
ในยุคตลาดซบเซา นักลงทุนมีความเชื่อว่าความเร็ว (Speed) ในการส่งคำสั่งซื้อหรือขายในตลาดหุ้นไทยเป็นหนึ่งปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้นักลงทุนรายย่อยและรายใหญ่ประสบความสำเร็จในการลงทุน
ความเชื่อที่ว่าการเทรดหุ้นแล้วจะ “ชนะ” หรือ “แพ้” อยู่ที่ใครเร็วกว่า คนนั้นชนะ!! จะไม่ถูกพูดถึงในช่วงตลาดคึกคักเป็นขาขึ้นดั่งเช่นช่วงก่อนที่กองทุนวายุภักษ์จะเข้ามาลงทุนจริงในเดือนตุลาคมปีก่อน
แต่เพื่อเป็นการตอบสนองการเรียกร้องขอความเท่าเทียมยุติธรรม ล่าสุด ตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2568 ที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้มีการปรับจูนความเร็วในการสั่งคำสั่งซื้อขายหุ้นใน co-location ที่ HFT ที่ต้องการความเร็วสูง โดยใช้เครื่องมือ Speed Bump ในการหน่วงอัตราความเร็วให้คำสั่งไปช้าลงที่ 0.8 millisecond เพื่อลดความได้เปรียบของการส่งคำสั่งใน Co-location ให้ความเร็วสูงสุดของแต่ละช่องทางที่นักลงทุนทุกประเภทใช้ให้เทียบเคียงกันไม่ว่าส่งคำสั่งจากที่ไหน
การใส่ Speed Bump จะใส่กับทุกโบรกเกอร์ และผู้ให้บริการข้อมูลที่เข้ารับบริการเชื่อมต่อที่ Co-location เพื่อเปิดโอกาสในสิ่งที่อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของตลาดให้ทุกช่องทางสามารถมีความเร็วสูงสุดเท่าเทียมกัน ซึ่งจะทำให้มีความเร็วในการส่งคำสั่งที่ความเร็วสูงสุดเทียบเคียงเหมือนการส่งคำสั่งที่ความเร็วสูงสุดจากนอก Co-location
Co-location คืออะไร?
Co-location คือการที่โบรกเกอร์นำระบบส่งคำสั่งซื้อขายไปวางที่ศูนย์คอมพิวเตอร์ของตลาดหุ้นให้อยู่ใกล้ระบบจับคู่ซื้อขายมากที่สุด เพื่อให้ได้เปรียบเรื่องความเร็วในการเห็นข้อมูลและส่งคำสั่งซื้อขาย
Speed Bump คืออะไร?
Speed Bump หรือ การหน่วงหรือถ่วงความเร็วในการส่งคำสั่งซื้อขายหุ้นและการเห็นข้อมูลของระบบใน Co-location ที่ HFT ใช้ให้ช้าลง ตลาดฯ ถือเป็นเกราะป้องกันผู้ลงทุนในตลาดหุ้นไทย เพื่อลดความได้เปรียบของนักลงทุนบางกลุ่ม ที่ส่งคำสั่งใน co-location โดยเฉพาะกลุ่มที่ใช้อัลกอริทึมความเร็วสูง (High-Frequency Trading: HFT), Algo, Robot ที่สามารถส่งคำสั่งซื้อขายและยกเลิกได้ในระดับ millisecond
ความเร็วที่ว่า เร็วยิ่งกว่าตากระพริบ เพื่อใช้เก็งกำไรหลังจากได้รับข้อมูลของตลาด (data feed) มาประมวลผลผ่านกลยุทธ์การเทรด (algorithm) แล้วส่งคำสั่งซื้อขายกลับไปที่ตลาด
เนื่องจากการซื้อขายหุ้นในยุคดิจิทัล ความเร็วไม่ใช่เพียงข้อได้เปรียบ แต่คือ “อาวุธ” ดังเช่นที่ทุกตลาดหุ้นชั้นนำในโลกส่งเสริม
ล่าสุด ตลาดหุ้นอันดับ 5 ของโลก คือ อินเดีย ประกาศเพิ่มชั้นวางใน Co-location เพื่อรองรับ server อีก 2,500 ตู้ ภายใน 2 ปีข้างหน้า
เพราะความเชื่อในตลาดหุ้นไทยที่ว่าการแข่งขันด้วยความเร็วไปถึงระดับเศษเสี้ยววินาทีระหว่างระบบการซื้อขายความถี่สูง (HFT) ใน co-location ได้ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำในตลาด โดยนักลงทุนทั่วไปไม่มีทางคิดกลยุทธ์การเทรดออกมาแล้วส่งคำสั่งซื้อขายทันก่อนที่ราคาจะถูกฉกฉวยไปโดยอัลกอริทึมที่ส่งออเดอร์ผ่าน Co-location ที่เร็วกว่าช่องทางอื่นๆ
Speed Bump จึงเปรียบเสมือน “ลูกระนาด” ที่อยู่ในซอยบนถนน ที่จะเอามาชะลอความเร็ว แบบไม่มีใครได้เปรียบกว่าใคร
การเทรดหุ้นของนักลงทุนทุกกลุ่ม ในลักษณะ “เก็งกำไร” จากทุกช่องทางก็จะเกิดความเท่าเทียม จากการส่งคำสั่งซื้อขายหุ้น โดยใช้ความหน่วงเวลา ถ่วงเวลา ที่จงใจสร้างขึ้นก่อนคำสั่งวิ่งเข้าระบบจับคู่คำสั่งซื้อขายที่ Co-location ที่ HFT ใช้สร้างความได้เปรียบในการส่งคำสั่งความเร็วสูง โบรกเกอร์ทุกแห่งก็ประหยัดไม่ต้องสรรหาเงินมาลงทุนระบบใน colocation ในภาวะตลาดซบเซาเช่นนี้
แนวคิดการมี Speed Bump นี้ในปัจจุบันไม่ใช่มีแค่ในตลาดไทย ที่ IEX Exchange ในประเทศสหรัฐฯ ก็เป็นอีกแห่งที่มีใช้มาก่อนเช่นกัน
การที่ตลาด IEX มาชะลอความเร็วนั้น ทำโดยใส่สายไฟเบอร์ออปติกที่ยาวถึง 38 ไมล์ (ประมาณ 61 กิโลเมตร) ม้วนเป็นขดอยู่ในห้องเซิร์ฟเวอร์เปิดแอร์เย็นๆ เพื่อสร้างความหน่วงเวลาประมาณ 350 ไมโครวินาที ให้กับคำสั่งซื้อขายทั้งหมดที่เข้ามายังระบบ
ความล้ำของแนวคิดพิเศษนี้อยู่ตรงที่มันเป็นการหน่วงเวลาทางกายภาพ (physical delay) ซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ จะแตกต่างจากการปรับแต่งซอฟต์แวร์ที่อาจถูกเจาะผ่านเทคนิคขั้นสูงได้
ในทางเทคนิค สายไฟเบอร์ออปติกแม้จะมีน้ำหนักเบากว่าสายทองแดง แต่เมื่อนำมายืดถึง 38 ไมล์ น้ำหนักรวมอาจสูงถึง 1.8 ตัน ซึ่งต้องออกแบบการม้วนและรองรับอย่างประณีต เพื่อไม่ให้เกิดความร้อน การโค้งหัก หรือการลดคุณภาพของสัญญาณ
ระบบ Speed Bump แบบนี้มีความเสถียรสูงและไม่ทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนในการจับคู่คำสั่ง แต่จะช่วยลดโอกาสที่ HFT หรือ หุ่นยนต์ใดๆ จะใช้เทคนิค latency arbitrage เช่น การตรวจจับราคาของหลักทรัพย์สองประเภทที่เกี่ยวข้องกันเช่นหุ้นสามัญกับวอแรนท์และ DW หรือดัชนีตลาดและราคาฟิวเจอร์ส
ทั้งนี้ แม้ Speed Bump อาจขัดขวางกลไกเสรีของตลาดหุ้น แต่ยังมีบางฝ่ายก็เห็นว่า “การสร้างความยุติธรรมด้านความเร็ว” เป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะเมื่อเทคโนโลยีเริ่มสร้างความได้เปรียบแบบสุดโต่ง
ส่วนแนวคิดประเภทเดียวกันแต่อ่อนกว่า Speed Bump คือการให้มี minimum resting time ที่ใช้การหน่วง 10 millisecond สำหรับคำสั่งยกเลิก (cancel order) โดยมีใช้ในบางตลาด อาทิ แคนาดา ยุโรป และเอเชีย เริ่มทดลองแนวทางนี้
ในท้ายที่สุด Speed Bump ไม่ใช่เพียงกลยุทธ์ทางเทคนิค แต่เป็นเครื่องมือในการออกแบบตลาดที่คิดว่ามีความรับผิดชอบเพื่อให้มีภาพของการแข่งขันที่เท่าเทียมในแต่ละช่องทาง ไม่ใช่ว่า ใครใช้ช่องทางเร็วกว่า คนนั้นชนะ!!
ต่อจากนี้ไป ตลาดหุ้นไทยจะถูกพิสูจน์ถึงความสามารถที่แท้จริงของผู้ลงทุนแต่ละกลุ่มในการทำกำไร เฟ้นหาหุ้นเทพ มากกว่าที่จะมาชนะกันด้วยการเทรดที่ความเร็วเพียงอย่างเดียว เพราะทุกช่องทางถูกปรับให้มีโอกาสเท่าเทียมกัน คนที่ใช้ co-location เจอมาตรการให้ช้าลงหมด
หวังว่านี่จะเป็นมาตรการสุดท้ายที่จะสามารถทำให้นักลงทุนรายย่อย-รายใหญ่ มีใจสู้ และมีความกล้ามาเคาะขวาให้พอร์ตหุ้นสวย แล้วรวยไปด้วยกัน
ธิติ ภัทรยลรดี
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 ก.ค. 68)