In Focus: จับตาศึกเลือกตั้งสว. ญี่ปุ่น 20 ก.ค. นี้ เปิด 3 ฉากทัศน์การเมืองหลังปิดหีบ-ชี้ชะตานายกฯ อิชิบะ

ญี่ปุ่นเตรียมเปิดหีบเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาในวันอาทิตย์ที่ 20 ก.ค.นี้ ซึ่งเป็นเหตุการณ์สำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อเสถียรภาพของรัฐบาลชุดปัจจุบัน โดยการเลือกตั้งครั้งนี้น่าจับตาเป็นพิเศษ ท่ามกลางบรรยากาศทางเศรษฐกิจที่ตึงเครียด ความนิยมรัฐบาลที่ลดลง และแรงกดดันจากฝ่ายค้านที่เข้มแข็งมากขึ้น

แม้การเลือกตั้งวุฒิสภาในอดีตจะถูกมองว่าไม่มีอิทธิพลเทียบเท่าสภาผู้แทนราษฎร แต่สำหรับครั้งนี้ ผลลัพธ์ที่ได้อาจส่งผลโดยตรงต่ออนาคตของรัฐบาลผสม และตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี ชิเงรุ อิชิบะ

 

เดิมพันใหญ่ ชี้ชะตาอนาคตรัฐบาล

การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาของญี่ปุ่นนั้นมีขึ้นทุก 3 ปี โดยเมื่อได้รับเลือกตั้งแล้วก็จะอยู่ในวาระจนครบ 6 ปี ในการเลือกตั้งแต่ละครั้ง ก็จะมีการเลือกสมาชิกใหม่เข้ามาครึ่งหนึ่งของสภา เพื่อให้การทำงานด้านนิติบัญญัติมีความต่อเนื่อง ไม่ต้องเปลี่ยนสมาชิกทั้งหมดในคราวเดียว

การหาเสียงสำหรับการเลือกตั้งในวันที่ 20 ก.ค. นี้ ได้เปิดฉากอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 3 ก.ค. โดยมีผู้สมัครประมาณ 520 คน ลงชิงเก้าอี้ 124 ที่นั่ง จากทั้งหมด 248 ที่นั่งในวุฒิสภา รวมถึงอีก 1 ที่นั่งที่ว่างอยู่ในโตเกียวด้วย รวมเป็น 125 ที่นั่งในปีนี้ สมาชิกวุฒิสภาจะมีวาระที่แน่นอน ต่างจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งนายกรัฐมนตรีสามารถยุบสภาและจัดการเลือกตั้งใหม่ได้

สภาผู้แทนราษฎรนั้นถือว่าสะท้อนเจตจำนงของประชาชนได้ตรงกว่า เพราะสมาชิกมีวาระเพียง 4 ปีเท่านั้น ดังนั้น รัฐธรรมนูญของญี่ปุ่นจึงให้อำนาจแก่สภาผู้แทนราษฎรมากกว่า โดยกำหนดให้การตัดสินใจของสภาผู้แทนราษฎรมีผลบังคับใช้เหนือกว่ามติของวุฒิสภา

สำหรับการเลือกตั้งวุฒิสภา ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะได้รับบัตร 2 ใบเพื่อลงคะแนน ใบแรกใช้เลือกผู้แทนจากเขตเลือกตั้งต่าง ๆ รวม 74 ที่นั่ง ส่วนอีกใบใช้เลือกภายใต้ระบบบัญชีรายชื่อ เพื่อเติมเต็มที่นั่งที่เหลือ 50 ที่นั่งจากผู้สมัครในบัญชีของพรรคการเมือง

การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาที่จะมีขึ้นในสุดสัปดาห์นี้ แม้จะดูไม่ได้มีบทบาทสำคัญมากนัก แต่ก็ถือเป็นบททดสอบสำคัญสำหรับรัฐบาลญี่ปุ่นภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี ชิเงรุ อิชิบะ เพราะชัยชนะที่เด็ดขาดจะช่วยสร้างเสถียรภาพทางการเมือง ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นผ่านกฎหมายได้ง่ายขึ้น แต่หากผลลัพธ์ออกมาน่าผิดหวังหรือสูญเสียเสียงข้างมาก อาจนำไปสู่ความไม่แน่นอนทางการเมือง การเปลี่ยนแปลงภายในพรรคเสรีประชาธิปไตย (LDP) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล นอกจากนี้ การที่พรรคแกนนำรัฐบาลญี่ปุ่นอย่าง LDP และพรรคร่วมรัฐบาลอย่างโคเมโตะ (Komeito) มีเสียงข้างน้อยในสภาผู้แทนราษฎรอยู่ในปัจจุบัน ก็จะยิ่งทำให้กระบวนการตัดสินใจซับซ้อนขึ้นหากครองเสียงข้างมากในวุฒิสภาไม่ได้ ทั้งยังจะเข้ามาเพิ่มอำนาจให้กับฝ่ายค้านที่แม้จะกระจัดกระจายแต่ก็กล้าแสดงบทบาทมากขึ้น

นายกรัฐมนตรี ชิเงรุ อิชิบะ ซึ่งควบตำแหน่งหัวหน้าพรรค LDP ด้วยนั้น หวังว่าพรรค LDP และพรรคโคเมโตะ จะคว้าชัยชนะให้ได้อย่างน้อย 50 ที่นั่ง เพื่อให้ได้จำนวนรวม 125 ที่นั่ง ซึ่งรวมถึง 75 ที่นั่งที่ทั้งสองพรรคยังคงครองอยู่และไม่ได้มีการเลือกตั้งในวันที่ 20 ก.ค.นี้ อันเป็นจำนวนที่จะทำให้ฝ่ายรัฐบาลรักษาเสียงข้างมากในวุฒิสภาเอาไว้ได้

 

พรรครัฐบาลเจองานหิน หวั่นเสียเสียงข้างมากทั้งสองสภา

ผลสำรวจความเห็นที่เผยแพร่โดยสื่อหลายสำนักก่อนการเลือกตั้งไม่กี่วันบ่งชี้ว่า พรรคฝ่ายรัฐบาลญี่ปุ่นมีแนวโน้มที่จะสูญเสียเสียงข้างมากในการเลือกตั้งวุฒิสภาในวันที่ 20 ก.ค. นี้ เมื่อคะแนนนิยมของรัฐบาลญี่ปุ่นได้ตกต่ำลงท่ามกลางปัญหาค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาข้าวซึ่งเป็นอาหารหลักของญี่ปุ่น

หนังสือพิมพ์อาซาฮีระบุโดยอ้างอิงผลสำรวจผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งและการรายงานข่าวทั่วประเทศว่า พรรค LDP ของนายกรัฐมนตรี ชิเงรุ อิชิบะ และพรรคโคเมโตะ ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาล อาจต้องพยายามอย่างหนักเพื่อรักษา 50 ที่นั่งที่จำเป็นต่อการครองเสียงข้างมากในวุฒิสภา ขณะที่สำนักข่าวจิจิก็รายงานในทิศทางเดียวกันว่า พรรคฝ่ายรัฐบาลกำลังเผชิญความท้าทายในการหาเสียงและอาจสูญเสียเสียงข้างมากในสภาสูง

ผู้เชี่ยวชาญมองว่า คะแนนนิยมที่ตกต่ำของอิชิบะสะท้อนความไม่พอใจของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งต่อสถานการณ์ปัจจุบัน พร้อมประเมินว่ามีโอกาส 60% ที่พรรคฝ่ายรัฐบาลจะสูญเสียเสียงข้างมากในการเลือกตั้งวุฒิสภา ซึ่งเท่ากับว่ารัฐบาลจะเสียเสียงข้างมากในทั้งสองสภา

 

ส่อง 3 ทิศทางการเมืองญี่ปุ่น หลังศึกเลือกตั้งสว.

แม้ปกติแล้ว การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภามักถูกมองว่าเป็นแค่บททดสอบทางการเมืองสำหรับรัฐบาลชุดปัจจุบัน แต่การเลือกตั้งในวันที่ 20 ก.ค.นี้มีความสำคัญมากกว่าที่เคยเป็นมา ขณะที่การหาเสียงยังคงเข้มข้น ความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับอนาคตของรัฐบาลผสมพรรค LDP-โคเมโตะ กำลังก่อให้เกิดสถานการณ์หลากหลายที่คาดว่าจะทำให้ช่วงหลังเลือกตั้งวุ่นวายไม่น้อย

ในวุฒิสภาที่มี 248 ที่นั่ง การจะได้เสียงข้างมากต้องมี 125 ที่นั่ง ซึ่งปัจจุบันพรรคร่วมรัฐบาลมีอยู่แล้ว 75 ที่นั่ง เพราะที่นั่งเหล่านี้ยังไม่ต้องมีการเลือกตั้งใหม่ในครั้งนี้ เท่ากับว่าในการเลือกตั้งวันที่ 20 ก.ค.นี้ พรรคร่วมรัฐบาลต้องคว้าชัยชนะให้ได้อย่างน้อยที่สุดคือ 50 ที่นั่งเพื่อรักษาเสียงข้างมากไว้ ทว่ามีความเป็นไปได้มากขึ้นเรื่อย ๆ ว่า พรรคร่วมรัฐบาลอาจทำไม่ได้ตามเป้า

หากเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ จะถือเป็นการซ้ำเติมรัฐบาลที่ปัจจุบันก็เป็นเสียงข้างน้อยในสภาผู้แทนราษฎรอยู่แล้ว และจะยิ่งทำให้พรรคฝ่ายค้านมีแรงฮึดขึ้นมาอย่างมาก

อย่างไรก็ดี การเลือกตั้งสว. ไม่เคยกำหนดให้มีการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีในสภาอย่างเป็นทางการ ซึ่งเปิดโอกาสให้นายกรัฐมนตรีชิเงรุ อิชิบะ ยังคงอยู่ในอำนาจได้แม้จะพ่ายแพ้ก็ตาม เพราะภายใต้กฎระเบียบปัจจุบัน การลงมติเลือกหัวหน้ารัฐบาลในรัฐสภาจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีการลงมติในสภาผู้แทนราษฎร หรือเมื่อคณะรัฐมนตรีลาออกทั้งคณะเท่านั้น

 

ผู้เชี่ยวชาญในแวดวงการเมืองญี่ปุ่นมองว่ามี 3 ฉากทัศน์ที่เป็นไปได้หลังศึกสว.

1. พรรคร่วมรัฐบาลรักษาเสียงข้างมากในวุฒิสภาเอาไว้ได้

เป้าหมายที่รัฐบาลผสม LDP-โคเมโตะ ตั้งไว้นั้นถูกมองว่าค่อนข้างต่ำ เพราะหากการเลือกตั้งครั้งนี้ผลออกมาว่าทั้งสองพรรคเสียไปแค่ 16 ที่นั่ง ก็ยังคงทำให้มีเสียงข้างมากอยู่ดี เป้าหมายนี้จึงเป็นเหมือนหลักประกันให้นายกรัฐมนตรีอิชิบะ เพื่อช่วยรักษาหน้าและรั้งตำแหน่งผู้นำประเทศไว้ได้ แม้พรรคร่วมรัฐบาลจะมีผลงานที่ไม่ดีนักก็ตาม

การรักษาเสียงข้างมากในวุฒิสภาเอาไว้ได้ก็จะช่วยตอกย้ำสถานะเดิม ทำให้รัฐบาลสามารถใช้อำนาจนี้ในการสกัดข้อริเริ่มที่ฝ่ายค้านนำเสนอในสภาผู้แทนราษฎร และเร่งการพิจารณาร่างกฎหมายในวุฒิสภาได้ ตัวอย่างเช่น ในช่วงสุดท้ายของการประชุมรัฐสภาครั้งที่แล้ว ร่างกฎหมายยกเลิกภาษีน้ำมันเบนซินผ่านสภาผู้แทนราษฎรไปแล้ว แต่กลับไม่เคยมีการลงมติในวุฒิสภาเลย

อย่างไรก็ดี แม้จะครองเสียงข้างมากไว้ได้ แต่ถ้าได้แค่พอผ่านขั้นต่ำก็อาจจุดชนวนให้เกิดการเคลื่อนไหวภายในพรรค LDP เพื่อพยายามโค่นล้มนายกรัฐมนตรีอิชิบะ และเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ ซึ่งคนใหม่นั้นอาจจะไม่ได้รับการสนับสนุนเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรเพื่อดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

แต่หากชนะอย่างถล่มทลาย ก็อาจทำให้นายกรัฐมนตรีอิชิบะมีสถานะแข็งแกร่งขึ้น และจุดกระแสให้มีการจัดการเลือกตั้งใหม่ในฤดูใบไม้ร่วง เพื่อให้พรรคร่วมรัฐบาลพยายามกอบกู้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรกลับคืนมา

 

2. พรรคร่วมรัฐบาลเสียเสียงข้างมาก แต่อิชิบะยังคงเป็นนายกฯ

การที่คะแนนต่ำกว่าเกณฑ์เสียงข้างมากในวุฒิสภา จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความน่าเชื่อถือของนายกรัฐมนตรีอิชิบะ ในฐานะผู้นำพรรค LDP และผู้นำประเทศ จากที่เดิมทีก็เคยพ่ายแพ้ยับเยินไปแล้วในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปีที่แล้ว แต่ตราบใดที่อิชิบะไม่สมัครใจลาออก ก็ไม่มีขั้นตอนที่เป็นทางการใด ๆ ที่จะบังคับให้นายกรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งได้ แม้พรรคของตนเองจะกดดันอย่างหนักก็ตาม

แนวคิดที่นายกรัฐมนตรีจะยังคงอยู่ในอำนาจได้แม้จะพ่ายแพ้ในวุฒิสภานั้นก็ไม่ใช่เรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้น เพราะเมื่อปี 2553 อดีตนายกรัฐมนตรีนาโอโตะ คัง ก็ยังคงอยู่ในตำแหน่งได้ แม้พรรคประชาธิปไตยแห่งญี่ปุ่น (DPJ) ของเขาจะเสียอำนาจควบคุมในวุฒิสภาไป อย่างไรก็ตาม ในขณะนั้น รัฐบาลผสมที่นำโดยพรรค DPJ มีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร

การเสียเสียงข้างมากในทั้งสองสภา จะบีบให้รัฐบาลต้องยอมสละอำนาจนิติบัญญัติให้แก่ฝ่ายค้าน จากเดิมที่ต้องประนีประนอมกับฝ่ายค้านในทุกร่างกฎหมายในสภาผู้แทนราษฎรอยู่แล้ว

ส่วนการเปิดรับพรรคอื่นเข้าร่วมรัฐบาลก็มีข้อเสีย ทั้งยังจะเผยให้เห็นความเปราะบางของรัฐบาล นอกจากนี้ แนวร่วมรัฐบาลขนาดใหญ่ในญี่ปุ่นเองก็มีประวัติไม่ค่อยดีนัก ดังตัวอย่างแนวร่วมต่อต้าน LDP รวม 8 พรรคในปี 2536 และข้อตกลง 3 ฝ่ายระหว่างพรรค LDP, โคเมโตะ และพรรคลิเบอรัลในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 1990

 

3. LDP-โคเมโตะ เสียเสียงข้างมาก และอิชิบะลาออก

หากนายกฯ อิชิบะตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งเมื่อพรรคร่วมรัฐบาลเสียเสียงข้างมากแล้ว คาดว่าพรรค LDP จะต้องเรียกประชุมเพื่อเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ จากนั้นก็จะพยายามรวบรวมเสียงสนับสนุนในรัฐสภา ซึ่งหากฝ่ายค้านไม่สามารถผนึกกำลังเป็นปึกแผ่นในการลงคะแนนเสียงในรัฐสภาได้ ดังที่เคยเกิดขึ้นเมื่อเดือนพ.ย.ปีที่แล้ว ก็อาจมีการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยขึ้นอีกครั้ง

รัฐบาลผสม LDP-โคเมโตะ อาจตกลงที่จะมอบตำแหน่งนายกรัฐมนตรีให้กับพรรคอื่น เพื่อแลกกับการขยายแนวร่วมรัฐบาลเป็น 3 พรรค ซึ่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่มาจากพรรคอื่นนั้น ก็อาจพิจารณายุบสภาผู้แทนราษฎรในไม่ช้าหลังการเลือกตั้งวุฒิสภาสิ้นสุดลง เพื่อรวมฐานอำนาจของตนเอง

อย่างไรก็ตาม โอกาสที่ฝ่ายค้านจะเกิดความสามัคคีในการลงคะแนนเสียงในรัฐสภา และจัดตั้งรัฐบาลที่นำโดยฝ่ายค้านก็ยังคงมีอยู่ แม้จะดูเป็นไปได้ยากก็ตาม และก็มีแนวโน้มสูงว่าจะเป็นรัฐบาลผสมเช่นกัน เพราะญี่ปุ่นมีพรรคการเมืองกระจัดกระจายค่อนข้างมาก

 

ท้ายที่สุดแล้ว การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาญี่ปุ่นในวันที่ 20 ก.ค.นี้ ไม่ได้ถูกมองว่าเป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างในสภาสูง หากแต่เป็นบททดสอบครั้งสำคัญของรัฐบาลผสม LDP-โคเมโตะ ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีชิเงรุ อิชิบะ ท่ามกลางกระแสความไม่พอใจของประชาชนในเรื่องค่าครองชีพและประสิทธิภาพการบริหารประเทศ

ผลลัพธ์ของการเลือกตั้งครั้งนี้อาจจะเข้ามากำหนดทิศทางการเมืองของญี่ปุ่นอย่างมีนัยสำคัญ ไม่ว่าจะนำไปสู่การรักษาเสถียรภาพเดิม การปรับเปลี่ยนผู้นำ หรือการสั่นคลอนที่อาจเปิดทางให้ฝ่ายค้านก้าวขึ้นมามีบทบาทมากขึ้น ในบริบทที่พรรคการเมืองกระจัดกระจายและสังคมกำลังเผชิญกับความเปลี่ยนแปลง

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 ก.ค. 68)