
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดลบในวันอังคาร (20 พ.ค.) เนื่องจากความไม่แน่นอนของการเจรจานิวเคลียร์ระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่าน รวมทั้งการเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซียและยูเครน นอกจากนี้ ตลาดยังถูกกดดันจากข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอของจีนซึ่งเป็นผู้นำเข้าน้ำมันดิบรายใหญ่ของโลก
- ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนมิ.ย. ลดลง 13 เซนต์ หรือ 0.21% ปิดที่ 62.56 ดอลลาร์/บาร์เรล
- ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนก.ค. ลดลง 16 เซนต์ หรือ 0.24% ปิดที่ 65.38 ดอลลาร์/บาร์เรล
ภาวะการซื้อขายในตลาดน้ำมันได้รับแรงกดดันจากความไม่แน่นอนของการเจรจาข้อตกลงนิวเคลียร์ โดยอยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดของอิหร่านกล่าวว่า ข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ ที่ต้องการให้อิหร่านยุติการเสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียมนั้น ถือเป็นข้อเรียกร้องที่เกินขอบเขต พร้อมกับแสดงความไม่มั่นใจว่าการเจรจาประเด็นนิวเคลียร์ฉบับใหม่กับสหรัฐฯ จะประสบความสำเร็จหรือไม่
อเล็กซ์ โฮเดส นักวิเคราะห์จากบริษัท StoneX คาดการณ์ว่า หากสหรัฐและอิหร่านบรรลุข้อตกลงนิวเคลียร์และนำไปสู่การผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรต่ออิหร่าน ก็จะทำให้อิหร่านสามารถเพิ่มการส่งออกน้ำมันในตลาด 300,000-400,000 บาร์เรล/วัน
ข้อมูลจากหน่วยงานด้านพลังงานของรัฐบาลสหรัฐฯ ระบุว่า อิหร่านเป็นผู้ผลิตน้ำมันดิบรายใหญ่อันดับสามในกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ในปี 2567 รองจากซาอุดีอาระเบียและอิรัก
ส่วนการเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซียและยูเครนก็ไม่มีความแน่นอนเช่นกัน โดยล่าสุดสหภาพยุโรป (EU) และสหราชอาณาจักร ประกาศมาตรการคว่ำบาตรครั้งใหม่ต่อรัสเซียโดยไม่รอให้สหรัฐฯ เข้าร่วม เพียงหนึ่งวันหลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ เจรจากับประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย โดยไม่มีการให้คำมั่นสัญญาเรื่องการหยุดยิงในยูเครน
ทั้งนี้ ยูเครนต้องการให้ประเทศกลุ่ม G7 ลดเพดานราคาน้ำมันที่ขนส่งทางทะเลของรัสเซียลงเหลือ 30 ดอลลาร์/บาร์เรล โดยปัจจุบันเพดานราคาของ G7 ที่กำหนดขึ้นเนื่องจากรัสเซียใช้กำลังทหารเข้าทำสงครามในยูเครนนั้น อยู่ที่ 60 ดอลลาร์/บาร์เรล
ตลาดยังถูกกดดันจากข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอของจีน โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) รายงานว่า ยอดค้าปลีกเดือนเม.ย. ปรับตัวขึ้น 5.1% เมื่อเทียบรายปี ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 5.5% และน้อยกว่าเดือนมี.ค.ที่ขยายตัว 5.9% ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าการอุปโภคบริโภคของจีนยังคงอ่อนแอ
ส่วนการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนเม.ย.ของจีน ปรับตัวขึ้น 6.1% เมื่อเทียบรายปี แม้ออกมาแข็งแกร่งกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 5.5% แต่การขยายตัวดังกล่าวชะลอลงจากที่พุ่งขึ้นถึง 7.7% ในเดือนมี.ค.
นักลงทุนจับตาการเปิดเผยสต็อกน้ำมันดิบจากสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIA) ในวันนี้ ขณะที่นักวิเคราะคาดการณ์ว่าสต็อกน้ำมันดิบจะลดลง 1.2 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 16 พ.ค.
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 พ.ค. 68)
Tags: WTI, น้ำมัน WTI, ราคาน้ำมัน