“เฮียฮ้อ” ยันไม่ทิ้ง RS ลุยพลิกฟื้นธุรกิจ แก้หนี้-ลดค่าใช้จ่าย-เล็งตัดขายสินทรัพย์เติมสภาพคล่อง

นายสุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ กรรมการบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.อาร์เอส [RS] ยืนยันพร้อมทีมบริหารว่ายังคงมุ่งมั่นและทุ่มเทอย่างเต็มที่ในการบริหารจัดการ แก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของกลุ่ม RS และจะดำเนินการในทุก ๆ มิติ ทั้งการปรับโครงสร้างทางเงิน ปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจ เพื่อให้ RS turnaround กลับมาอย่างรวดเร็วที่สุด

“ผมมั่นใจว่าเราจะสามารถผ่านช่วงเวลานี้ แล้วพลิกฟื้นกลับมาได้ ในระยะเวลาอันสั้น” นายสุรชัย กล่าวถึงทิศทางการดำเนินธุรกิจของกลุ่ม RS หลังจากเผชิญสารพัดปัญหา โดยเฉพาะผลประกอบการไตรมาส 1/68 พลิกเป็นขาดทุนถึง 274 ล้านบาท และยังมีภาระหนี้สินเกือบ 3 พันล้านบาทที่อาจถูกเจ้าหนี้เรียกให้ชำระหนี้คืน

นายวิทวัส เวชชบุษกร กรรมการบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน RS กล่าวว่า บริษัทได้วางแผนลดต้นทุนและเพิ่มรายได้ พร้อมทั้งเจรจากับสถาบันการเงินแล้ว หลังจากวันที่ 31 มี.ค.68 บริษัทและบริษัทย่อยผิดนัดชำระดอกเบี้ย 27.48 ล้านบาท ทำให้ให้สถาบันการเงินมีสิทธิเรียกชำระคืนเงินกู้เกือบ 3 พันล้านบาทได้ และหุ้น RS ถูกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยขึ้นเครื่องหมาย CB

ทั้งนี้ เงินกู้ของกลุ่ม RS แบ่งออกเป็น RS มีเงินกู้ยืมระยะสั้น 940.20 ล้านบาท ระยะยาวจำนวน 831.32 ล้านบาท และบริษัทย่อยมีเงินกู้ยืมระยะสั้นอีก 225.23 ล้านบาท หนี้ระยะยาว 878.57 ล้านบาท

ขณะที่บริษัทมีแนวทางการแก้ไขเครื่องหมาย CB ดังนี้

1. การบริหารต้นทุนและควบคุมค่าใช้จ่าย คาดว่าจะสามารถลดต้นทุนโดยรวมได้ประมาณ 400-450 ล้านบาทต่อปี

ในส่วนแรก เป็นการปรับโครงสร้างพนักงานเพื่อให้บริษัทมีความคล่องตัว และสอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจมากยิ่งขึ้น โดยจะลดตำแหน่งงานซ้ำซ้อน ซึ่งตั้งแต่ต้นปีก็ได้ลดพนักงานไปมากกว่า 100 คนแล้ว ทำให้อัตราพนักงานน้อยกว่าปีก่อนประมาณ 20-25% อีกทั้งส่งเสริมศักยภาพของพนักงานปัจจุบันให้ดียิ่งขึ้นเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการบริหารและการให้บริการ คาดว่าจะช่วยลดต้นทุนประมาณ 170 ล้านบาทจากปีก่อน

ส่วนที่สอง เป็นการปรับพื้นที่สำนักงานบางส่วนให้มีความเหมาะสมกับการใช้งานจริง โดยจะทบทวนและปรับลดการใช้พื้นที่ที่ไม่จำเป็น เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการบริหาร คาดว่าค่าใช้จ่ายในส่วนนี้จะลดลงประมาณ 80-90 ล้านบาทจากปีก่อน

และส่วนที่สาม ควบคุมค่าใช้จ่ายในส่วนอื่นให้มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในด้านการตลาดและโฆษณา ให้เหลือไม่เกินร้อยละ 10 ของรายได้รวม หลังจากปี 67 มีค่าใช้จ่ายในการตลาดค่อนข้างสูง โดยจะปรับให้สอดคล้องกับแนวทางการทำธุรกิจหลักยิ่งขึ้น เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการขาย คาดว่าจะช่วยลดต้นทุนประมาณ 150 ล้านบาทจากปีก่อน

2. การจำหน่ายสินทรัพย์ที่ไม่ใช่ธุรกิจหลักเพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงินให้เห็นเป็นรูปธรรมอย่างเร่งด่วน โดยจะมุ่งเน้นไปที่บริษัทย่อย หรือแบรนด์ที่ไม่อยู่ในกลยุทธ์หลัก ที่ยังคงมีมูลค่าทางการตลาด และแนวโน้มการดำเนินธุรกิจได้ดี เช่น กลุ่มธุรกิจสัตว์เลี้ยง คาดว่าจะสามารถเพิ่มรายได้ประมาณ 250-350 ล้านบาท และลดต้นทุนในการบริหารเพิ่มเติมได้อีก

3. การปรับโครงสร้างหนี้ โดยบริษัทได้ดำเนินการเจรจากับสถาบันการเงินอย่างต่อเนื่อง เพื่อหาแนวทางการบริหารภาระหนี้ที่เหมาะสมร่วมกัน รวมถึงพิจารณาปรับเงื่อนไขการ ชำระคืนหนี้โดยพิจารณาจากความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทเป็นหลัก ที่สอดคล้องกับสภาพคล่องของบริษัทในปัจจุบัน คาดว่าจะสามารถเจรจากับสถาบันเงินได้เสร็จภายในไตรมาส 2/68

นอกจากนี้ RS และบริษัทย่อยได้เร่งปรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ เพื่อรักษาระดับของกระแสเงินสดและสภาพคล่องของกลุ่มบริษัท ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นด้วย

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 พ.ค. 68)

Tags: , ,
Back to Top