In Focus: “เพจเจอร์บอมบ์” อุปกรณ์ยุคเก๋า ส่อเค้าจุดชนวนความขัดแย้งครั้งใหม่ในตะวันออกกลาง

ในสถานการณ์ความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮิซบอลเลาะห์นั้น ก็ได้เกิดเหตุการณ์ที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่าจะเกิดขึ้นได้ในยุคสมัยนี้ เมื่อเพจเจอร์จำนวนมากทั่วเลบานอนได้ระเบิดขึ้นพร้อมกัน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตแล้ว 9 ราย และบาดเจ็บอีกหลายพันราย ซึ่งตัวเลขดังกล่าวมีแต่จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

หลายฝ่ายเชื่อว่า การโจมตีครั้งนี้มีอิสราเอลอยู่เบื้องหลัง สะท้อนให้เห็นถึงลักษณะของสงครามที่กำลังเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 ในยุคสมัยที่ปกติแล้ว การทำสงครามจะใช้โดรน เครื่องบิน และระเบิด ไม่ใช่เพจเจอร์ที่ฮิตกันเมื่อช่วง 20-30 ปีก่อน

*เกิดอะไรขึ้น

เมื่อวานนี้ (17 ก.ย.) เพจเจอร์ซึ่งเป็นอุปกรณ์ติดต่อสื่อสารของกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอนได้ระเบิดพร้อมกันหลายร้อยเครื่อง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 9 ราย และได้รับบาดเจ็บกว่า 2,800 รายทั่วเลบานอน รวมถึงนักรบและหน่วยแพทย์ของกลุ่มฮิซบอลเลาะห์

ในบรรดาผู้ได้รับบาดเจ็บ มีจำนวนมากกว่า 200 รายที่อยู่ในอาการวิกฤต นอกจากนี้ก็มีเด็กเสียชีวิตด้วย

สื่อรายงานว่า เพจเจอร์เกิดการระเบิดเมื่อเวลา 15.30 น. ตามเวลาท้องถิ่นของเลบานอน โดยเครื่องเพจเจอร์เริ่มมีความร้อนมากขึ้น และเกิดการระเบิดในกระเป๋ากางเกงหรือในมือของผู้ถือเพจเจอร์ โดยเฉพาะทางตอนใต้ของกรุงเบรุต ซึ่งเป็นฐานที่มั่นของกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ รวมทั้งในกรุงดามัสกัส

กลุ่มฮิซบอลเลาะห์และกลุ่มมุสลิมนิกายชีอะห์กล่าวหาว่า อิสราเอลอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ระเบิดของเพจเจอร์ดังกล่าว เพราะเป็นคู่ขัดแย้งโดยตรง

อย่างไรก็ดี อิสราเอลยังไม่ได้ออกมายอมรับหรือปฏิเสธต่อข้อกล่าวหานี้

เหตุการณ์ระเบิดของเพจเจอร์ครั้งนี้ ถือเป็นความรุนแรงที่ส่งผลกระทบครั้งใหญ่ที่สุดต่อกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ นับตั้งแต่ทำสงครามกับอิสราเอลเป็นเวลาเกือบ 1 ปี

*ย้อนรอยความขัดแย้งอิสราเอล-ฮิซบอลเลาะห์

เหตุการณ์เพจเจอร์บอมบ์ครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากที่คณะรัฐมนตรีความมั่นคงของอิสราเอลเพิ่งลงมติเมื่อวันจันทร์ (16 ก.ย.) ให้เพิ่มวัตถุประสงค์อีกข้อในการต่อสู้กับกลุ่มฮามาสในกาซาและกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอน นั่นคือการทำให้ประชาชนจากชุมชนตามแนวชายแดนที่ติดกับเลบานอนกลับบ้านอย่างปลอดภัย เพราะหลังจากกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอนและอิสราเอลโต้ตอบกันมาเกือบหนึ่งปี ประชาชนนับหมื่นคนต้องพลัดถิ่นจากบ้านเรือนในเลบานอนใต้และอิสราเอลตอนเหนือ

อิสราเอลและฮิซบอลเลาะห์ได้โจมตีโต้ตอบกันต่อเนื่องมาตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคมปีที่แล้ว ซึ่งเป็นหนึ่งวันหลังจากที่อิสราเอลเปิดฉากทำสงครามกับกลุ่มฮามาสในกาซา หลังกลุ่มฮามาส ซึ่งเป็นกองกำลังติดอาวุธชาวปาเลสไตน์ที่ปกครองฉนวนกาซาได้บุกโจมตีพื้นที่ทางตอนใต้ของอิสราเอล

กลุ่มฮิซบอลเลาะห์มาร่วมวงปะทะกับอิสราเอลตามแนวชายแดนเลบานอน-อิสราเอล เพื่อแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับชาวปาเลสไตน์ในกาซา พร้อมประกาศว่าจะหยุดก็ต่อเมื่ออิสราเอลยุติสงครามเท่านั้น

*ทุกนิ้วชี้ไปที่อิสราเอล

กลุ่มฮิซบอลเลาะห์และรัฐบาลเลบานอนต่างประกาศว่า อิสราเอลอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์เพจเจอร์บอมบ์ครั้งนี้ และอิสราเอลจะต้องถูกลงโทษต่อการกระทำดังกล่าว ด้านกระทรวงการต่างประเทศเลบานอนประกาศเตรียมยื่นเรื่องร้องเรียนไปยังคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ด้วย

ขณะเดียวกัน แหล่งข่าวด้านความมั่นคงระดับสูงของเลบานอนเปิดเผยว่า หน่วยข่าวกรองอิสราเอล หรือ มอสสาด (Mossad) ได้ทำการฝังวัตถุระเบิดไว้ในเพจเจอร์ที่กลุ่มฮิซบอลเลาะห์สั่งซื้อมาหลายเดือนก่อนเกิดเหตุเพจเจอร์บอมบ์

กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ได้สั่งซื้อเพจเจอร์รุ่น AP924 จำนวน 5,000 เครื่อง จากบริษัทโกลด์ อะพอลโล (Gold Apollo) ในไต้หวัน แต่เพจเจอร์ดังกล่าวได้ถูกดัดแปลงโดยหน่วยข่าวกรองอิสราเอล “ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต” โดยหน่วยข่าวกรองมอสสาดได้ติดตั้งแผงวงจรพร้อมวัตถุระเบิดไว้ในเพจเจอร์ ซึ่งการตรวจจับทำได้ยากมาก แม้จะใช้เครื่องมือหรือเครื่องสแกนก็ตาม จากนั้นได้ส่งข้อความรหัสที่ตั้งค่าเอาไว้เพื่อจุดชนวนระเบิดพร้อมกัน ส่งผลให้เพจเจอร์ราว 3,000 เครื่องเกิดระเบิดขึ้น

แหล่งข่าวด้านความมั่นคงอีกรายเปิดเผยกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า วัตถุระเบิดสูงสุด 3 กรัมถูกซุกซ่อนไว้ในเพจเจอร์ และหลุดรอดการตรวจสอบของกลุ่มฮิซบอลเลาะห์มาตลอดหลายเดือน ซึ่งการก่อเหตุครั้งนี้น่าจะใช้เวลาเตรียมการนานหลายเดือน

อิสราเอลไม่ได้ออกมายอมรับหรือปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว ซึ่งปกติอิสราเอลก็แทบไม่ได้ประกาศตัวว่าอยู่เบื้องหลังการโจมตีใด ๆ อยู่แล้ว แต่อิสราเอลคงจะหนีคำกล่าวหาได้ยาก เพราะนอกจากจะเป็นคู่ปรับโดยตรงแล้ว อิสราเอลเองก็เคยมีประวัติวางแผนการที่มีความซับซ้อนเช่นนี้มาก่อน

อิสราเอลมีประวัติเบื้องหลังปฏิบัติการระยะไกลที่ซับซ้อนมานานแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการโจมตีทางไซเบอร์อันแยบยล ไปจนถึงการใช้ปืนกลควบคุมระยะไกลสังหารผู้นำขณะนั่งอยู่ในรถ การโจมตีด้วยโดรนพลีชีพ และการจุดระเบิดในศูนย์นิวเคลียร์ใต้ดินของอิหร่าน

*ทำไมถึงใช้เพจเจอร์

สำหรับคนที่อาจจะเกิดไม่ทัน เพจเจอร์เป็นอุปกรณ์สื่อสารขนาดเล็กที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายก่อนที่โทรศัพท์มือถือจะเข้ามาแทนที่ เพจเจอร์จะแสดงข้อความสั้น ๆ ให้ผู้ใช้อ่าน ผู้ส่งข้อความจะต้องโทรศัพท์ไปที่ศูนย์บริการ แจ้งผู้ให้บริการ (โอเปอเรเตอร์) ให้ส่งข้อความไปยังหมายเลขเพจเจอร์ที่ระบุไว้ ผู้ให้บริการจะพิมพ์ข้อความและส่งไปยังเครื่องเพจเจอร์ของผู้รับ

เพจเจอร์ต่างจากโทรศัพท์มือถือเพราะทำงานด้วยคลื่นวิทยุ โดยผู้ให้บริการจะส่งข้อความผ่านคลื่นความถี่วิทยุที่เฉพาะเจาะจงสำหรับอุปกรณ์ของผู้รับแต่ละเครื่อง

เป็นที่เชื่อกันว่าเทคโนโลยีพื้นฐานที่ใช้ในเพจเจอร์ รวมถึงการที่ต้องพึ่งพาอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์จริง ๆ ไม่ใช่อินเทอร์เน็ตเหมือนยุคนี้ ทำให้เพจเจอร์ดักฟังหรือติดตามได้ยาก ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่นิยมของคนบางกลุ่ม เช่น กลุ่มฮิซบอลเลาะห์

อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญมองว่า กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ตัดสินใจผิดพลาดที่ไปเลือกใช้เพจเจอร์ เพราะแม้เพจเจอร์จะติดตามได้ยาก แต่เพจเจอร์มีผู้ผลิตและจำหน่ายไม่กี่ราย จึงตกเป็นเป้าได้ไม่ยาก

เหตุการณ์เพจเจอร์บอมบ์ไม่เคยเกิดขึ้นในกาซา ทั้ง ๆ ที่ปะทะกันดุเดือดกว่า โดยผู้เชี่ยวชาญมองว่า เพจเจอร์บอมบ์ใช้กับกาซาไม่ได้ เพราะกลุ่มฮามาสในกาซามีความเชี่ยวชาญเรื่องไซเบอร์มากกว่าเมื่อเทียบกับกลุ่มฮิซบอลเลาะห์

ฮัมซา อัตทาร์ จากภาควิชาการป้องกัน มหาวิทยาลัยคิงส์คอลเลจลอนดอนให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอัลจาซีราว่า กลุ่มฮามาสมีความเชี่ยวชาญเรื่องระบบโทรคมนาคมมาก ถึงขั้นที่ต้องเข้ารหัสเพื่อติดต่อสื่อสารกันเอง กลุ่มฮามาสไม่ใช้ทั้งโทรศัพท์และโทรศัพท์มือถือ ทั้งยังมีเครือข่ายของตัวเองด้วย

สำหรับกลุ่มฮิซบอลเลาะห์นั้น ผู้เชี่ยวชาญมองว่า อิสราเอลเองก็ไม่มีข้อมูลว่ามีสมาชิกกลุ่มฮิซบอลเลาะห์รายใดใช้เพจเจอร์บ้าง และไม่ทราบตำแหน่งของสมาชิกกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ด้วย จะทราบได้ก็ต่อเมื่อรวบรวมข้อมูลหลังจากระเบิดแล้วเท่านั้น เช่น ใช้ดาวเทียมสำรวจหาผู้ที่ถูกเพจเจอร์บอมบ์จนได้รับบาดเจ็บและร้องขอความช่วยเหลือ เมื่อนั้นถึงจะทราบชื่อและตำแหน่งของผู้ที่ใช้เพจเจอร์

*อย่าเพิ่งตื่นตระหนก

ขณะนี้ยังไม่มีการยืนยันสาเหตุที่แท้จริงของเหตุระเบิด โดยได้แต่ประเมินกันว่า การระเบิดน่าจะเกิดจากการปรับแต่งตัวเพจเจอร์ มากกว่าถูกแฮกจากระยะไกลให้แบตเตอรี่ลิเธียมร้อนจัดจนระเบิด

ผู้เชี่ยวชาญหลายรายยืนยันว่า อุปกรณ์สื่อสารทั่วไปไม่มีทางระเบิดได้รุนแรงเช่นนั้น เว้นแต่จะถูกดัดแปลงอย่างมากและใส่วัตถุระเบิดเข้าไป ซึ่งกรณีนี้ดูเหมือนว่าเพจเจอร์ถูกออกแบบมาเป็นพิเศษให้ระเบิดเมื่อถูกสั่งการ ไม่ใช่เพจเจอร์ธรรมดาที่คนทั่วไปใช้กัน

*บริษัทไต้หวันงานเข้า ถูกดึงมาเอี่ยว

บริษัทโกลด์ อะพอลโลของไต้หวันยืนยันว่า ไม่ได้เป็นผู้ผลิตเพจเจอร์ที่ใช้วางระเบิดทั่วเลบานอน หลังสื่อต่าง ๆ รายงานว่า โกลด์ อะพอลโล เป็นซัพพลายเออร์ของเพจเจอร์เหล่านี้

เจ้าหน้าที่ของโกลด์ อะพอลโล ยืนยันว่า “อุปกรณ์เหล่านั้นไม่ใช่ของเรา เราไม่ได้ผลิตเพจเจอร์เหล่านั้น” และระบุว่า โกลด์ อะพอลโล ให้สิทธิ์บริษัทอื่นอย่างน้อยหนึ่งแห่งในการใช้ชื่อแบรนด์ของโกลด์ อะพอลโล แต่ไม่ได้เปิดเผยชื่อของบริษัทดังกล่าวแต่อย่างใด เช่นเดียวกับ ซู ชิงกวง ผู้ก่อตั้งโกลด์ อะพอลโล ซึ่งออกมายืนยันในวันนี้ (18 ก.ย.) ว่า บริษัทไม่ได้เป็นผู้ผลิตเพจเจอร์ที่เกิดระเบิดที่เลบานอน

โกลด์ อะพอลโล เริ่มดำเนินงานในปี 2538 และจำหน่ายเพจเจอร์แบบตัวอักษรและตัวเลข รวมถึงเครื่องส่งสัญญาณเพื่อแจ้งลูกค้าในร้านอาหารว่า ออร์เดอร์ของพวกเขาพร้อมแล้ว

ทั้งนี้ โกลด์ อะพอลโล ไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก แม้แต่ในชุมชนเทคโนโลยีของไต้หวัน โดยข้อมูลจากเว็บไซต์ของบริษัทระบุว่า โกลด์ อะพอลโล มีพนักงานจำนวน 40 คน

*สหรัฐฯ บอกปัดไม่รู้เรื่อง

ทางการสหรัฐฯ ได้ออกมายืนยันว่าสหรัฐฯ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าว และไม่ทราบว่าใครเป็นผู้รับผิดชอบ โดย แมทธิว มิลเลอร์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวว่า “เรากำลังรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ ผมขอยืนยันว่าสหรัฐฯ ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องและไม่ทราบเรื่องมาก่อน ขณะนี้เรากำลังรวบรวมข้อมูลแบบเดียวกับที่นักข่าวทั่วโลกทำ เพื่อรวบรวมข้อเท็จจริงว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่”

มิลเลอร์ระบุว่า สหรัฐฯ กังวลเสมอเกี่ยวกับเหตุการณ์ใดก็ตามที่อาจเพิ่มความตึงเครียดในตะวันออกกลาง และเรียกร้องให้อิหร่านอย่าใช้ประโยชน์จากเหตุการณ์ใดก็ตามเพื่อบั่นทอนเสถียรภาพในภูมิภาค พร้อมกับย้ำว่าพลเรือนไม่ควรตกเป็นเป้าหมายของปฏิบัติการใด ๆ

*แค่โชว์พาว หรือยังมีอีกต่อจากนี้

ผู้เชี่ยวชาญมองว่า อิสราเอลใช้เพจเจอร์บอมบ์เพื่อส่งสัญญาณถึงกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ว่า อิสราเอลโจมตีฮิซบอลเลาะห์ได้ทุกที่ ทุกเวลา ตามต้องการ การปฏิบัติการครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อสร้างความหวาดระแวงในหมู่สมาชิกฮิซบอลเลาะห์ ขัดขวางการรับสมาชิกใหม่ และบั่นทอนความเชื่อมั่นในกลุ่มผู้นำที่เคยภูมิใจกับการที่ข้อมูลของตนเองไม่ค่อยเป็นที่รับรู้

อย่างไรก็ดี ยังมีอีกหลายฝ่ายมองว่า เหตุการณ์เพจเจอร์บอมบ์ครั้งนี้อาจเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการโจมตีครั้งใหญ่ที่กำลังจะตามมา

โดยการโจมตีนี้อาจมีเป้าหมายเพื่อทำลายระบบสื่อสารของกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ ซึ่งเป็นยุทธวิธีที่ใช้กันทั่วไปก่อนเปิดฉากการโจมตีครั้งใหญ่ จึงควรจับตาดูสถานการณ์ในช่วง 2-3 วันข้างหน้าอย่างใกล้ชิด

ด้านเบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล และโยอาฟ กัลแลนต์ รัฐมนตรีกลาโหมอิสราเอล ได้จัดการประชุมด้านความมั่นคงหลังเกิดเหตุเพจเจอร์บอมบ์ทั่วเลบานอน เพื่อหาทางรับมือการโจมตีของกลุ่มฮิซบอลเลาะห์จากเหตุการณ์ดังกล่าว แต่ก็ยังไม่มีสัญญาณชัดเจนว่าจะมีการส่งกำลังทหารหรือการยิงขีปนาวุธในเร็ว ๆ นี้

ทั่วโลกคงได้แต่จับตามองด้วยความกังวลว่า การโจมตีครั้งนี้จะขยายวงกว้างออกไปอีกหรือไม่ เพราะทุกวันนี้ความขัดแย้งในตะวันออกกลางก็ดุเดือดเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 ก.ย. 67)

Tags: , , , , , , ,
Back to Top