Power of The Act: ความพร้อมของกฎหมายไทยในการรองรับธุรกิจชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าผ่าน EVSE

การชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพจะต้องอาศัยอุปกรณ์ที่มีศักยภาพในการ “สื่อสาร” กับผู้จำหน่ายไฟฟ้า เพื่อให้การดึงและรับเอาหน่วยไฟฟ้านั้นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ แม้ว่าอุปกรณ์ที่ใช้ในการชาร์จนั้นจะมิใช่อุปกรณ์ผลิตไฟฟ้า แต่ทำหน้าที่เป็น “จุดรับและจ่าย” พลังงานจากระบบจำหน่ายไปยังยานยนต์ไฟฟ้า ทั้งยังเป็น “จุดสื่อสาร” ที่สะท้อนความต้องการใช้ไฟฟ้าจริงจากฝั่งผู้ใช้ว่ามี “Demand” หน่วยไฟฟ้าของยานยนต์ไฟฟ้าเท่าใด ระบบจะต้อง “จ่าย” ไฟฟ้าจำนวนเท่าใด เวลาใด และอาจใช้ข้อมูลที่ได้จากอุปกรณ์ที่จ่ายพลังงานไฟฟ้าในการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าได้ดียิ่งขึ้น

ข้อมูลต่าง ๆ เหล่านี้จะช่วยให้การบริหารจัดการระบบโครงข่ายไฟฟ้ามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น แต่คำถามคือหน้าที่ในการใช้อุปกรณ์ชาร์จไฟฟ้าในการสื่อสาร การส่งและรับข้อมูลซึ่งอาจรวมถึงข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าจากอุปกรณ์ หากผู้ใช้งานอุปกรณ์นั้นเป็นเจ้าของแบรนด์ยานยนต์ที่ “แถม” อุปกรณ์ชาร์จพร้อมบริการที่เกี่ยวข้องมาด้วยแล้วเจ้าของแบรนด์ยานยนต์จะถือเป็นผู้ประกอบกิจการพลังงานตามกฎหมายในปัจจุบันหรือไม่

 

*EVSE คืออะไร

Electric Vehicle Supply Equipment หรือ “EVSE” โดยสมาคมผู้ผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้าแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (National Electrical Manufacturers Association หรือ “NEMA”) ได้ให้คำนิยามว่าหมายถึง “อุปกรณ์ที่จ่ายพลังงานไฟฟ้าให้กับยานยนต์ไฟฟ้า และใช้พลังงานนั้นเพื่อชาร์จแบตเตอรี่ของยานยนต์ไฟฟ้า” EVSE ประกอบด้วยองค์ประกอบหลักสองส่วน ได้แก่ ส่วนที่เป็นฮาร์ดแวร์ (Hardware) และส่วนที่เป็นซอฟต์แวร์ (Software) ทั้งสองส่วนนี้ทำงานร่วมกันเพื่อให้ระบบการชาร์จมีความปลอดภัย มีประสิทธิภาพ และสามารถสื่อสารกับผู้ใช้งานหรือระบบภายนอกได้

ส่วนฮาร์ดแวร์ของ EVSE นั้นมีองค์ประกอบทางกายภาพ เช่น สายไฟ เต้าเสียบ ตัวนำไฟฟ้า กล่องควบคุม อุปกรณ์วัดหน่วยไฟฟ้า รวมถึงระบบความปลอดภัย เช่น เซอร์กิตเบรกเกอร์ อุปกรณ์ตัดไฟเมื่อเกิดความผิดปกติ ระบบกราวด์ และการป้องกันไฟรั่ว อุปกรณ์เหล่านี้มีบทบาทสำคัญในการรับ-จ่ายไฟให้กับรถยนต์ไฟฟ้าอย่างปลอดภัย

ส่วนซอฟต์แวร์ของ EVSE นั้นทำหน้าที่ควบคุมและจัดการกระบวนการชาร์จอย่างชาญฉลาด โดยรวมถึงระบบควบคุมและการสื่อสาร เช่น โปรโตคอล OCPP (Open Charge Point Protocol) สำหรับการเชื่อมต่อกับระบบจัดการสถานีชาร์จ ระบบสื่อสารระหว่างรถกับ EVSE เช่น ISO 15118, ระบบคิดค่าบริการ และการจัดเก็บข้อมูลการใช้งาน ทั้งนี้ ซอฟต์แวร์ถือเป็นสมองของระบบ EVSE ที่ทำให้เกิดความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการ และรองรับการใช้งานที่หลากหลายในอนาคต เช่น Smart Charging และ Vehicle-To-Grid (V2G)

 

*ผู้ใช้งาน EVSE และรูปแบบการให้บริการที่เกี่ยวข้อง

เมื่อการชาร์จยานยนต์ไฟฟ้านั้นเป็นการนำเอาไฟฟ้าจากระบบ (เช่นระบบจำหน่าย) ไปใส่ในตัวยานยนต์ไฟฟ้าผ่าน EVSE ผู้ใช้งาน EVSE ณ จุดที่ไฟฟ้าไหลออกสู่ปลายทางคือ ผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้า จึงเป็นผู้ใช้งาน EVSE กลุ่มแรก และเมื่อตัว EVSE ไม่ได้ผลิตไฟฟ้าได้เองแต่เป็นทางผ่านของไฟฟ้าจากระบบจำหน่ายไฟฟ้าแล้ว EVSE จึงจะต้องทำงานร่วมกับระบบโครงข่ายไฟฟ้า ดังนั้น ผู้ใช้งานที่มีการตอบสนองกับ EVSE ในกลุ่มที่สองจึงได้แก่ผู้ประกอบกิจการระบบจำหน่ายไฟฟ้า เช่น กฟน. หรือ กฟภ. และตัว EVSE นั้นอาจเป็นสิ่งที่เจ้าของแบรนด์ยานยนต์ไฟฟ้าให้มาพร้อมกับยานยนต์ที่ตนขายและอาจให้บริการติดตั้ง EVSE ณ ที่พักอาศัยของผู้ใช้ยานยนต์ด้วย ดังนั้น ผู้ใช้งาน EVSE กลุ่มที่สามย่อมได้แก่ตัวเจ้าของแบรนด์ยานยนต์ไฟฟ้า

ผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้ามีความหลากหลายและครอบคลุมถึงประชาชนทั่วไปและผู้ใช้ในภาคธุรกิจการให้บริการขนส่ง เช่น รถแท็กซี่ หรือรถขนส่งเชิงพาณิชย์ โดยผู้ใช้งานกลุ่มนี้อาจเลือกติดตั้ง EVSE ภายในบ้านหรือคอนโดมิเนียม (Home Charging) และใช้ไฟฟ้าในอัตราครัวเรือน ซึ่งเป็นผู้ขอเชื่อมต่อไฟฟ้ากับโครงข่าย หรือเลือกใช้สถานีชาร์จสาธารณะ (Public Charging) ที่ให้บริการโดยผู้ประกอบการเอกชน

กฟน. และ กฟภ. ซึ่งเป็นเจ้าของระบบจำหน่ายและเป็นผู้ให้บริการจำหน่ายไฟฟ้า มีบทบาทสำคัญในการกำหนดมาตรฐานการเชื่อมต่ออุปกรณ์ EVSE เข้ากับระบบไฟฟ้า รวมถึงการกำกับดูแลด้านความปลอดภัยทางไฟฟ้า การจัดการโหลดไฟฟ้าในพื้นที่ และการควบคุมการจ่ายไฟฟ้าให้มีความเสถียร ซึ่งเป็นภารกิจที่รองรับการขยายตัวของยานยนต์ไฟฟ้าในระดับชุมชนและเมือง

และแม้การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายนั้นจะไม่ได้เป็นผู้ให้บริการสถานีอัดประจุโดยตรง แต่ก็มีสถานะเป็นผู้ประกอบกิจการพลังงานในฐานะผู้รับใบอนุญาตระบบจำหน่ายและใบอนุญาตจำหน่ายไฟฟ้าตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 ในฐานะเจ้าของระบบจำหน่าย การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายจะมีบทบาทสำคัญในการกำหนดแนวทางที่ชัดเจนในการติดตั้งและเชื่อมต่อ EVSE โดยเฉพาะในกรณีที่ผู้ใช้ทั่วไปหรือนิติบุคคลอื่นดำเนินการติดตั้ง EVSE ที่เชื่อมต่อกับระบบโครงข่าย ซึ่งอาจส่งผลต่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้าโดยรวม

ในขณะที่เจ้าของแบรนด์ยานยนต์ก็มีบทบาทสำคัญในห่วงโซ่การให้บริการ EVSE ทั้งในฐานะผู้จำหน่ายยานยนต์ไฟฟ้าและในฐานะผู้ส่งเสริมให้เกิดโครงสร้างพื้นฐานรองรับการชาร์จ เจ้าของแบรนด์ยานยนต์สามารถให้บริการติดตั้ง EVSE แบบ Home Charging ควบคู่กับการขายรถยนต์ไฟฟ้า เช่น การแถมเครื่องชาร์จพร้อมติดตั้งถึงบ้าน หรือการจับมือกับพันธมิตรเพื่อจัดแพ็กเกจบริการแบบเบ็ดเสร็จ นอกจากนี้ บางรายยังลงทุนในเครือข่ายสถานีชาร์จสาธารณะ (Public Charging Network) ของตนเอง หรือร่วมทุนกับผู้ให้บริการสถานีชาร์จรายอื่น เพื่อขยายจุดให้บริการในห้างสรรพสินค้า ปั๊มน้ำมัน หรือพื้นที่สาธารณะ

ในด้านเทคโนโลยี เจ้าของแบรนด์ยานยนต์บางรายได้ลงทุนพัฒนาและใช้งานแพลตฟอร์มดิจิทัลของตนเองเพื่อให้ผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าสามารถค้นหาสถานีชาร์จ จองเวลา ตรวจสอบสถานะการชาร์จ หรือชำระค่าบริการได้แบบทันท่วงทีตามเวลาจริง ทั้งยังเริ่มพัฒนาระบบจัดการข้อมูลการชาร์จ (EV Charging Data Management System) ที่สามารถวิเคราะห์พฤติกรรมการใช้งานและเชื่อมต่อกับบริการหลังการขาย เช่น การคำนวณค่าพลังงาน การให้คำแนะนำในการชาร์จประหยัด และระบบการจัดการฟลีทรถเชิงพาณิชย์

 

*ธุรกิจจำหน่ายไฟฟ้า

ผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้ามีทางเลือกในการชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า รูปแบบการให้บริการของสถานีอัดประจุไฟฟ้าสามารถจำแนกออกเป็นหลายลักษณะตามสถานที่ติดตั้ง ผู้ให้บริการ และรูปแบบทางธุรกิจ โดยมีลักษณะที่สำคัญสามประเภท ได้แก่ การให้บริการภายในบ้านพักอาศัย (Home Charging) การให้บริการภายในสถานประกอบการ (Private Charging) และการให้บริการสาธารณะ (Public Charging)

ในกรณีของ Home Charging ผู้ใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าจะติดตั้งอุปกรณ์ EVSE ภายในบ้านหรือคอนโดมิเนียม โดยใช้ไฟฟ้าตามอัตราค่าไฟบ้าน โดยไม่มีการคิดค่าบริการหรือจำหน่ายไฟฟ้าให้บุคคลภายนอก จึงไม่ถือเป็นการประกอบกิจการพลังงานตามกฎหมายพลังงาน อย่างไรก็ดี ต้องดำเนินการติดตั้งโดยช่างที่ได้รับอนุญาต และแจ้งการไฟฟ้าในกรณีที่มีการเพิ่มโหลดหรือเปลี่ยนขนาดมิเตอร์

แท่นชาร์จอาจตั้งอยู่ภายในสถานประกอบการ เช่น อาคารสำนักงาน โรงแรม หรือมหาวิทยาลัย เพื่ออำนวยความสะดวกแก่พนักงานหรือแขกขององค์กร โดยอาจไม่คิดค่าบริการ การตั้งและใช้งานแท่นชาร์จเหล่านี้โดยเจ้าของสถานประกอบการหรือเจ้าของสถานที่ไม่ถือเป็นการผลิตและไม่ใช่การจำหน่ายไฟฟ้าจึงไม่เข้านิยามของการประกอบกิจการไฟฟ้าตามนิยามที่กำหนดโดยพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550เจ้าของสถานประกอบการหรือเจ้าของสถานที่ยังคงมีสถานะเป็นผู้ใช้ไฟฟ้ามิใช่ผู้ประกอบกิจการพลังงาน

แม้ว่าผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าจะมิได้มีสถานะเป็นผู้ประกอบกิจการพลังงานตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 อย่างไรก็ตาม ผู้ใช้งาน EVSE ยังคงต้องปฏิบัติตาม มาตรฐานการติดตั้งที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยและประสิทธิภาพที่การไฟฟ้ากำหนด เมื่อมีการติดตั้ง EVSE ในพื้นที่ของตนเอง เช่น ในบ้านพักอาศัย มาตรฐานเหล่านี้รวมถึง การปฏิบัติตามข้อกำหนดการเชื่อมต่อของการไฟฟ้านครหลวง (MEA) หรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) เช่น การใช้เครื่องตัดวงจรและอุปกรณ์ป้องกันไฟฟ้าช็อต (RCD) ที่เหมาะสม การใช้สายไฟที่มีขนาดและประเภทเหมาะสม ตามมาตรฐานสากล เช่น IEC 60227 การใช้ปลั๊กและหัวจ่ายไฟที่รองรับมาตรฐานการชาร์จ EV

แต่หากเจ้าของสถานประกอบการหรือเจ้าของสถานที่เปิดให้สาธารณชนเข้ามาใช้งานและรับบริการชาร์จไฟฟ้าจากแท่นชาร์จ โดยมีการคิดค่าบริการเชิงพาณิชย์ กรณีนี้ เจ้าของสถานประกอบการหรือเจ้าของสถานที่จะเข้าสู่ตลาดการเป็นผู้จำหน่ายไฟฟ้าผ่านสถานีอัดประจุไฟฟ้า จึงต้องขอใบอนุญาตจำหน่ายไฟฟ้าสำหรับสถานีอัดประจุไฟฟ้าจาก กกพ. ซึ่งระเบียบคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานว่าด้วยการขอรับใบอนุญาตและการอนุญาตการประกอบกิจการพลังงาน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2560

ในกรณีที่องค์กรธุรกิจมีการก่อสร้างและใช้งานสถานีอัดประจุไฟฟ้าสาธารณะในห้างสรรพสินค้าหรือ สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง จะถือเป็นการให้บริการพลังงานไฟฟ้าแก่สาธารณชน ซึ่งตกอยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 ผู้ให้บริการต้องได้รับใบอนุญาตระบบจำหน่ายไฟฟ้าจาก กกพ. และปฏิบัติตามมาตรฐานการติดตั้ง และมาตรฐานการเชื่อมต่อที่กำหนด

 

*ธุรกิจระบบจำหน่ายไฟฟ้า

กฟน. และ กฟภ. มีสถานะเป็น “ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการพลังงาน” ตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 และมีหน้าที่ตามมาตรา 81 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 ออกข้อกำหนดทางเทคนิค การติดตั้ง และการเชื่อมต่อ EVSE เข้ากับระบบโครงข่ายไฟฟ้า ข้อกำหนดเหล่านี้มีวัตถุประสงค์เพื่อไม่ให้ผู้ที่ขอเชื่อมต่อ EVSE กับระบบโครงข่ายใช้ไฟฟ้าเกินโหลดที่กำหนดซึ่งส่งผลต่อความมั่นคงของระบบโครงข่ายทั้งระบบ

ดังนั้นแล้ว การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายจึงมีหน้าที่สำคัญในการกำกับ ตรวจสอบ และดูแลการเชื่อมต่อของผู้ขอเชื่อมระบบโครงข่าย รวมถึงมีบทบาทสนับสนุนการใช้งาน EVSE โดยไม่ได้เป็นผู้ให้บริการสถานีอัดประจุโดยตรง ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้ไฟฟ้าและความสอดคล้องกับมาตรฐานที่กำหนดโดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ

กฟน. และ กฟภ. มีหน้าที่ตามมาตรา 92 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 ต้องเผยแพร่แบบสัญญาการให้บริการของตน โดยจะต้องทำตาม “แบบ” ที่สอดคล้องกับประกาศคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เรื่อง มาตรฐานของสัญญาการให้บริการไฟฟ้า พ.ศ. 2558

ข้อ 7 ของประกาศดังกล่าวกำหนดให้แบบสัญญานั้นจะต้องมีสาระสำคัญเกี่ยวกับมาตรฐานและคุณภาพในการให้บริการไฟฟ้าตลอดจนเงื่อนไขในการให้บริการไฟฟ้า จึงมีความเป็นไปได้ที่การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายจะกำหนดให้ ผู้ใช้งานยานยนต์ที่ชาร์จไฟฟ้าผ่าน EVSE ในลักษณะ Home Charging มีหน้าที่ต้องดำเนินการให้มีการรับส่งข้อมูลการใช้งาน EV หรือ การยินยอมให้ควบคุมโหลดไฟฟ้า เช่น การสั่งหยุดหรือจำกัดกำลังการชาร์จในช่วงเวลาที่ระบบไฟฟ้ามีความต้องการสูง (Demand Response หรือ Load Control) เพื่อให้ระบบโครงข่ายสามารถรองรับการเชื่อมต่อเพื่ออัดประจุได้อย่างมั่นคงโดยต้องผ่านการพิจารณาเห็นชอบจาก กกพ. ล่วงหน้า

 

*ธุรกิจจำหน่ายและบริการของเจ้าของแบรนด์ยานยนต์ไฟฟ้า

หากเจ้าของแบรนด์ยานยนต์ผลิตหรือนำเข้าอุปกรณ์ EVSE ด้วยตนเอง ก็จะตกอยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 และกฎหมายลำดับรองที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพและความปลอดภัยตัวผลิตภัณฑ์ โดยมี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม คณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เป็นองค์กรกำกับดูแลหลัก

เจ้าของแบรนด์ยานยนต์ (รวมถึงผู้ผลิต ผู้นำเข้า หรือตัวแทนจำหน่าย) นั้นนอกจากจะขายตัวยานยนต์ไฟฟ้าให้กับผู้ใช้ยานยนต์แล้ว ยังสามารถบริการติดตั้งอุปกรณ์ EVSE ประเภท Home Charger ภายในบ้านผู้ใช้ ณ จุดนี้ บริการคือการใช้งาน EVSE เท่านั้นมิได้จำหน่ายไฟฟ้า ดังนั้น จึงไม่เข้าข่ายเป็นผู้ประกอบกิจการพลังงานในความหมายของพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550

แต่ในกรณีที่เจ้าของแบรนด์ยานยนต์ดำเนินการติดตั้งสถานีชาร์จไฟฟ้าสาธารณะ และเปิดให้บุคคลทั่วไปเข้ามาใช้บริการชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า โดยมีการคิดค่าบริการตามหน่วยไฟฟ้าที่ใช้จริง เช่น คิดเป็นกิโลวัตต์ชั่วโมง (kWh) ซึ่งลักษณะเช่นนี้อาจถือเป็นการจำหน่ายพลังงานไฟฟ้าซึ่งเจ้าของแบรนด์ยานยนต์จะต้องขอใบอนุญาตจำหน่ายไฟฟ้าสำหรับสถานีอัดประจุไฟฟ้าจาก กกพ.

ในทางเทคนิค การใช้งาน EVSE จะมีการเก็บรวบรวม ส่ง และใช้ข้อมูลเพื่อประสิทธิภาพในการชาร์จไฟฟ้า โดย EVSE ทำหน้าที่ควบคุมระบบชาร์จและจัดเก็บข้อมูลต่างๆ ของผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าซึ่งเป็นลูกค้าของตน ซึ่งเจ้าของแบรนด์ยานยนต์จะเป็นผู้รวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลของผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้า กรณีนี้ เจ้าของแบรนด์ยานยนต์จะมีสถานะเป็นผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล (Data Controller) ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (PDPA) หรือหากว่าเจ้าของแบรนด์ยานยนต์จ้างและสั่งให้บุคคลอื่นประมวลผลข้อมูลเหล่านี้แทนแล้ว บุคคลที่ประมวลผลตามคำสั่งจะมีสถานะเป็นผู้ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล (Data Processor) ตาม PDPA

หน้าที่หลักของเจ้าของแบรนด์ยานยนต์ไฟฟ้าในฐานะที่เป็นผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลนั้น ก่อนหรือขณะที่จะเก็บรวบรวม ใช้ และเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้งาน EVSE ต่อบุคคลที่สาม จะต้องแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) ให้ผู้ใช้งานรับทราบตามที่ PDPA มาตรา 23 กำหนด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแจ้งวัตถุประสงค์ของการเก็บรวบรวมเพื่อการนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้หรือเปิดเผยซึ่งรวมถึงวัตถุประสงค์ตามที่ มาตรา 24 ให้อำนาจในการเก็บรวบรวมได้โดยไม่ต้องขอความยินยอมจากเจ้าของ ข้อมูลส่วนบุคคล โดยหากไม่ปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนด คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (ส.ค.ส) มีอำนาจลงโทษทางปกครองได้

กรณีมีข้อสังเกตว่า เจ้าของแบรนด์ยานยนต์นั้นอาจจะต้องร่วมมือกับการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายเพื่อให้การรับส่งข้อมูล (ซึ่งรวมถึงข้อมูลส่วนบุคคล) ที่เก็บรวบรวมผ่าน EVSE นั้นสนับสนุนการทำงานของระบบจำหน่ายและการจำหน่ายไฟฟ้า ในฐานะเจ้าของและผู้ให้บริการระบบโครงข่ายไฟฟ้า กฟน. และ กฟภ. สามารถกำหนดในสัญญาให้บริการจำหน่ายไฟฟ้ากับผู้ใช้ยานยนต์ (ในฐานะผู้ใช้ไฟฟ้า) โดยกำหนดว่าหากผู้ใช้ไฟฟ้าหรือผู้เชื่อมต่อมีการใช้งาน EVSE ซึ่งมีการเก็บรวบรวม ส่งและแลกเปลี่ยนข้อมูลการใช้งานยานยนต์ (ซึ่งอาจให้บริการโดยเจ้าของแบรนด์ยานยนต์) ผู้ใช้ไฟฟ้าหรือผู้เชื่อมต่อจะดำเนินการให้เจ้าของแบรนด์ยานยนต์นั้นมีหน้าที่ในการส่งข้อมูลการใช้ยานยนต์และการใช้ไฟฟ้าไปยังการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายด้วย

ในกรณีที่การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายออกสัญญามาตรฐานที่กำหนดให้ผู้ใช้ไฟฟ้าซึ่งเป็นผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าที่มีการชาร์จยานยนต์แบบ Home Charging จะต้องส่งหรือดำเนินการให้มีการส่งข้อมูล (ซึ่งผู้ขอใช้ไฟฟ้าอาจทำ สัญญาหรือข้อตกลงที่มีข้อกำหนดชัดเจนว่าเจ้าของแบรนด์ยานยนต์ที่มีการให้บริการด้านข้อมูลผ่าน EVSE มีหน้าที่ส่งข้อมูลให้กับการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย) ในกรณีนี้ การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายย่อมมีสิทธิใช้ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้ยานยนต์ที่ชาร์จไฟฟ้าตาม “สัญญา” ซึ่งเป็นฐานทางกฎหมาย (Lawful Basis) ตามมาตรา 24(3) แห่ง PDPA

โดยสรุปแล้ว การรองรับการขยายตัวของผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งจะมีการอัดประจุไฟฟ้าเพิ่มขึ้นนั้นสร้างโอกาสทางธุรกิจในการให้บริการชาร์จไฟฟ้าผ่าน EVSE ซึ่งมีศักยภาพที่จะรองรับการชาร์จไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ มีการเก็บรวบรวม ส่ง และแลกเปลี่ยนข้อมูลการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าและปริมาณการใช้ไฟฟ้า กฎหมายไทยมีความยืดหยุ่นและพร้อมที่จะรองรับการขยายตัวของธุรกิจนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับเจ้าของแบรนด์ยานยนต์ที่สามารถนำเข้าและผลิตตัว Hardware ของ EVSE และสามารถใช้งาน Software ของ EVSE เพื่อรองรับการเก็บรวบรวม ใช้ และแลกเปลี่ยนข้อมูลรวมถึงพฤติกรรมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าได้ ซึ่งจะทำให้เจ้าของแบรนด์ยานยนต์ไฟฟ้าเหล่านี้ไม่ได้เป็นเพียงผู้ขายยานยนต์ไฟฟ้าเท่านั้นแต่ยังเป็น EV Data Service Provider อีกด้วย

ผศ.ดร.ปิติ เอี่ยมจำรูญลาภ ผู้อำนวยการหลักสูตร LL.M. (Business Law)

หลักสูตรนานาชาติ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 ก.ค. 68)