
สก็อตต์ เบสเซนต์ รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ออกโรงเรียกร้องให้ปฏิรูปกฎระเบียบธนาคารครั้งใหญ่เมื่อวันจันทร์ (21 ก.ค.) พร้อมกระตุ้นให้หน่วยงานกำกับดูแลล้มเลิกข้อเสนอสำคัญปี 2566 ที่จะบีบให้ธนาคารต้องดำรงเงินกองทุนเพิ่มขึ้นมหาศาล
ในการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เบสเซนต์ชี้ว่า กฎการดำรงเงินกองทุนที่เข้มงวดเกินไปกลายเป็นภาระที่ไม่จำเป็นแก่สถาบันการเงิน ทำให้การปล่อยสินเชื่อลดลง ฉุดรั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจ และบิดเบือนตลาดด้วยการผลักดันให้กิจกรรมทางธุรกิจไหลไปสู่ภาคการเงินนอกระบบธนาคาร (Non-bank)
สำหรับข้อเสนอดังกล่าว ซึ่งถูกหยิบยกขึ้นมาหลังการล่มสลายของธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ (Silicon Valley Bank) หรือ SVB ในปี 2566 นั้น จะเป็นการสร้างโครงสร้างเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงแบบสองหลักเกณฑ์ เบสเซนต์วิจารณ์แผนการนี้ (ซึ่งไม่เคยถูกบังคับใช้จริง) ว่าเป็นความพยายามที่ผิดพลาดในการตั้งเป้าเพิ่มเพดานเงินกองทุนรวมให้สูงขึ้นเรื่อย ๆ และยังคงไว้ซึ่งข้อกำหนดที่ล้าสมัย
การเคลื่อนไหวนี้เป็นส่วนหนึ่งของวาระปฏิรูปกฎเกณฑ์ทางการเงินในภาพใหญ่ของรัฐบาลประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ โดยเบสเซนต์กล่าวว่า กระทรวงการคลังจะเข้ามามีบทบาทนำในการผลักดันเรื่องนี้อย่างแข็งขัน พร้อมประกาศจะ “ทลายกำแพงความเฉื่อยชาเชิงนโยบาย” และ “สร้างฉันทามติ” ในหมู่ผู้กำกับดูแลให้ได้
“เราต้องการการปฏิรูปที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ซึ่งวางอยู่บนพิมพ์เขียวระยะยาวเพื่อสร้างนวัตกรรม เสถียรภาพทางการเงิน และการเติบโตที่ยั่งยืน” เบสเซนต์ระบุ พร้อมวิจารณ์แนวทางการกำกับดูแลที่ผ่านมาว่าเป็น “แนวทางเชิงปฏิกิริยา”
รัฐมนตรีคลังยังเรียกร้องให้ผ่อนปรนกฎเกณฑ์ด้านเงินกองทุนสำหรับธนาคารขนาดเล็กและธนาคารชุมชน โดยเสนอว่า การเปิดโอกาสให้ธนาคารที่ไม่ได้อยู่ภายใต้เกณฑ์เงินทุนยุคใหม่ สามารถเลือกเข้าร่วมได้นั้น “จะช่วยลดภาระด้านเงินกองทุนให้ธนาคารเหล่านั้นลงได้อย่างมีนัยสำคัญ”
แม้จะมุ่งเน้นการเติบโต เบสเซนต์ย้ำว่า การทบทวนกฎเกณฑ์ให้สมเหตุสมผลยิ่งขึ้น “ไม่ได้หมายความว่าจะต้องผ่อนคลายกฎระเบียบลงเสมอไป” และหน่วยงานกำกับดูแลยังคงต้องทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยทางการเงินและคุ้มครองผู้บริโภคอย่างเคร่งครัด
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 ก.ค. 68)