คลัง เล็งเพิ่มทุนธ.ก.ส.เสริมสภาพคล่องช่วยเกษตรกร ปัดเอี่ยวดิจิทัลวอลเล็ต

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงคลังอยู่ระหว่างการหารือเกี่ยวกับแนวทางการเพิ่มทุนให้ ธ.ก.ส. โดยยืนยันว่าการเพิ่มทุนดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับการดึงเงินของ ธ.ก.ส. มาใช้ในโครงการดิจิทัล วอลเล็ต

เบื้องต้นทราบว่าตัวเลขทุนของธนาคารยังขาดอยู่ราว 1 หมื่นล้านบาท จากปัจจุบันทุนจดทะเบียนของ ธ.ก.ส. อยู่ที่ราว 8 หมื่นล้านบาท เพื่อเป็นการเสริมสภาพคล่องและสร้างความแข็งแกร่งให้กับเกษตรกรไทย ซึ่งโดยหลักการ คือ การเพิ่มทุนให้ธนาคาร 1 บาท จะสามารถนำไปปล่อยสินเชื่อได้ 11 บาท ซึ่งสะท้อนว่าการเพิ่มทุนจะช่วยสร้างสภาพคล่องให้กับเกษตรกรได้จำนวนมาก และกระทรวงคลังมองเห็นถึงความสำคัญของกลไกนี้ และอยู่ระหว่างการพิจารณา โดยยังไม่มีข้อสรุปในขณะนี้

“เมื่อก่อนเวลา ธ.ก.ส. มีกำไร และต้องส่งคืนคลัง คลังจะให้เอากำไรนี้ไปเติมทุน ซึ่งที่ผ่านมา ธ.ก.ส. ก็มีการเติมทุนด้วยวิธีการนี้มาเรื่อย ๆ เฉลี่ยปีละประมาณ 5-6 พันล้านบาท จนกระทั่งช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมา มีข้อตกลงเกิดขึ้นในช่วง 1 ปีระหว่างนั้นว่า ธ.ก.ส. ไม่ต้องส่งเงินคืนคลัง และให้เอากำไรส่วนที่ต้องส่งคืนคลังนี้ไปบริหารจัดการในส่วนอื่น ซึ่งหลังจากนั้น ธ.ก.ส. ก็ไม่มีการส่งกำไรคืนคลังเลย หายไปตลอด 7-8 ปี แต่มาถึงตอนนี้คลังมองว่า ถึงเวลาที่จะต้องเติมทุนให้ครบแล้ว เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับ ธ.ก.ส. เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร จึงอาจให้นำเงินส่วนที่ ธ.ก.ส. จะต้องส่งคืนคลังนี้กลับไปเติมทุนของธนาคารตามเดิม โดยขอยืนยันอย่างชัดเจนว่าแผนการเติมทุนในครั้งนี้ไม่เกี่ยวกับดิจิทัล วอลเล็ตอย่างแน่นอน เป็นคนละส่วนกัน” นายจุลพันธ์ กล่าว

สำหรับประเด็นเรื่องการดึงเงินของ ธ.ก.ส. จำนวน 1.72 แสนล้านบาท เพื่อรองรับโครงการดิจิทัล วอลเล็ตนั้น ยืนยันว่าจะต้องมีการนำเข้าไปหารือในที่ประชุมคณะกรรมการ ธ.ก.ส. อย่างเป็นทางการแน่นอน แต่ตอนนี้ยังไม่ถึงเวลา ยังมีเวลาอีกราว 5-6 เดือน ซึ่งเบื้องต้นได้มีการหารือกับคณะกรรมการ ธ.ก.ส. นอกรอบไปบ้างแล้ว มีการรับทราบเรื่องนี้กันดี และพร้อมที่จะสนับสนุน

ส่วนแผนการชำระคืนหนี้ ธ.ก.ส. นั้น จะเป็นไปตามกลไกวิธีของงบประมาณ เพราะเป็นการดำเนินการตามมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ดังนั้นกลไกของงบประมาณก็จะเข้ามามีผล โดยการตั้งงบประมาณมาชำระคืนเป็นรายปี ส่วนจะคืนเท่าไหร่ อย่างไร เป็นหน้าที่ของกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และ ธ.ก.ส. จะต้องมาคุยกัน

“จริง ๆ เรื่องนี้สามารถนำเข้าหารือในที่ประชุมบอร์ด ธ.ก.ส. ได้เลยโดยไม่ต้องรอให้กฤษฎีกาตีความ เมื่อถึงเวลา แต่แม้ว่าเรื่องนี้จะไม่ใช่กระบวนการที่ต้องทำ รัฐบาลก็เห็นว่าหากรอความชัดเจนจากกฤษฎีกาก่อนค่อยนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการธนาคารก็จะช่วยสร้างความชัดเจน และสร้างความสบายใจให้กับทุกฝ่ายได้มากกว่า” นายจุลพันธ์ ระบุ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 พ.ค. 67)

Tags: , ,
Back to Top