CryptoShot: ดราม่าอีกแล้ว !! Binance TH เตรียมเปิดเทรดเหรียญมีม ขณะที่เจ้าอื่นโดนสั่งห้าม

ดราม่าต่อเนื่อง!! เมื่อ Binance TH ประกาศลิสต์เหรียญมีมสร้างความสงสัยและข้อข้องใจ ไหน ก.ล.ต. บอกว่าห้าม? งานนี้อ่านให้ชัด เพราะ ก.ล.ต. ไขข้อข้องใจ ไม่ต้องไปคิดกันเอง ใบอนุญาตไหนลิสต์เหรียญได้หรือลิสต์เหรียญไม่ได้!! ต่อด้วยผู้ประสบภัยจาก FTX งานนี้มีโอกาสได้เงินคืนแล้ว แถมได้ค่าเสียเวลาเพิ่มด้วย!!

ดราม่าบังเกิดเมื่อ Binance TH จ่อเปิดเทรดเหรียญมีมฉ่ำ! แต่เจ้าอื่นโดนห้าม เพราะอะไร??

ดราม่ากันอีกแล้วเมื่อเพจ Influencer เห็นว่า Binance TH มีการลิสต์เหรียญมีม (Meme Token) เป็นที่มาของคำถามมากมายว่าทำไมก่อนหน้านี้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เคยประกาศห้าม Exchange ลิสต์เหรียญมีมบนกระดานไม่ใช่หรือ?? ทำไมครั้งนี้ Binance ถึงลิสต์ได้??

งานนี้ ก.ล.ต. ทำงานรวดเร็วด้วยการออกข่าวแถลงอย่างชัดเจนในวันอังคารที่ 7 พ.ค. ที่ผ่านมาว่าทาง ก.ล.ต. ไม่อนุญาตให้ Exchange ลิสต์เหรียญมีม เพื่อรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยในการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลของศูนย์ซื้อขายฯ และคุ้มครองผู้ซื้อขายจากการกระทำอันไม่เป็นธรรม รวมทั้งป้องกันความเสี่ยงในการสร้างราคา เนื่องจาก Meme Token ไม่มีปัจจัยพื้นฐานรองรับ แต่ขึ้นอยู่กับความชื่นชอบส่วนบุคคล

แต่สำนักงาน ก.ล.ต.ไม่ได้ห้ามนายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล หรือผู้ถือใบอนุญาต Digital Asset Broker ในการให้บริการ Meme Token แก่ลูกค้า โดยนายหน้าฯ จะต้องทำหน้าที่เป็น “ผู้ให้บริการนายหน้า” หรือ “ตัวแทนเพื่อซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลให้กับลูกค้า” โดยจะต้องดำเนินการให้ลูกค้าได้รับเงื่อนไขที่ดีที่สุด (Best Execution) จากหลากหลายศูนย์ซื้อขายฯ (Sourced Exchange) ที่นายหน้าฯ ไปเชื่อมต่อ

ทาง ก.ล.ต. ย้ำว่า หากผู้ประกอบธุรกิจได้รับใบอนุญาต ทั้งศูนย์ซื้อขายฯ และนายหน้าฯ และจะให้บริการ Meme Token การส่งคำสั่งไปยัง Sourced exchange จะต้องส่งคำสั่งในฐานะนายหน้าฯ เท่านั้น โดยไม่ทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจผิดว่าเป็นการให้บริการในฐานะศูนย์ซื้อขายฯ รวมทั้งกำชับให้บุคคลที่มีผลต่อการตัดสินใจต่อผู้ใช้บริการ (Influencer) และพันธมิตรทางการค้าที่เกี่ยวข้องให้ปฏิบัติตามหลักการข้างต้นด้วย

แล้วเผอิญว่าทาง Binance TH ได้ถือใบอนุญาตของศูนย์ซื้อขายฯและนายหน้าฯ ในขณะที่ BITKUB ถือใบอนุญาตศูนย์ซื้อขายฯ เพียงอย่างเดียว งานนี้เหล่า Influencer หลายรายต่างออกมาวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมากมายทั้ง 2 ด้าน ไม่ว่าจะเป็น “BITKAO”, “เพจคริปโทไม่มีวันตาย”, “ลุงชูเต่านั่งรถบางคัน” หรือแม้แต่ “พลอยขอเล่า” บ้างก็เห็นใจ BITKUB บ้างก็คิดว่าถูกต้องแล้ว

แล้วทุกคนคิดว่ายังไงกันบ้าง ค่ายเขียว vs ค่ายเหลือง ใครจะได้เป็นเจ้าตลาด งานนี้ต้องดูกันยาว ๆ

FTT Token comeback พุ่งกว่า 30% หลัง FTX เผยแผนชำระเงินเจ้าหนี้เต็มจำนวน พร้อมแถมค่าเสียเวลา

ผู้ประสบภัย FTX มากองตรงนี้ เมื่อล่าสุดทาง FTX ประกาศพร้อมเข้าแผนฟื้นฟูที่ 11 (Chapter 11) พร้อมคืนเงินผู้เสียกายกว่า 98% แถมค่าเสียเวลาให้ด้วย ซึ่งตรงนี้แตกต่างจากแผนเดิมที่จะชดใช้เงินให้เจ้าหนี้ตามมูลค่าของสินทรัพย์ ณ ตอนที่บริษัทยื่นล้มละลายเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2022 สาเหตุอาจเป็นเพราะตลาดคริปโทฯ ปรับตัวเป็นขาขึ้นหลังจากราคา Bitcoin พุ่งขึ้นไปกว่า 200%

ทั้งนี้ FTX ได้ประเมินมูลค่ารวมของทรัพย์สินที่บริษัทมีอยู่ เมื่อแปลงเป็นเงินสด ซึ่งจะอยู่ระหว่าง 14,500-16,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเพียงพอสำหรับการชดใช้หนี้ โดยแผนดังกล่าวระบุว่า เฉพาะเจ้าหนี้ที่ถือสิทธิเรียกร้องเงินจำนวนต่ำกว่า 50,000 ดอลลาร์เท่านั้น จึงจะมีสิทธิได้รับเงินคืน 118% และหากได้รับการอนุมัติจากศาล การชำระเงินคืนจะเกิดขึ้นภายใน 60 วันหลังจากวันที่แผนมีผลบังคับใช้

และด้วยสาเหตุนี้เองที่ทำให้ราคาเหรียญ FTT หรือ FTX Token พุ่งขึ้นกว่า 25% ในวันที่ 8 พฤษภาคมในระยะเวลาเพียงแค่วันเดียว

Bitcoin ETF ของ Grayscale ยอดซื้อเป็นบวกครั้งแรก หลังมีแต่คนแห่ขายทุกวันรวมกว่า 630,000 ลบ.

ในที่สุดก็เริ่มมีข่าวดีสำหรับ Grayscale ที่ก่อนหน้านี้เราจะเห็นว่ากองทุน Bitcoin SPOT ETF ของ Grayscale นับตั้งแต่เปิดตัวเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2024 มีเงินไหลออกตลอดกว่า 17,000 ล้านดอลลาร์ เหมือนเลือดที่ไหลซิบ ๆ แต่แล้วเลือดก็หยุดไหล โดยเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม กองทุน GBTC ก็มีการไหลเข้าเป็นครั้งแรก

Eris Balchunas ผู้เชี่ยวชาญด้าน ETF ถึงกับอุทานแบบไม่เชื่อสายตาตัวเอง แถมเขาไปเช็คข้อมูลเอง แล้วก็พบว่าเป็นเรื่องจริงด้วย

หากวิเคราะห์ดูแล้ว อะไรเป็นสาเหตุที่ก่อนหน้านี้กองทุน Bitcoin Spot ETF ของ Grayscale ถึงมีแรงขายออกอย่างต่อเนื่อง สาเหตุอาจเกิดจากนักลงทุนย้ายไปลงทุนในกอง Bitcoin ETF อื่น ๆ เนื่องจากการเก็บค่าธรรมเนียมที่สูงเกินไป โดย Grayscale ได้เก็บค่าธรรมเนียมอยู่ที่ 1.5% ในขณะที่กองทุนอื่น ๆ มีค่าธรรมเนียมการจัดการรายปีเฉลี่ยอยู่ที่ 0.25%

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 พ.ค. 67)

Tags: , , , ,
Back to Top