
นิตยสาร “ฉิวชื่อ” (Qiushi) ซึ่งเป็นสื่อสิ่งพิมพ์กระบอกเสียงสำคัญของพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ตีพิมพ์บทความในวันอังคาร (1 ก.ค.) เรียกร้องให้ทางการเข้าควบคุมการแข่งขันทางธุรกิจที่นำไปสู่ “สงครามราคา” (Price Wars) อย่างจริงจัง เนื่องจากสภาวะดังกล่าวได้กัดกร่อนผลกำไรในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ พร้อมทั้งวิพากษ์วิจารณ์พฤติกรรมที่ไม่เป็นธรรมของบริษัทขนาดใหญ่และหน่วยงานรัฐบาลท้องถิ่น
บทความชิ้นนี้ถือเป็นคำเตือนที่หนักแน่นที่สุดจากพรรคคอมมิวนิสต์เกี่ยวกับความเสี่ยงของภาวะกำลังการผลิตล้นเกินในภาคอุตสาหกรรม (Industrial Overcapacity) โดยชี้ว่าปรากฏการณ์นี้ทำให้ “สิ้นเปลืองทรัพยากรของสังคมอย่างมหาศาล” และก่อให้เกิดหนี้สินที่ไม่ยั่งยืน ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว
บทความซึ่งเขียนภายใต้นามปากกา ได้เจาะจงไปที่ปัญหา “การแข่งขันที่รังแต่จะฉุดรั้งกันเอง” (Involutionary Competition) ซึ่งเป็นสภาวะที่บริษัทต่าง ๆ และแม้กระทั่งรัฐบาลท้องถิ่น พากันทุ่มเงินลงทุนมหาศาลเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งตลาด แต่สุดท้ายกลับไม่มีใครได้ผลกำไรเพิ่มขึ้น เพราะความต้องการซื้อในตลาดโดยรวมนั้นมีจำกัด
บทความได้ยกตัวอย่างอุตสาหกรรมที่กำลังเผชิญปัญหานี้อย่างชัดเจน เช่น โซลาร์เซลล์, แบตเตอรี่ลิเทียม, รถยนต์ไฟฟ้า (EV) และบรรดาแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ
นิตยสารฉิวชื่อระบุว่า เพื่อตัดลดต้นทุนให้ได้มากที่สุด บริษัทบางแห่งยอมลดคุณภาพสินค้าลง ซึ่งเป็นการบั่นทอนนวัตกรรม และไม่จูงใจให้เกิดการลงทุนเพื่อวิจัยและพัฒนา (R&D) ท้ายที่สุดแล้วผลเสียก็ตกอยู่กับผู้บริโภค ดังคำกล่าวที่ว่า “เงินเลวไล่เงินดี”
ขณะเดียวกัน บริษัทอีกหลายแห่งก็นำเงินไปทุ่มกับการขยายกำลังการผลิต แต่กลับชะลอการจ่ายเงินให้แก่ซัพพลายเออร์และผู้รับเหมา ซึ่งเป็นการสร้างแรงกดดันและบีบคั้นไปทั่วทั้งห่วงโซ่อุตสาหกรรม
ส่วนบรรดาแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ก็ใช้ความได้เปรียบของตนผลักภาระแรงกดดันไปยังร้านค้าที่ใช้บริการแพลตฟอร์ม เพื่อให้ไปถึงมือผู้บริโภคในท้ายที่สุด
นอกจากนี้ บทความนี้ยังได้วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นซึ่งเป็นเรื่องที่พบเห็นได้ไม่บ่อยนัก โดยกล่าวหาว่า มีพฤติกรรมทั้งแบบ “ละเลยและก้าวก่าย”
กล่าวคือ ในด้านหนึ่ง เจ้าหน้าที่กลับปล่อยปละละเลย ไม่ได้เข้ามาควบคุมดูแลอย่างที่ควรจะเป็น เพราะกฎระเบียบที่มีอยู่ตามไม่ทันรูปแบบธุรกิจและอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว อีกทั้งกลไกการจัดการบริษัทที่ประสบปัญหาจนต้องล้มละลายก็ยังไม่มีประสิทธิภาพพอที่จะช่วยลดปริมาณสินค้าล้นตลาดได้
แต่ในอีกด้านหนึ่ง รัฐบาลท้องถิ่นบางแห่งที่มุ่งแต่จะสร้างการเติบโตระยะสั้น ก็กลับใช้นโยบายดึงดูดการลงทุนแบบผิด ๆ ด้วยการให้สิทธิพิเศษทางภาษี ลดค่าธรรมเนียม แจกเงินอุดหนุน หรือให้ใช้ที่ดิน รวมถึงการออกมาตรการกีดกันทางการค้าเพื่อปกป้องธุรกิจในพื้นที่ของตน
แม้บทความของฉิวชื่อจะไม่ได้กล่าวถึงภาวะเงินฝืดโดยตรง แต่ก็ได้เตือนว่า จีนอาจกำลังเผชิญกับ “ภาวะยึดติดกับโมเดลการพัฒนา” และจำเป็นต้องมีการปฏิรูปเชิงโครงสร้างด้านอุปทานเพื่อลดกำลังการผลิตส่วนเกิน ควบคู่ไปกับยุทธศาสตร์ในการขยายอุปสงค์ภายในประเทศ อย่างไรก็ตาม บทความได้ยอมรับว่าเรื่องนี้ต้องใช้เวลา
“การแก้ไขปัญหาการแข่งขันแบบฉุดรั้งกันเองนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่เกี่ยวพันกันหลายระบบ ซับซ้อนเกินกว่าจะแก้ไขให้ลุล่วงได้ในชั่วข้ามคืน หรือใช้ยาแรงขนานเดียวแล้วจะได้ผล” นิตยสารฉบับดังกล่าวระบุ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 ก.ค. 68)