
ในช่วงที่ผ่านมา เราเห็นว่า narrative ของตลาดหุ้นทั่วโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เรียกได้ว่าแทบทุกสัปดาห์ หรือบางช่วงจะเป็นสลับวันเว้นวัน
โดยส่วนใหญ่จะเป็นไปตามลักษณะของการควบคุมแบบ Macro-driven หรือ Top-down โดยขับเคลื่อนไปตามเศรษฐกิจ ข้อมูลข่าวสาร รวมถึง ปัจจัยมหภาคด้านต่างๆ ที่มีอิทธิพลต่อตลาด
มาถึงตลาดหุ้นไทย สถานการณ์ตลาดที่มีความผันผวนลักษณะนี้ อาจทำให้การลงทุนโดยเน้นปัจจัยพื้นฐาน หรือแนวทาง Bottom-up หรือ การเล่นหุ้นทางต่ำ มีความสำคัญลดลงชั่วคราว ส่งผลให้นักลงทุนทั้งหลายรู้สึกอึดอัด เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของตลาดหุ้นนั้น ถูกควบคุมให้หมุนตามการเคลื่อนย้ายเงินระหว่างกลุ่ม (Sector) หรือหุ้นรายตัวไม่ทัน และอาจรู้สึกว่าผลประกอบการของตัวเองที่ปรากฏออกมาดูด้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับตลาด
บางครั้งเราอาจสงสัยถึงเหตุผลที่มีนักลงทุนแห่เข้าไปซื้อหุ้นบางตัวจนวอลุ่ม “โป่งพอง” ทั้งที่ Valuation ดูแพงเวอร์เกินไป และไม่สอดคล้องกับพื้นฐาน หรือแนวโน้มของธุรกิจในอนาคต
ในขณะที่ใครหลายคนก็ไม่กล้าที่จะเข้าไปแตะต้องหุ้นเหล่านั้น เพราะทุกอย่างมันเล่นล่วงหน้าไปหมดแล้ว
เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับผู้เขียน โดยเฉพาะเมื่อเป็นช่วงที่ นักลงทุน หรือ กองทุน ต่างกำลังไล่ล่าหา หุ้น Alpha หรือ Alpha Investment ผ่านการหมุนเวียนหุ้นหรือ Sector rotation ในระยะสั้น ซึ่งตรงกับประโยคคลาสสิกของ Benjamin Graham ที่กล่าวไว้ว่า “In the short run, the market is a voting machine, but in the long run, it is a weighing machine”
กล่าวคือ ในระยะสั้นราคาหุ้นอาจขึ้นอยู่กับ อารมณ์ ความรู้สึก และ Sentiment ของตลาด แต่ในระยะยาวราคาจะสะท้อนตามปัจจัยพื้นฐานที่แท้จริง เช่น กำไร กระแสเงินสด และความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ
อย่างไรก็ตาม หุ้นบางตัวที่ราคาปรับตัวลงอย่างไม่สมเหตุผล ทั้งที่ภาพรวมธุรกิจและผลประกอบการยังคงดีเยี่ยมอยู่ต่อเนื่อง แต่กลับถูกตลาดด้อยค่า และมีแรงเทขายตามกันออกมา
เพราะอาจจะกังวลกับสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น เกี่ยวกับภาพรวมอุตสาหกรรม หรือปัจจัยที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ที่มากเกินไป จึงทำให้นักลงทุนที่เป็นผู้เล่นกลุ่มหลัก อย่าง นักลงทุนรายย่อย รวมกองทุนทั้งในและต่างประเทศ ต่างแข่งกันเร่งเทขายหุ้นออกมา ในลักษณะ first come first served แบบไร้เหตุผล
“ใครขายก่อน จะได้ราคาดีที่สุด”
หากมองในแง่ ของการลงทุนที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ ด้านความสำเร็จ ของนักลงทุนระดับโลก หรือ แม้แต่ เซียนหุ้นในบ้านเรา ที่มีให้เห็นแล้วว่า “ภาวะเช่นนี้ควรจะเป็นโอกาสในการเข้าซื้อเพื่อการลงทุน”
เพราะเมื่อเวลาผ่านไปความกังวลล่วงหน้าต่างๆ เหล่านี้จะค่อยๆ จางลง และราคาหุ้นเริ่มที่จะหยุดลง ก่อนที่จะพลิกตัว และเริ่มที่จะปรับตัวขึ้นกลับไปหาปัจจัยพื้นฐานที่แท้จริง
เมื่อถึงตอนนั้น ผลสะท้อนจะแสดงให้เห็น ราคาหุ้นที่ปรับตัวขึ้นอย่างรุนแรง และเมื่อพิสูจน์ได้ว่าความกังวลที่ผ่านมาเป็นเพียงการมองในแง่ร้ายเกินไป หรือ เป็นการมองโดยใช้อารมณ์ที่มีอคติ และไม่ได้ตั้งอยู่บนหลักการพื้นฐานของการลงทุน
หุ้นที่เคยถูกขายออกอย่างหนัก เมื่อราคาเริ่มฟื้นตัว นักลงทุนที่เคยลดน้ำหนักลงก็จะกลับมาไล่ซื้อหุ้นคืนเพื่อเพิ่มสัดส่วนในพอร์ตอีกครั้ง เพราะ Performance ของหุ้นดีขึ้น ข่าวดีจะเริ่มกลับมา นักวิเคราะห์ที่เคยปรับประมาณการลดลง และการดาวน์เกรดเรตติ้ง เพื่อให้สอดคล้องกับราคาหุ้น ก็จะเริ่มกลับมาปรับประมาณการกำไรและแนวโน้มของบริษัทให้ดีขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้ คือความไร้เหตุผลที่พบได้เสมอในทุกตลาดหุ้น
สำหรับสิ่งที่อยากย้ำให้ทราบอีกข้อคือ หุ้นพื้นฐานดี ที่ถูกทิ้งลงมาในตอนนี้ สุดท้ายแล้ว กองทุนในและต่างประเทศจะต้องกลับมาซื้อคืนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะหุ้นที่กองทุนซื้อได้มีจำนวนจำกัด
แต่ต้องเลือกหุ้นขนาดใหญ่ที่มีผลประกอบการและกระแสเงินสดที่ดี เพราะนั่น คือ “เจ้ามือตัวจริง” ที่จะ corner หุ้นตัวนั้นๆ
สำหรับหนึ่งตัวอย่างของความน่าตกใจในการใช้อารมณ์ที่ทำให้หุ้นบางตัวลงแบบไร้เหตุผล
ขอยกตัวอย่าง เคสหุ้น MINT ที่ทุกคนทราบกันดีกว่าลงทุนในธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร เป็นหลัก แต่หารู้ไม่ว่า MINT ยังมีการลงทุนถือหุ้นอยู่ใน Pop Mart Thailand ถึง 42%
ประเด็นนี้ เพิ่งมีการเปิดเผยจากบทวิเคราะห์ของ JP Morgan โดยมีการประเมิน Hidden Value Asset จากการถือหุ้นใน Pop Mart Thailand 42% จะมีมูลค่าสูงถึง 2.7 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 8% ของมูลค่ากิจการของ MINT
โดยในปี 2024 MINT ได้รับส่วนแบ่งกำไรจากการถือหุ้นใน Pop Mart Thailand คิดเป็น 8% ของกำไรหลัก (Core profit)
ในช่วงระยะสั้นราคาหุ้นอาจจะพังทลายลงมา แต่ถ้ากำไรยังเติบโตต่อเนื่อง วันหนึ่งภาวะตลาดเอื้ออำนวย หรือ “ฟ้าเปิด” ก็เชื่อว่า ราคาหุ้นเหล่านั้นก็จะกลับมาเป็นพระเอกอีกครั้ง
ธิติ ภัทรยลรดี
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 พ.ค. 68)