
น.ส.ชญาน์นันท์ ติยะตระการชัย ประธานคณะอนุกรรมาธิการการคลังใน กมธ.การเศรษฐกิจ การเงินและการคลัง วุฒิสภา เรียกร้องรัฐบาลเตรียมการให้รอบคอบต่อแผนรัดเข็มขัดเนื่องจากจัดเก็บรายได้ลดลง ซึ่งจากการติดตามการเสนอร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2569 วงเงิน 3.78 ล้านล้านบาท อนุ กมธ.ฯ ได้เชิญ 3 หน่วยงานจัดเก็บรายได้ คือ กรมสรรพากร กรมสรรพสามิต และกรมศุลกากร มาชี้แจง พบว่า ประมาณการจัดเก็บรายได้มีแนวโน้มต่ำกว่าเป้าหมายรวมกันมากถึงแสนล้านบาท แม้ว่ารัฐบาลจะมีรายได้จากทางอื่น แต่จากการพิจารณาปัจจัยเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น เช่น สภาพคล่องของครัวเรือนมีปัญหา ราคาสินค้าเกษตรกรตกต่ำ มาตรการภาษีนำเข้าของสหรัฐอเมริกา และค่าใช้จ่ายในส่วนของการประกันราคาพืชผลเกษตรกร ซึ่งถือเป็นสัญญาณอันตราย
ความเสี่ยงข้างต้นจะกระทบรายได้ที่ประมาณการไว้ และหากไม่มีการทบทวนหรือจัดการงบประมาณรายจ่าย จะทำให้ประเทศเสี่ยง ขาดดุลทะลุ 1.2 ล้านล้านบาท
“งบปี 69 เป็นการจัดทำในช่วงเดือน ต.ค.67 ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่จะมีเหตุการณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้น โดยในรายละเอียดของร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 69 นั้นพบโครงการที่สะท้อนความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ น้อยมาก ซึ่งอยากเห็นการรัดเข็มขัด รวมถึงการปฏิรูป เปลี่ยน แก้ และปรับ เช่น ในปี 68-70 ใช้แทนกันได้ ส่วนงบประมาณที่ใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจนั้นอาจจะอยู่ในส่วนของงบกลาง ซึ่งยังไม่เห็นรายละเอียดที่ชัดเจน นอกจากนั้นแล้วในการดำเนินโครงการเติมเงินผ่านดิจิทัลวอลเลตของรัฐบาลที่ชะลอออกไป ถือเป็นการแสดงสปีริตของรัฐบาล ที่แสดงความเป็นสุภาพบุรุษเพราะยอมถอย และปรับตามงบประมาณที่จำเป็น” น.ส.ชญาน์นันท์ กล่าว
ด้านนายศรายุทธ ยิ้มยวน ในฐานะ กมธ.เศรษฐกิจ การเงินและการคลัง วุฒิสภา กล่าวว่า ตนขอเรียกร้องให้รัฐบาลใช้งบอย่างมีประสิทธิภาพ ควบคุมและตรวจสอบได้ และในแง่ของการลงทุนต่าง ๆ ควรต้องปฏิรูป โดยเฉพาะการสร้างตึกขนาดใหญ่ที่ใช้งบประมาณ สูงถึง 100-1,000 ล้านบาท ควรพิจารณาในแง่ความจำเป็น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 พ.ค. 68)
Tags: งบประมาณรายจ่าย, ชญาน์นันท์ ติยะตระการชัย, เศรษฐกิจไทย