบพึ่งพาตนเอง เป็น local economy ผลิตเอง ใช้เอง และส่งออกส่วนเกิน รวมทั้งการเจรจาเชิงรุกกับจีนในการนำสินค้า-บริการของไทย เข้าไปเจาะตลาดในจีนให้เพิ่มมากขึ้น

4. ภาครัฐควรสนับสนุนเอกชนเรื่องการจัดทำยุทธศาสตร์ตลาดสินค้าออนไลน์ (E-Commerce) เพื่อเป็นอีกช่องทางให้สินค้าไทยไปเจาะตลาดจีนผ่านช่องทางออนไลน์ได้

5. จัดทำมาตรฐานสินค้า และเข้มงวดเรื่องการทรัพย์สินทางปัญญาในสินค้าที่นำเข้าจากจีน หากสินค้าที่เข้ามาไม่ได้มาตรฐาน ต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด

6. การจัดตั้งองค์กร Public Private Partnership (PPP) ซึ่งจะเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐ และภาคเอกชน ในการรวมกันซื้อขายสินค้าเกษตร สินค้าโอทอป และสินค้าจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอี

ด้าน KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงิน เกียรตินาคินภัทร วิเคราะห์ว่า ไทยนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยสัดส่วนการนำเข้าสินค้าจีน เพิ่มขึ้นจาก 15% มาเป็น 25% ของมูลค่าการนำเข้าสินค้าทั้งหมดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยสินค้าที่ไทยนำเข้าจากจีนระยะหลัง ไม่ใช่เพียงแค่สินค้าที่นำเข้ามาเพื่อการผลิตใน supply chain เท่านั้น แต่เริ่มเป็นสินค้าอุปโภคบริโภคที่เข้ามาทดแทนสินค้าที่ผลิตในประเทศมากขึ้น

สาเหตุที่สินค้าจีนเริ่มทะลักเข้าไทยมากขึ้นในระยะหลัง เนื่องจากรัฐบาลจีนสนับสนุนให้ภาคการผลิตเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ หลังจากเศรษฐกิจจีนซบเซาจากผลกระทบปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ ทำให้รัฐบาลอัดฉีดสินเชื่อผ่านธนาคารพาณิชย์ เพื่อกระตุ้นการขยายธุรกิจ แต่รายได้ในครัวเรือนของจีน ยังถูกฉุดรั้งจากภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา จึงทำให้กำลังการผลิตในประเทศ ขยายตัวเกินกว่าอุปสงค์ในประเทศ ส่งผลให้จีนต้องระบายกำลังการผลิตส่วนเกินออกสู่ตลาดโลก รวมถึงไทย

ดังนั้นผลกระทบต่อไทย คือ ภาคการผลิตไทยได้รับแรงกดดันต่อเนื่อง ทั้งสินค้าในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ เหล็ก รถยนต์ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์ ยางรถยนต์ ส่วนหนึ่งจากการทุ่มตลาดของจีน ทำให้สินค้าไทยแข่งขันได้ยากในด้านราคา ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้ากับจีนในสินค้ากลุ่มนี้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หากผู้ประกอบการไทยสูญเสียความสามารถทางการแข่งขันกับจีนอย่างต่อเนื่อง สุดท้ายแล้วอาจนำไปสู่การปิดโรงงาน และเลิกจ้างในอุตสาหกรรมเหล่านี้ได้

นายจีรพันธ์ อัศวะธนกุล รองประธานกรรมการ หอการค้าไทย ยอมรับว่าการควบคุมไม่ให้สินค้าจากต่างประเทศทะลักเข้ามาอาจจะทำได้ไม่ง่ายนัก ทั้งนี้ ไม่อยากให้เจาะจงว่าเป็นเฉพาะแค่สินค้าจีนเท่านั้น เพราะปัจจุบันตลาดการค้าเปิดกว้าง แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงและควรให้ความสำคัญมากกว่า คือ การตรวจสอบมาตรฐานคุณภาพสินค้า เพราะมักพบว่าสินค้าที่เข้ามาเป็นสินค้าด้อยคุณภาพ และจำหน่ายในราคาถูกกว่าสินค้าชนิดเดียวกันที่ผลิตได้ในประเทศ ซึ่งภาคเอกชนได้เคยเรียกร้องไปยังกระทรวงอุตสาหกรรมแล้ว เพื่อขอให้ช่วยควบคุมคุณภาพสินค้าให้ได้มาตรฐาน

โดยปัจจุบัน สินค้าจากจีนที่เข้ามาจำหน่ายในไทย ส่วนมากจะเป็นสินค้ากลุ่มอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น สายชาร์จโทรศัพท์มือถือ พาวเวอร์แบงค์ ลำโพงบลูทูธ และเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ภายในบ้าน เช่น พัดลม เครื่องดูดฝุ่น หม้อ-กระทะไฟฟ้า ตลอดจนสินค้าที่เกี่ยวกับแฟชั่น เช่น เสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า ไม่เว้นแม้แต่กางเกงช้างที่เป็น soft Power ของไทย ยังมีการผลิตจากจีนเพื่อนำเข้ามาขายโดยที่มีราคาถูกกว่าเท่าตัว ซึ่งสินค้าเหล่านี้ ล้วนแต่เป็นสินค้าที่ผู้บริโภคใช้โดยตรง ไม่ใช่สินค้าที่นำเข้ามาเพื่อไปเป็นส่วนประกอบในการผลิต

ขณะเดียวกัน ถ้าเป็นประเภทสินค้าที่นำเข้ามาแล้วมีราคาถูก ซึ่งสามารถใช้ต่อยอดการผลิต หรือเป็นส่วนประกอบในการผลิตสินค้าอื่นๆ ได้ ก็นับว่าเป็นเรื่องดีที่ทำให้ราคาต้นทุนวัตถุดิบต่ำลง เช่น ปุ๋ยเคมี ซึ่งช่วยให้เกษตรกรมีต้นทุนการเพาะปลูกที่ต่ำลงด้วย ดังนั้นจึงมองว่าการที่สินค้าจากจีนเข้ามานั้น คงไม่ใช่ว่าจะส่งผลกระทบไปทุกกลุ่มอุตสาหกรรม

“เราไม่อยากเจาะจง เพราะจีนก็ซื้อของเราเยอะ ต้องมองทั้งภาพรวมเศรษฐกิจ เพราะมีทั้งส่งออก-นำเข้า ต้องต่อสู้ในคุณภาพเดียวกัน คงเลี่ยงไม่ได้ เพราะเป็นตลาดเปิด คงไม่แฟร์ถ้าจะห้าม แต่หากมองในแง่ดี ก็จะเป็นต้นทุนที่ต่ำลง หากเราสามารถเอาสินค้าที่นำเข้ามาไปใช้ทำอย่างอื่น (เป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าอื่นๆ) แต่เราเองก็ต้องปรับตัวด้วย คงเลี่ยงยาก…แต่สินค้าที่ตรงถึงมือผู้บริโภคเลย เช่น เครื่องไฟฟ้า อาจทำให้ผู้ผลิตไทยเหนื่อย ไม่สามารถแข่งขันได้ รวมทั้งเสื้อผ้า ที่ผลิตได้ในต้นทุนที่ต่ำกว่า เพราะค่าแรงต่ำกว่า” นายจีรพันธ์ กล่าว

แนวโน้มสินค้าจีนอาจจะเข้ามาในไทยมากขึ้น เนื่องจากจีนมีกำลังการผลิตสูง มี economy of scale ท่ามกลางตลาดการค้าโลกที่เป็นตลาดเปิด ต้องแข่งขันกันสูง ดังนั้นผู้ผลิตของไทยจำเป็นต้องเพิ่มศักยภาพ และแข่งขันกันในเรื่องของคุณภาพมากกว่า

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 มี.ค. 67)

Tags: , , , ,
Back to Top