SCB EIC ชี้ลดหย่อนภาษีติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปตรงใจผู้บริโภคแต่ยังไม่พอแนะรัฐออกมาตรการเสริม

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ระบุว่า เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2025 ครม. อนุมัติมาตรการลดหย่อนภาษีสำหรับการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปในที่อยู่อาศัย สูงสุดไม่เกิน 2 แสนบาท แต่มาตรการยังไม่มีผลบังคับใช้จนกว่าจะมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยผู้ขอใช้สิทธิต้องเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่ 1 (บ้านอยู่อาศัย) และเป็นผู้มีเงินได้ตามมาตรา 40 (1)-(8) ของประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ระบบที่ติดตั้งต้องเป็นแบบ On-grid ซึ่งเป็นการเชื่อมต่อกับโครงข่ายของการไฟฟ้า โดยกำหนดขนาดไม่เกิน 10 กิโลวัตต์ และต้องมีเอกสารประกอบการติดตั้งครบถ้วน

มาตรการดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในพลังงานแสงอาทิตย์จากภาคครัวเรือน ท่ามกลางแนวโน้มค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้นและความตื่นตัวของประชาชนต่อพลังงานสะอาด อย่างไรก็ตาม มาตรการยังไม่มีผลบังคับใช้จนกว่าจะมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังอยู่ระหว่างจัดทำรายละเอียด และยังไม่มีกำหนดวันที่แน่ชัดในการประกาศใช้

มาตรการลดหย่อนภาษี จะเป็นแรงจูงใจที่ช่วยให้ภาคครัวเรือนตัดสินใจติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปได้ง่ายขึ้น ประเทศไทยมีศักยภาพสูงในการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟท็อปภาคครัวเรือน โดยกระทรวงพลังงานระบุว่าในปี 2023 ศักยภาพรวมอยู่ที่ราว 121,000 เมกะวัตต์ ขณะที่ปริมาณการติดตั้งสะสมในปี 2022 ยังอยู่เพียง 1,893 เมกะวัตต์ หรือประมาณ 1.6% ของศักยภาพทั้งหมด สะท้อนว่าการติดตั้งยังสามารถเติบโตได้อีกมาก

ผลสำรวจความคิดเห็นผู้บริโภคของ SCB EIC ในช่วงต้นปี 2025 พบว่า 80% ของผู้ตอบแบบสอบถาม 2,257 ราย สนใจติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป แต่ยังไม่ตัดสินใจ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากต้นทุนในการติดตั้งอยู่ในระดับสูง มาตรการลดหย่อนภาษี 200,000 บาทจึงคาดว่าว่าจะช่วยให้ผู้บริโภคบางส่วนตัดสินใจติดตั้งได้ง่ายขึ้น เนื่องจากจะช่วยลดภาระภาษีได้ราว 6,100-50,000 บาท ซึ่งจะเป็นแรงจูงใจส่วนหนึ่งในการตัดสินใจลงทุน นอกจากนี้ มาตรการดังกล่าวยังถือเป็น สัญญาณเชิงนโยบายจากภาครัฐ ที่แสดงถึงความจริงจังในการสนับสนุนพลังงานสะอาดจากภาคประชาชน

แม้มาตรการลดหย่อนภาษีจะเป็นหนึ่งในแรงจูงใจที่ตรงใจผู้บริโภค แต่ยังไม่ใช่สิ่งที่ประชาชนต้องการมากที่สุดจากภาครัฐ โดยจากผลสำรวจของ SCB EIC พบว่า ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับ “การให้เงินอุดหนุนการติดตั้ง” มากที่สุด (26% ของผู้ตอบแบบสอบถาม) รองลงมาคือ “การลดหย่อนภาษีจากค่าใช้จ่ายในการติดตั้ง” (20%)

ขณะที่ความต้องการอื่น ๆ ที่ผู้บริโภคอยากให้รัฐสนับสนุนเพิ่มเติม ได้แก่ การปลดล็อกการขายไฟฟ้าได้อย่างเสรี (15%) การเสนอขายระบบโซลาร์รูฟท็อปในราคาที่ถูกกว่าตลาด (14%) การรับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินในอัตราเดียวกับราคาขายปลีก (13%) และการผ่อนปรนขั้นตอนการขออนุญาตติดตั้ง (12%) สะท้อนให้เห็นว่า ผู้บริโภคต้องการ “แพ็กเกจนโยบาย” ที่ครบถ้วน ทั้งในมิติของต้นทุน การเข้าถึงระบบ และสิทธิประโยชน์หลังการติดตั้ง

นอกจากนี้ มาตรการลดหย่อนภาษีอย่างเดียวยังไม่เพียงพอ เนื่องจากยังมีอุปสรรคสำคัญที่ส่งผลต่อการตัดสินใจติดตั้ง โดยจากผลสำรวจของ SCB EIC พบว่า ผู้บริโภคยังเผชิญอุปสรรคสำคัญ 3 ด้านในการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป ได้แก่ 1) การตรวจสอบความน่าเชื่อถือและราคาที่เหมาะสมของผู้ให้บริการติดตั้ง ซึ่งประชาชนจำนวนมากยังไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลที่ชัดเจนและเปรียบเทียบได้ 2) ข้อจำกัดในการจัดหาเงินส่วนตัว โดยกว่า 50% ของผู้ติดตั้งใช้เงินสดและการจัดหาเงินส่วนตัวเพื่อจ่ายเองซึ่งเป็นอุปสรรคที่สำคัญที่สุดในการหาแหล่งเงินทุนในการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป ซึ่งสะท้อนความต้องการแหล่งเงินทุนที่เข้าถึงง่ายของผู้บริโภค และ 3) ความยุ่งยากของกระบวนการขออนุญาตจากภาครัฐ ทั้งในด้านการติดต่อหน่วยงาน, การเตรียมเอกสาร และการนัดตรวจสอบสถานที่ติดตั้ง ซึ่งยังเป็นอุปสรรคต่อการตัดสินใจของผู้บริโภค

SCB EIC เสนอ 3 แนวทางที่จะเป็นมาตรการเสริมสำหรับภาครัฐในการสนับสนุนการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปในภาคครัวเรือนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะในระยะสั้นควรเร่งดำเนินการอย่างน้อย 3 ด้าน ได้แก่

1) จัดทำระบบรับรองคุณภาพอุปกรณ์และผู้ให้บริการติดตั้งแบบสมัครใจ (Voluntary certification program) เพื่อช่วยให้ผู้บริโภคสามารถเลือกผู้ให้บริการที่เชื่อถือได้

2) แบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายผ่านมาตรการอุดหนุนและสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ร่วมกับสถาบันการเงิน เพื่อให้เข้าถึงเงินทุนได้ง่ายขึ้น

และ 3) ลดความยุ่งยากของขั้นตอนการขออนุญาต โดยจัดตั้งระบบ One-stop service สำหรับการติดตั้งในที่อยู่อาศัย

นอกจากนี้ ในระยะยาว ภาครัฐยังสามารถพิจารณาออกมาตรการเสริมเพิ่มเติม เช่น การเปิดเสรีการขายไฟฟ้า และการรับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินในราคาขายปลีก (Net-metering) เพื่อเร่งการขยายตัวของพลังงานแสงอาทิตย์ในระดับครัวเรือนอย่างยั่งยืน

ภาคเอกชนสามารถมีบทบาทสำคัญในการผลักดันการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปในภาคครัวเรือน โดยเฉพาะใน 3 ด้านหลัก ได้แก่ 1) การสร้างความน่าเชื่อถือของผู้ให้บริการติดตั้ง ผ่านการให้ข้อมูลและคำแนะนำทั้งในส่วนของผลิตภัณฑ์และความเหมาะสมในการติดตั้ง ข้อมูลราคาที่โปร่งใส ตลอดจนมีการรับประกันและบริการหลังการขาย เพื่อช่วยลดอุปสรรคในการตัดสินใจของผู้บริโภค และ 2) การพัฒนาแหล่งเงินทุนที่เข้าถึงง่าย ผ่านการร่วมมือระหว่างผู้ให้บริการติดตั้งและสถาบันการเงิน เช่น สินเชื่อเช่าซื้อดอกเบี้ยต่ำเพื่อติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป เพื่อช่วยให้ผู้บริโภคที่ต้องการติดตั้งแต่มีข้อจำกัดด้านเงินทุนสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น และ 3) ผู้ให้บริการติดตั้งควรมีบริการขออนุญาตติดตั้งแทนผู้บริโภคในกรณีที่ยังไม่มี เนื่องจากผู้บริโภคจำนวนมากยังเผชิญปัญหาในการขออนุญาตติดตั้งเอง

นอกจากนี้ ผู้ให้บริการสามารถเสนอลดราคาอุปกรณ์และค่าติดตั้ง เพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคหันมาติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปมากขึ้น เนื่องจากผลการสำรวจผู้บริโภคของ SCB EIC พบว่า การได้รับส่วนลดเป็นหนึ่งในปัจจัยเสริมสำคัญที่จะทำให้ผู้บริโภคหันมาติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป หากทุกภาคส่วนทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ ประเทศไทยจะสามารถปลดล็อกศักยภาพพลังงานแสงอาทิตย์ที่กระจายอยู่ทั่วทุกหลังคาบ้าน และเดินหน้าสู่ระบบพลังงานสะอาดอย่างแท้จริง

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 ก.ค. 68)