
นายวชิร คูณทวีเทพ รองอธิการบดีฝ่ายยุทธศาสตร์ และผู้อำนวยการสถาบันยุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย (TCC-CI) เดือนเม.ย.68 ซึ่งเป็นการสำรวจความคิดเห็นของภาคธุรกิจ และหอการค้าทั่วประเทศ จำนวน 369 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 23-30 เม.ย.68 พบว่า ดัชนีฯ อยู่ที่ระดับ 48.3 ลดลงจากระดับ 48.9 ในเดือนมี.ค.68 ซึ่งเป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2
โดยดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยเกือบทุกภูมิภาค มีสัญญาณการปรับตัวลดลง ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจโดยรวม, การลงทุน, การท่องเที่ยว, การเกษตร, การค้าในจังหวัด, การค้าชายแดน และการจ้างงาน โดยมีเพียงภาคอุตสาหกรรมที่ยังปรับตัวขึ้นเล็กน้อย จากอานิสงส์ของการส่งออกที่ยังขยายตัว จากคำสั่งซื้อที่ยังมีเข้ามาต่อเนื่อง
ส่วนการลงทุนนั้น ยังไม่มีสัญญาณขยายการลงทุนของภาคเอกชนในช่วงนี้ ซึ่งทำให้เห็นว่า ภาคเอกชนยังชะลอการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ส่วนการท่องเที่ยว แม้เดือนเม.ย. เป็นเทศกาลสงกรานต์ แต่หลายจังหวัดตอบว่าการท่องเที่ยวไม่ได้คึกคักเท่าที่คาดหวังไว้ จะคึกคักเพียงจังหวัดแหล่งท่องเที่ยว ส่วนเมืองรองค่อนข้างเงียบเหงา ส่วนการบริโภค มีสัญญาณคึกคักเฉพาะในช่วงเทศกาลสงกรานต์
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยในแต่ละภูมิภาค เดือนเม.ย.68 เป็นดังนี้
– กรุงเทพฯ และปริมณฑล ดัชนีฯ อยู่ที่ 48.0 ลดลงจากเดือนมี.ค.68 ซึ่งอยู่ที่ 48.9
– ภาคกลาง ดัชนีฯ อยู่ที่ 47.7 ลดลงจากเดือนมี.ค.68 ซึ่งอยู่ที่ 48.5
– ภาคตะวันออก ดัชนีฯ อยู่ที่ 51.7 ลดลงจากเดือนมี.ค.68 ซึ่งอยู่ที่ 52.2
– ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดัชนีฯ อยู่ที่ 47.4 ลดลงจากเดือนมี.ค.68 ซึ่งอยู่ที่ 47.9
– ภาคเหนือ ดัชนีฯ อยู่ที่ 48.0 ลดลงจากเดือนมี.ค.68 ซึ่งอยู่ที่ 48.9
– ภาคใต้ ดัชนีฯ อยู่ที่ 47.1 ลดลงจากเดือนมี.ค.68 ซึ่งอยู่ที่ 47.7
ปัจจัยลบสำคัญ ที่มีผลต่อดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนเม.ย. ได้แก่
1. สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 68 เหลือโต 2.1% จากเดิมคาดโต 3.0% ผลจากแรงกดดันด้านการค้าโลก
2. การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะผลกระทบจากนโยบายภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ
3. ความกังวลต่อนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และการตอบโต้จากประเทศต่าง ๆ
4. เศรษฐกิจยังฟื้นตัวช้า ตลอดจนปัญหาค่าครองชีพสูง ทำให้ผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่าย ซึ่งกระทบกับยอดขายของธุรกิจ
5. ปัญหาฝุ่น PM2.5 กระทบการดำเนินชีวิตของประชาชนในพื้นที่
6. เงินบาทปรับตัวแข็งค่า
7. กังวลปัญหาภัยแล้ง ที่จะกระทบต่อการใช้น้ำของภาคเกษตร, ภาคอุตสาหกรรม และภาคครัวเรือน
8. สถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคงยืดเยื้อ
ปัจจัยบวก ได้แก่
1. คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% มาอยู่ที่ 1.75% ต่อปี
2. นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวในไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการยกเว้นวีซ่านักท่องเที่ยว
3. การส่งออกของไทยเดือนมี.ค.68 ขยายตัวสูงถึง 17.84%
4. SET Index เดือนเม.ย. ปรับตัวเพิ่มขึ้น 45.63 จุด
5. ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวลดลง
6. เข้าฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลไม้ ทำให้อุปสงค์สินค้าเกษตรปรับเพิ่มขึ้นในกลุ่มอาหารสด อาหารแปรรูป และผลไม้
7. ราคาพืชผลเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้น หรือทรงตัวในระดับที่ดี
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการยังมีข้อเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาไปถึงภาครัฐ ดังนี้
– มาตรการทางการเงินที่ช่วยเหลือสภาพคล่องของภาคธุรกิจ ช่วยดูแลมาตรฐานการให้สินเชื่อของสถาบันการเงิน และช่วยลดความเสี่ยงหนี้เสีย
– การบริหารจัดการน้ำเพื่อจัดสรรให้เพียงพอ และเหมาะสมกับภาคการเกษตร อุปโภค-บริโภค และรวมไปถึงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง
– มาตรการส่งเสริมช่วยเหลือธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
– การส่งเสริมเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อสนับสนุนด้านธุรกิจ เช่น การพัฒนาผลิตภาพและประสิทธิภาพธุรกิจ การพัฒนาคุณภาพสินค้าและบริการ
– ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนให้เข้มแข็ง และสร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ที่รวมตัวกับเป็นกลุ่มในการผลิตสินค้า

ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย กล่าวว่า การที่ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย เดือนเม.ย.68 ปรับตัวลดลงทุกภาค แสดงให้เห็นชัดว่าภาคธุรกิจมีความกังวลผลกระทบที่อาจจะได้รับจากนโยบายการปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ และการตอบโต้ระหว่างกันของประเทศคู่ค้า
จุดที่เปราะบางมาก คือ ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการทุกภมิภาค อยู่ต่ำกว่า 50 ซึ่งเป็นระดับปกติ โดยดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย เดือนเม.ย.68 ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2
“บรรยากาศชัดมากว่านักธุรกิจมีความกังวลต่อสถานการณ์ Trade War และการเจรจาการค้าของสหรัฐ โดยจังหวัดที่มีโรงงานอุตสาหกรรม ทั้งกรุงเทพฯ ปริมณฑล, ภาคกลาง และภาคตะวันออก ซึ่งมีสัดส่วน GDP รวมกันประมาณ 60% ของประเทศ ต่างตอบว่ามีความกังวลความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก และการเจรจาการค้า ซึ่งเป็นไปตามที่ IMF มองว่าการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกยังมีอยู่ และจากที่หลายคนมองว่าเศรษฐกิจโลกจะย่อตัวลงอย่างน้อย 0.5% จากที่เคยโต 3% อาจจะเหลือแค่ 2.5% เป็นอย่างน้อย” นายธนวรรธน์ ระบุ
ทั้งนี้ จากสถานการณ์ที่คาดว่าการส่งออกไทยปีนี้ จะได้รับผลกระทบจากมาตรการภาษีของสหรัฐฯ อย่างน้อยจากการถูกเรียกเก็บภาษีในอัตรา 10% (Universal tariff) นั้น ม.หอการค้าไทย ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้ จะขยายตัวได้ในกรอบ 1.8-2.2% (ค่ากลาง 2%) อย่างไรก็ดี จะมีการปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยใหม่อีกครั้ง ในเดือน มิ.ย.68
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 พ.ค. 68)