International SOS แนะองค์กรลงทุนส่งเสริมสุขภาพพนักงานรับ World Health Day

อินเตอร์เนชั่นแนล เอสโอเอส (International SOS) บริษัทผู้ให้บริการด้านสุขภาพและความมั่นคงปลอดภัย ส่งเสริมให้องค์กรต่าง ๆ ตระหนักถึงสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน รวมทั้งส่งเสริมวัฒนธรรมด้านสุขภาพภายในองค์กร เนื่องในวันอนามัยโลก (World Health Day) ซึ่งตรงกับวันที่ 7 เม.ย. และถือเป็นวันที่ช่วยเตือนให้ผู้ประกอบธุรกิจหันมาใส่ใจสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน

นพ.จามร เงินจารี ผู้อำนวยการด้านการแพทย์ บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล เอสโอเอส กล่าวว่า แนวคิดหลักของวันอนามัยโลกปีนี้ คือ “สุขภาพของฉันคือสิทธิ์ของฉัน” (My health, my right) โดยองค์กรต่าง ๆ สามารถใช้โอกาสนี้ส่งเสริมสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน ด้วยการสนับสนุนให้พนักงานดูแลสุขภาพของตนเองอย่างจริงจัง ในขณะที่วัฒนธรรมและสภาพแวดล้อมการทำงานที่ปลอดภัยและดีต่อสุขภาพก็มีความสำคัญเช่นเดียวกับการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ อากาศบริสุทธิ์ น้ำดื่มสะอาดปลอดภัย และอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ ทั้งนี้ ชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน การทำงานอยู่กับที่ และข้อจำกัดในการเข้าถึงอาหารที่ดีต่อสุขภาพ นับเป็นอุปสรรคในการสร้างอุปนิสัยเพื่อสุขภาพที่ดีของพนักงาน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยในที่ทำงานสามารถเพิ่มการมีส่วนร่วมและประสิทธิภาพของพนักงานได้ อีกทั้งยังช่วยลดปริมาณการขาดงาน และในท้ายที่สุดก็จะช่วยให้องค์กรมีความแข็งแกร่งขึ้นและประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น

เวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม (World Economic Forum: WEF) ประมาณการว่า ในแต่ละปี การสูญเสียความสามารถในการผลิตอันเนื่องมาจากสุขภาพที่ไม่สมบูรณ์ของพนักงานนั้น ทำให้นายจ้างทั่วโลกได้รับความเสียหายคิดเป็นมูลค่าถึง 5.3 แสนล้านดอลลาร์1 ยิ่งไปกว่านั้น ในแต่ละปียังมีรายงานอุบัติเหตุจากการทำงานและความเจ็บป่วยจากการทำงานหลายล้านครั้งทั่วโลก

ในขณะที่โปรแกรมการดูแลสุขภาพเชิงป้องกันจะช่วยลดผลกระทบเหล่านี้ได้ โดยรายงานผลตอบแทนจากการลงทุนเพื่อดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน (The Return on Prevention) ของมูลนิธิ อินเตอร์เนชั่นแนล เอสโอเอส (International SOS Foundation) ระบุว่า องค์กรต่าง ๆ สามารถคาดหวังผลตอบแทนที่ระดับ 2.53 ดอลลาร์ จากเงินลงทุนทุก 1 ดอลลาร์ที่ได้ลงทุนในโปรแกรมดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน นอกจากนี้ การส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงานยังช่วยเพิ่มศักยภาพขององค์กรในการดึงดูดบุคลากรที่มีความสามารถให้เข้ามาร่วมงานและอยู่กับองค์กรต่อไป

อินเตอร์เนชั่นแนล เอสโอเอส นำเสนอกลยุทธ์ 5 ข้อที่องค์กรสามารถนำไปใช้เพื่อยกระดับสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน ดังนี้

1.พัฒนาโปรแกรมส่งเสริมสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีอย่างครอบคลุม: จัดหาข้อมูลและทรัพยากรด้านสุขภาพที่จำเป็นให้แก่พนักงาน ซึ่งครอบคลุมถึงการตรวจคัดกรองสุขภาพ การประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อให้ความรู้ และการสนับสนุนทางด้านสุขภาพจิต

2.ปลูกฝังวัฒนธรรมการทำงานที่ดีต่อสุขภาพโดยให้ความสำคัญกับสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี: ส่งเสริมให้พนักงานพักเบรกจากการทำงานเป็นระยะ เปิดโอกาสให้พนักงานได้เคลื่อนไหวร่างกาย และจัดหาอาหารเพื่อสุขภาพในที่ทำงาน

3.จัดสภาพแวดล้อมการทำงานให้มีความยืดหยุ่น: กลยุทธ์นี้จะช่วยส่งเสริมให้พนักงานสามารถบริหารจัดการความสมดุลระหว่างการทำงานและชีวิตส่วนตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และยังช่วยลดความเครียด

4.นำเสนอโปรแกรมช่วยเหลือพนักงาน (EAP) และบริการให้คำปรึกษาที่เป็นความลับ: ช่วยให้พนักงานรู้สึกสะดวกใจที่จะขอความช่วยเหลือเมื่อต้องการ

5.ลงทุนด้านการฝึกอบรมให้กับผู้จัดการ: เพื่อให้พนักงานระดับผู้จัดการสามารถระบุและจัดการกับความกังวลด้านสวัสดิภาพของพนักงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 เม.ย. 67)

Tags: , ,
Back to Top