IRPC เร่งคุมต้นทุน-ลดหนี้ดันผลงานฟื้นส่องหาช่องจัดการสินทรัพย์เพิ่มกระแสเงินสด เห็นสัญญาณสเปรดดีขึ้น

นางสาวเอธิตา อนันตธุรการ ผู้จัดการฝ่ายอาวุโส การเงินและนักลงทุนสัมพันธ์ บมจ.ไออาร์พีซี [IRPC] กล่าวถึงทิศทางการดำเนินในไตรมาส 2/68 ว่า หลังจากการขาดทุนสูงในไตรมาส 1/68 ทำให้บริษัทต้องบริหารจัดการต้นทุนให้เข้มงวดมากขึ้น และจัดตั้งวอร์รูมรับมือปัจจัยเสี่ยงอย่างใกล้ชิด ขณะที่สเปรดน่าจะพื้นตัวต่อเนื่องหลังจากเริ่มมีสัญญาณดีขึ้นตั้งแต่ปลายเดือนเม.ย. เชื่อว่าจะเป็นปัจจัยหนุนผลประกอบการไตรมาสนี้

“ไตรมาส 2/68 เราพยายามที่จะบริหารจัดการทุกส่วนของผลประกอบการให้ดีขึ้น จากไตรมาสก่อน แต่ถ้ามีปัจจัยเรื่องเศรษฐกิจ ที่นอกเหนือการควบคุมอาจมีผลกระทบ เป็นตัวหน่วงผลประกอบการ”นางสาวเอธิตา กล่าว

ในปี 68 บริษัทมีนโยบายยกระดับการดำเนินงานต่อเนื่อง โดยปีนี้เกิดสถานการณ์ความเสี่ยงต่าง ๆ มากขึ้น ทำให้บริษัทได้ปรับกลยุทธ์เข้มงวดขึ้น โดยจะนำสินทรัพย์ที่มีอยู่มาสร้างรายได้ (Asset Monetization) ซึ่งยังไม่สามารถบอกชัดได้ว่าผลประกอบการในปีนี้จะเป็นบวกหรือเป็นลบ แต่คาดว่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้น จากต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ลดลง รวมทั้งคาดว่าจะมีกำไรจากการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน และการบริหารจัดการเงินลงทุนบริษัทในเครือ

สำหรับสถานการณ์ปิโตรเคมีตกต่ำค่อนข้างลากยาว ทำให้มีความกังวลต่อการดำเนินงาน สภาพคล่องและเครดิตเรตติ้งของบริษัท ซึ่งได้รับผลกระทบจากสภาพเศรษฐกิจ ซึ่งกระทบทั่วโลก สิ่งที่บริษัททำได้คือการควบคุมดูแลค่าใช้จ่าย ยกระดับการดำเนินงาน (Uplift) การทำ Asset monetization ทั้งในส่วนที่เป็นท่าเรือและแทงค์ฟาร์ม ซึ่งมีการศึกษามาตั้งแต่ปี 67 จะมีการจัดที่ดินบางส่วนเพื่อขายให้กับนักลงทุนที่ประกอบธุรกิจอุตสาหกรรมต่าง ๆ ซึ่งปัจจุบันมีการเข้าไปคุยกับพาร์ทเนอร์แล้ว ประกอบกับในกลุ่ม บมจ.ปตท. [PTT] มีนโยบายการทำ Asset monetization ทำให้มีการเข้าไปบริหารจัดการ ท่าเรือและแทงค์ฟาร์มอย่างจริงจัง ทำให้มีความคืบหน้าเร็วขึ้น

รวมทั้งแผนจัดการเงินลงทุนบริษัทในเครือ จะพยายามยกระดับบริษัทลูกด้วย ซึ่งอาจมีบางส่วนที่มีการเจรจาเพื่อขายเงินลงทุนให้กับนักลงทุนรายอื่นสนใจ เพื่อที่บริษัทได้กระแสเงินสดเข้ามาในช่วงปลายปีนี้ต่อเนื่องจนถึงปีหน้า โดยกระแสเงินสดที่เข้ามาจากการแปลงสินทรัพย์เป็นทุนกับการบริหารจัดการเงินลงทุนของบริษัทลูก จะนำมาใช้ในสิ่งจำเป็นเร่งด่วน อาทิ การจัดการภาระหนี้สินทั้งดอกเบี้ยและภาระคืนหนี้ระยะยาว รวมทั้งบริหารสภาพคล่อง แม้ช่วงนี้สเปรดปิโตรเคมีและสเปรดน้ำมันบางส่วนเริ่มฟื้น ดังนั้นบริษัทจะนำเงินส่วนที่เหลือจากการดูแลภาระหนี้ มาใช้บริหารจัดการให้มีสภาพคล่องที่เพียงพอในธุรกิจของบริษัท อย่างไรก็หลังจากพ้น 3 ปีนี้ไป นักวิชาการหลายแห่งคาดการณ์ว่าธุรกิจปิโตรเคมีน่าจะกลับมาฟื้นตัว

สำหรับราคาน้ำมันดิบที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ทำให้ราคาปรับตัวลดลง ซึ่งบริษัทจะพยายามสร้างสมดุลโดยลด Inventory ลง จากที่ระดับ 10 ล้านบาร์เรล จะปรับลดให้เลือกประมาณ 7 ล้านบาร์เรล เพื่อลด Stock Loss ได้บางส่วน

นางสาวมนทกานติ์ นาราช ผู้จัดการอาวุโส นักลงทุนสัมพันธ์ IRPC กล่าวว่า ทิศทางค่าการกลั่นในไตรมาส 2-3/68 คาดสเปรดอยู่ในระดับทรงตัวหรือดีขึ้นเล็กน้อย ได้แรงหนุนจากภูมิภาคที่มีการก่อสร้างและขนส่งในทวีปเอเชียสนับสนุนการใช้น้ำมันดีเซล ประกอบกับสหรัฐเข้าสู่ฤดูการขับขี่ (Driving Season) สนับสนุนความต้องการใช้น้ำมันเบนซิน

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยกดดันจากความกังวลความไม่แน่นอนนโยบายการค้าของสหรัฐ ที่อาจกระทบต่อเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย กดดันความต้องการใช้ปิโตรเลียมบางส่วน นอกจากนี้การประกาศโควต้าการส่งออกสินค้าของจีน ครั้งที่ 2 จะกดดันต่อดีมานด์ดีเซล และเบนซินได้

สำหรับประเด็นที่กลุ่มโอเปกพลัส เตรียมเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นอีก ระบุว่าต้องติดตามภาพรวมตลาดก่อนว่าราคาน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์จะเปลี่ยนแปลงอย่างไร หากราคาลดลงแต่สเปรดยังคงที่อยู่ก็ไม่น่าจะกระทบกับบริษัทโดยตรง

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 พ.ค. 68)

Tags: , ,
Back to Top