
นักวิเคราะห์ฯ คาดแนวโน้มตลาดหุ้นไทยวันนี้แกว่งตัวไซด์เวย์ ถึงแม้ตลาดหุ้นโลกจะปรับตัวลง หลังประธานาธิบดีทรัมป์ขู่เก็บภาษีนำเข้า 50% จากสหภาพยุโรป แต่ได้เลื่อนออกไปจากวันที่ 1 มิ.ย. เป็น 9 ก.ค. แล้ว ส่วนในประเทศยังไม่มีปัจจัยใหม่ นอกจากภาพรวมเศรษฐกิจที่ไม่ดีและผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนที่คาดว่าจะซบเซา สัปดาห์นี้ให้ติดตามสภาฯ พิจารณางบปี 69 และ MSCI Rebalancing ซึ่งหุ้นไทยถูกถอดออกจาก Global Standard 3 ตัว ให้แนวต้าน 1,185 จุด แนวรับ 1,170-1,160 จุด
นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล, CISA ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บล.ทิสโก้ กล่าวว่า แนวโน้มตลาดหุ้นไทยเช้านี้คาดแกว่งไซด์เวย์ ถึงแม้ตลาดหุ้นโลกจะปรับตัวลงกันเป็นส่วนใหญ่เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา โดยมีปัจจัยหลักจากกรณีประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ ขู่ว่าจะเก็บภาษีนำเข้า 50% จากสหภาพยุโรป เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. แต่เมื่อเช้านี้ประธานาธิบดีทรัมป์ ได้เปลี่ยนใจ ระบุผ่านแพลตฟอร์ม Truth Social ว่าจะเลื่อนการเก็บภาษีออกไปเป็นวันที่ 9 ก.ค. แทน
ส่วนในประเทศ ยังไม่มีปัจจัยเชิงบวกใหม่ให้ติดตาม มีแค่ภาพรวมเศรษฐกิจที่ไม่ดีและผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนในไตรมาสที่เหลือของปีที่คาดว่าจะซบเซาตาม สัปดาห์นี้ให้ติดตามสภาผู้แทนราษฎรการพิจารณา พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2569 และข่าว MSCI Rebalancing ซึ่งหุ้นไทยถูกถอดออกจาก Global Standard 3 ตัว อาจจะมีผลกระทบการลงทุน
ให้แนวต้าน 1,185 จุด และแนวรับ 1,170-1,160 จุด
*ประเด็นพิจารณาการลงทุน
– ตลาดหุ้นนิวยอร์ก (23 พ.ค.) ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 41,603.07 จุด ลดลง 256.02 จุด หรือ -0.61%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 5,802.82 จุด ลดลง 39.19 จุด หรือ -0.67% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 18,737.21 จุด ลดลง 188.53 จุด หรือ -1.00%
– ตลาดหุ้นเอเชียเปิดตลาดวันนี้ ดัชนีนิกเกอิตลาดหุ้นญี่ปุ่นเปิดที่ระดับ 37,209.26 จุด เพิ่มขึ้น 48.79 จุด หรือ +0.13%, ดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตตลาดหุ้นจีนเปิดที่ระดับ 3,346.56 จุด ลดลง 1.81 จุด หรือ -0.05% และดัชนีฮั่งเส็งตลาดหุ้นฮ่องกงเปิดที่ระดับ 23,505.90 จุด ลดลง 95.36 จุด หรือ -0.40%
– ตลาดหุ้นไทยปิดล่าสุด (23 พ.ค.) 1,176.36 จุด เพิ่มขึ้น 2.99 จุด (+0.25%) มูลค่าการซื้อขาย 34,683.81 ล้านบาท
– นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ (23 พ.ค.) 1,735.37 ล้านบาท
– ราคาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือน ก.ค. (23 พ.ค.) เพิ่มขึ้น 33 เซนต์ หรือ 0.54% ปิดที่ 61.53 ดอลลาร์/บาร์เรล
– ค่าการกลั่นอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ปิดล่าสุด (23 พ.ค.) อยู่ที่ 7.36 เหรียญ/บาร์เรล
– เงินบาทเปิด 32.56 ทรงตัวรอปัจจัยใหม่ จับตาตัวเลขส่งออกไทย-ทิศทาง Flow
– นับถอยหลัง 9 ก.ค.นี้ หมดมาตรการผ่อนปรนภาษี ตอบโต้ของสหรัฐ ประธานหอการค้าฯเตือนไทยห้ามตกขบวน หากเจรจาไม่สำเร็จโดนภาษีเพิ่ม 36% ป่วนหนัก ไร้ออร์เดอร์ใหม่ ปัญหาลามซัพพลายเชนลดกำลังผลิต หยุดจ้าง ปลดคน กังวลครึ่งปีหลัง ไทยส่งออกสินค้า อัตราภาษี 10% ลอตสุดท้าย 25 พ.ค.นี้ ด้านศูนย์วิจัยกสิกรฯ เผยตัวเลขปิดโรงงานเพิ่มขึ้นทุกเดือน ลดค่าใช้จ่าย ค่าล่วงเวลา “กอบศักดิ์” ชี้ภาคอุตสาหกรรมรายได้หลักของ ประเทศโตต่ำ 5 ไตรมาส สะท้อนเครื่องยนต์ดับ ด้านนานาชาติหลายประเทศเร่งปิดดีลภาษีสหรัฐ ทั้งอังกฤษ จีน และประเทศอาเซียนมีความคืบหน้า
– สินเชื่อหดตัวหนักติดต่อกัน 3 ไตรมาส ลามกระทบรายได้ ค่าธรรมเนียม “ศูนย์วิจัยกสิกรฯ” ประเมินปีนี้ รายได้ค่าฟีแบงก์ทั้งระบบ 1.84 แสนล้านบาท “ไม่โต-เสี่ยงติดลบ” หากเศรษฐกิจไทยซบยาว แบงก์ดิ้นหารายได้ค่าฟีทุกช่องทางชดเชย “เร่งออกบัตรเครดิต/เดบิต ขายหุ้นกู้-กองทุนรวม” ฐากร-ttb ยอมรับรายได้ค่าฟี ท้าทายมาก ฟาก “กรุงศรี” เจาะรายได้ค่าฟีลูกค้าธุรกิจ
– ท่องเที่ยวดิ้น! ขอแบ่งงบขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 3 พันล้านบาท ปั๊มโมเมนตัม โลว์ซีซั่น บูม 3 โครงการกระตุกตลาดระลอกใหญ่ ปูพรมด้วยแคมเปญ “สวัสดี หนีห่าว” เรียกเชื่อมั่นตลาดจีน จากนั้นทุ่มอีก 500 ล้านหนุนแอร์ไลน์บูสต์ตลาดจีน พร้อมอัด 800 ล้านทำ Joint Promotion ร่วมกับแพลตฟอร์ม OTA กระตุ้นนักเดินทางกลุ่มเอฟไอที ตามด้วย “เที่ยวคนละครึ่ง” อีก 1.7 พันล้านปลุกตลาดในประเทศ ประคองรายได้รวมถึง 3 ล้านล้านบาท
– “แบงก์พาณิชย์” เดินหน้า หั่น “ดอกเบี้ย” ตามทิศทาง กนง. หวังช่วยพยุง “ลูกหนี้” ลดภาระ หนุนรับมือเศรษฐกิจไทยเปราะบาง หลังตัวเลข “จีดีพี” ขยายตัวต่ำรั้งท้ายอาเซียน “กสิกรไทย” รับ “ลดดอกเบี้ย” เพื่อสนับสนุนสภาพคล่อง แบ่งเบาภาระเอื้อลูกค้าเพิ่มความยืดหยุ่นทางการเงิน “กรุงไทย” ผุดมาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบเหตุแผ่นดินไหว-ประสบภัยน้ำท่วม
– “คลัง” เร่งแบงก์รัฐอัดมาตรการรับมือผลกระทบภาษีทรัมป์ฉุดเศรษฐกิจ “ออมสิน” ลดดอกเบี้ย 2-3% อุ้มลูกหนี้ส่งออกและซัพพลายเชน EXIM BANK เล็งลดดอกเบี้ยพร้อมช่วยสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียน ธพว.จัดซอฟต์โลนช่วยเอสเอ็มอี 3 หมื่นล้าน ธอส.อุ้มลูกหนี้กลุ่มเฝ้าระวังพิเศษ
– “นายกฯ อิ๊งค์” ยันพร้อมถกงบ 2569 ไม่ต้องติวเข้มหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาล “เพื่อไทย” ตีปี๊บงบ 2569 มีความสำคัญในภาวะสงครามการค้า นิด้าโพลเผยคนส่วนใหญ่ไม่ติดใจหากรัฐบาลเลิกแจกหมื่น “จุลพันธ์” โว สอท.-หอการค้าฯ หนุนตั้งคอมเพล็กซ์ “แอ๊ด คาราบาว” โผล่อัดนโยบายกาสิโน
*หุ้นเด่นวันนี้
– GPSC (ฟินันเซีย ไซรัส) “ซื้อ” ปรับเพิ่มราคาเป้าหมายเป็น 36 บาท จากผลประกอบการไตรมาส 1/68 ที่ดีกว่าคาด และคาดอัตราค่าไฟฟ้าปี 2568 เฉลี่ยอยู่ที่ 4 บาท/หน่วย ซึ่งสูงกว่าสมมติฐานของเราของปี 2568 ที่ 3.76 บาท/หน่วย และคาดแนวโน้มค่าไฟฟ้าเฉลี่ยปี 2569-2570 น่าจะใกล้เคียงกับปี 2568 เราจึงปรับเพิ่มสมมติฐานค่าไฟฟ้าให้สอดคล้องกับนโยบายภาครัฐ ทำให้ประมาณการกำไรปี 2568-25670 ปรับขึ้นเฉลี่ย 30% เป็นเติบโต 17%/13%/10% y-y ตามลำดับ
– CK (กสิกรไทย) ราคาพื้นฐาน 21.50 บาท เรามีมุมมองเชิงบวกต่อ CK มากขึ้นจากผลการประชุมที่ผ่านมาโดยบริษัทมีการปรับเป้าหมายรายได้ในปี 2568 จาก 4 หมื่นขึ้นเป็น 4-5 หมื่นลบ. โดยหลักมาจากงาน M&E ของรถไฟฟ้าสายสีส้ม และแนวโน้มของ GPM ที่คงไว้ราว 7-8% ซึ่งเราคาดกำไรจากการดำเนินงานจะสามารถเติบโตได้ในระดับ 2 หลัก จากการเติบโตของรายได้ที่แข็งแกร่ง GPM ที่อยู่ในระดับสูง และการควบคุม cost ได้อย่างดีประกอบกับดอกเบี้ยจ่ายที่เป็นไปตามคาดการณ์ นอกจากนี้เราคาด CK เป็น tactical call สำหรับกลุ่มก่อสร้างในช่วงที่เราคาดการณ์การโหวต พ.ร.บ.งบประมาณปี 2569 ผ่านไปได้ด้วยดีจะเป็น sentiment เชิงบวกให้กับกลุ่มได้ และปัจจุบัน CK มี valuation ในระดับไม่แพงซื้อขายต่ำ1 เท่า PBV
– KCG (คิงส์ฟอร์ด) “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย IAA Consensus 11.34 บาท กำไรสุทธิไตรมาส 1/68 อยู่ที่ 122 ลบ.(+71%YoY, -25%QoQ) อ่อนตัว QoQ ตามฤดูกาล แต่ YoY โตได้หนุนจากสินค้ากลุ่ม Food and Bakery Ingredient ด้าน KCG เอง วางเป้ารายได้ปี 68 นี้ +High Single Digit%YoY ปัจจัยขับเคลื่อนหลักจะมาจากสินค้าใหม่ ๆ การหาตัวแทนกระจายสินค้าเพิ่มเติม และการให้ความสำคัญกับช่องทางออนไลน์ ขณะที่ในส่วนของต้นทุนค่าใช้จ่ายคาดว่าจะได้ประโยชน์จาก Solar Roof รวมถึงการเปิดใช้งาน KCG Logistic Park ทั้งนี้ ตลาดคาดกำไรสุทธิ KCG* ปี68 และ69 จะอยู่ที่ 468 ลบ.(+15%YoY) และ 516 ลบ.(+10%YoY)
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 พ.ค. 68)
Tags: ตลาดหุ้น, ตลาดหุ้นไทย, หุ้นไทย, อภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล