
นายวิวรรธน์ ไกรพิสิทธิ์กุล ประธานคณะกรรมาธิการการพาณิชย์ และการอุตสาหกรรม วุฒิสภา กล่าวว่า กรณีที่อินโดนีเซียยอมหั่นภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ เหลือ 0% ส่งผลให้สหรัฐฯ ยอมลดภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariff) ลงเหลือ 19% จากเดิม 32% นั้น หากทีมไทยแลนด์เลียนแบบกลยุทธ์ของอินโดนีเซีย และเวียดนามที่ยอมทุกอย่าง จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจ SME ของไทยอย่างมหาศาล โดยเฉพาะในภาคเกษตรและปศุสัตว์ ซึ่งเป็นห่วงโซ่อุปทานที่สำคัญของประเทศ หากเปิดเสรีมากเกินไปจะทำให้ SME ไทยที่ตกอยู่ในภาวะลำบากอยู่แล้วจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำมาหลายปี ยิ่งประสบปัญหาหนักขึ้นไปอีก จนอาจถึงขั้นล้มหายตายจาก และกระทบถึงความมั่นคงทางอาหารของประเทศได้
“ผมคิดว่า การเจรจาที่เปิดให้หมด แล้วไม่ได้มองถึง SME ของชาติ ของประชาชนที่กำลังลำบาก เพราะเศรษฐกิจของเรา ตกต่ำมาหลายปี เราต้องแก้ไขเรื่อง SME ให้สามารถอยู่รอดได้ เพราะหนี้สาธารณะเราเยอะ แม้มูลค่าการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ จะอยู่ที่ 1.9 ล้านล้านบาท คิดเป็น 18% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด แต่เมื่อเทียบกับเวียดนาม ที่ส่งออกไปสหรัฐฯ ถึง 30% ผมคิดว่าไทยไม่ควรเลียนแบบเวียดนาม เนื่องจากต้องต่อรองในหลายสิ่งที่ไทยเสียเปรียบ ซึ่งจะกระทบกลุ่ม SME หรือความมั่นคงของภูมิภาค” นายวิวรรธน์ กล่าว
ประธาน กมธ.การพาณิชย์ฯ กล่าวว่า ไทยควรยอมรับการถูกเก็บภาษีที่ 36% ซึ่งสามารถชดเชยให้กับผู้ส่งออกไปสหรัฐฯ ได้ด้วยการลดภาษีช่วยเหลือ 10% และหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำมาช่วยชดเชย โดยรัฐบาลต้องแบกรับภาระส่วนหนึ่ง เอกชนผู้ส่งออกต้องบูรณาการส่วนหนึ่ง และธนาคารต้องให้ความช่วยเหลืออีกส่วนหนึ่ง ซึ่งจะดีกว่าการยอมทุกอย่าง แล้วมากระทบวงกว้าง โดยเฉพาะกับ SME ของไทย
ประธาน กมธ.การพาณิชย์ฯ กล่าวว่า มีสินค้าบางประเภทจากสหรัฐฯ ที่ไทยสามารถให้ภาษี 0% ได้อย่างไม่มีปัญหา คือ ปุ๋ยเคมี ซึ่งจะส่งผลดีต่อเกษตรกรไทย ทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำลง และช่วยแก้ปัญหา PM 2.5 ที่เกิดจากการขยายพื้นที่ปลูกข้าวโพดตามตะเข็บชายแดน เพื่อชดเชยการขาดแคลนในประเทศได้ เนื่องจากไทยมีความต้องการปุ๋ยเคมีประมาณ 7 ล้านตัน/ปี แต่ผลิตได้เพียง 4 ล้านล้านตัน/ปี การนำเข้า 3 ล้านล้านตัน/ปี จะช่วยลดการบุกรุกพื้นที่ป่า และลดฝุ่น PM 2.5 ได้
นอกจากนี้ การเปิดเสรีในส่วนของพลังงาน และเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น เครื่องยนต์ หรือเครื่องบิน ก็เป็นสิ่งที่ไทยขาดแคลน และจำเป็นต้องนำเข้าอยู่แล้ว ซึ่งจะช่วยลดการเกินดุลการค้าได้
“ผมอยากให้ทีมไทยแลนด์ ทำอะไรด้วยความรอบคอบ อย่าเร่งรีบ ผมว่าทั้งอินโดฯ หรือเวียดนาม มีส่วนเร่งรีบ เลยกลายเป็นว่าสิ่งที่อยากจะได้ อย่างที่ทราบข่าวมาว่าเวียดนาม ต่อรองขอให้เหลือ 11% เท่านั้น แต่ได้มา 20% ตัวเองเสนอทุกอย่างเลย” นายวิวรรธน์ กล่าว
ในระยะยาว ไทยสามารถหาตลาดใหม่ๆ ได้ เช่น ตลาด EU หรือตลาดแอฟริกา ซึ่งอาจทดแทนตลาดสหรัฐฯ ได้บางส่วน แต่หากรัฐบาลสามารถชดเชยเรื่องภาษีหรือเรื่องดอกเบี้ย ทำให้ต้นทุนถูกลง 16% แต่ยังสามารถขายสินค้าได้ในราคาเดิม ก็ไม่จำเป็นต้องยอมทุกอย่าง เพราะจะกระทบ SME ไทยในที่สุด
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 ก.ค. 68)