
นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน กล่าวว่า แนวโน้มค่าไฟงวดใหม่ในเดือน ก.ย.-ธ.ค.68 ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) กำหนดว่าจะต้องไม่เกิน 3.99 บาทต่อหน่วย แต่ขณะนี้กระทรวพลังงานอยู่ระหว่างบริหารจัดการพยายามปรับลดลงให้ต่ำกว่า 3.98 บาทต่อหน่วย
ปัจจุบันต้นทุนการผลิตไฟฟ้ามาจากหลายส่วน โดยหน่วยงานหลักที่รับซื้อไฟฟ้าจากภาคเอกชน คือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ปัจจุบันพบว่ารูปแบบการรับซื้อไฟฟ้าเปลี่ยนไป แต่กฎหมายยังไม่เปลี่ยน เป็นอีกส่วนหนึ่งที่กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างดำเนินการ ซึ่งการรับซื้อไฟฟ้าจากเอกชนในอดีตที่ผ่านมาเป็นปัญหาที่สุด เพราะเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ไปแล้ว ไม่สามารถตรวจดูได้ โดยอ้างว่าเป็นความลับ ซึ่งกระทรวงฯ อยู่ระหว่างการแก้กฎหมายดังกล่าว
ขณะที่สัญญา Take or Pay เป็นเงื่อนไขการรับซื้อไฟ ดังนั้นสัญญาจำเป็นจะต้องมีกฎเกณฑ์ให้มากกว่านี้ ซึ่ง กฟผ.และเอกชนไปตกลงกัน มองว่าสิ่งที่ขาดอยู่ในประเทศไทย คือ สัญญาหน่วยงานของรัฐต้องอยู่บนมาตรฐานของหลักกฎหมายกลาง แต่วันนี้ยังไม่มี ซึ่งต่างคนก็ต่างเขียน ต่างคนก็ต่างไปทำ
รมว.พลังงาน ยังเปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานส่งเสริมการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปในบ้านอยู่อาศัยโดยใช้มาตรการทางภาษีให้สามารถหักลดหย่อนภาษีเงินได้ถึงสูงสุด 200,000 บาทรวมทั้งเตรียมนำร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้พลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 20 ก.ค.นี้ เพื่อเปลี่ยนระบบการขออนุญาตให้เป็นการแจ้งเพื่อทราบ เพื่อให้สามารถติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปได้ทันที
นอกจากติดตั้งง่ายแล้วกระทรวงฯ ยังมองว่าค่าใช้จ่ายการติดตั้งอยู่ในระดับสูง 1.5-1.7 แสนบาท ดังนั้นจึงขอความร่วมมือจากบริษัทที่ผลิตโซลาร์เซลล์นำมาจำหน่ายให้คนไทยในราคาพิเศษ ประกอบกับ พัฒนาเครื่อง Inverter ของคนไทย ซึ่งเป็นอุปกรณ์สำคัญในการติดตั้งระบบโซลาร์ ปัจจุบันเครื่องต้นแบบได้ผ่านการตรวจสอบมาตรฐานจาก สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.) แล้ว เชื่อว่าจะทำให้ราคาลดลงมาได้ รวมค่าติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปจะลงมาอยู่ที่ประมาณ 85,000-90,000 บาท
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 ก.ค. 68)