
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ระบุว่า ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ไตรมาส 1/68 ขยายตัว 3.1% จากตลาดคาดโต 2.9-3.1%
ปัจจัยหลักมาจากการผลิตภาคนอกเกษตรชะลอลง ขณะที่การผลิตภาคเกษตรเร่งขึ้น ด้านการใช้จ่าย การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคขั้นสุดท้ายของเอกชนการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคขั้นสุดท้ายของรัฐบาล การนำเข้าสินค้าและบริการ และการสะสมทุนถาวรเบื้องต้นชะลอลง ขณะที่การส่งออกสินค้าและบริการขยายตัวเร่งขึ้น
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สภาพัฒน์ ระบุว่า การที่เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1/68 ยังเติบโตได้ดีในระดับ 3.1% นั้น เป็นผลจากการที่ประเทศคู่ค้าต่างเร่งนำเข้าสินค้าก่อนที่จะมีการปรับขึ้นภาษีจากสหรัฐฯ จึงทำให้การส่งออกของไทยขยายตัวได้ดี และมีผลช่วยให้ GDP ไตรมาสแรกปีนี้เติบโตสูง
คาด GDP Q2/68 ชะลอตัว เตือนภาคธุรกิจ-ประชาชน รับมือเศรษฐกิจผันผวนรุนแรง
แต่ทั้งนี้ ในช่วงถัดไปคือไตรมาส 2 ของปีนี้ เศรษฐกิจไทยอาจชะลอตัวลงได้ อันเนื่องจากความผันผวนที่เพิ่มมากขึ้นทั้งเศรษฐกิจโลก และการค้าโลก พร้อมเชื่อว่าจะเห็นผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่ชัดเจนมากขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 3 เป็นต้นไป
ดังนั้นจึงขอเตือนให้ภาคธุรกิจต่าง ๆ รวมทั้งประชาชน เตรียมตัวรองรับผลกระทบจากความผันผวนที่จะเกิดขึ้น เพื่อให้สามารถผ่านสถานการณ์ในช่วงนี้ไปได้
“ช่วงถัดไปนี้ จะมีความผันผวนมากขึ้น ทั้งการค้า การลงทุน ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไทยช่วงถัดไปอาจชะลอตัวลง ดังนั้น อยากขอให้ภาคเอกชน ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมต่าง ๆ เตรียมตัวรองรับผลกระทบจากความผันผวนของเศรษฐกิจและการค้าโลก ขณะที่ภาคประชาชนเอง จะต้องเตรียมพร้อมเรื่องการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันให้มีความรอบคอบ เพื่อให้ผ่านช่วงเวลาในช่วงนี้ไปได้ ซึ่งภาครัฐเอง ก็จะมีมาตรการออกมาช่วยเหลือในอีกหลายเรื่อง…ขอให้ใช้ความระมัดระวังในการดำเนินชีวิต ทั้งภาคธุรกิจ และประชาชน ในช่วงระยะถัดจากนี้ไป เพื่อให้ทุกคนได้ผ่านในช่วงนี้ไปได้” เลขาธิการสภาพัฒน์ ระบุ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 พ.ค. 68)
Tags: GDP, การส่งออก, สภาพัฒน์, สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ