
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ เปิดเผยเมื่อวันเสาร์ (26 ก.ค.) ว่า ผู้นำไทยและกัมพูชาได้เห็นพ้องที่จะเปิดการเจรจาหยุดยิงโดยทันที หลังเกิดเหตุปะทะรุนแรงตามแนวชายแดนต่อเนื่องเป็นวันที่สาม ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 30 ราย โดยทรัมป์ได้ใช้เงื่อนไขด้านข้อตกลงการค้าเป็นเครื่องมือในการกดดันให้ทั้งสองฝ่ายยุติความขัดแย้ง
นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการนายกรัฐมนตรีของไทย ได้ตอบรับท่าทีของทรัมป์ โดยระบุผ่านเฟซบุ๊กว่า “ในหลักการ ฝ่ายไทยเห็นชอบต่อการหยุดยิง” แต่ “ฝ่ายไทยประสงค์ที่จะเห็นความตั้งใจจริงของฝ่ายกัมพูชาในเรื่องดังกล่าว” พร้อมทั้งได้ร้องขอให้ทรัมป์ช่วยสื่อสารไปยังกัมพูชาว่าไทยต้องการเปิดการเจรจาทวิภาคีโดยเร็วที่สุด
การปะทะตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชาครั้งนี้ ถือว่ารุนแรงที่สุดในรอบ 13 ปี มีผู้เสียชีวิตรวมจากทั้งสองฝ่ายแล้วกว่า 30 ราย และผู้พลัดถิ่นกว่า 130,000 คน โดยการสู้รบได้ขยายวงไปยังแนวรบใหม่ในพื้นที่จังหวัดตราดของไทยและจังหวัดโพธิสัตว์ของกัมพูชาเมื่อวันเสาร์
ด้านอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ ได้แสดงความกังวลอย่างยิ่งต่อสถานการณ์ดังกล่าว และเรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายตกลงหยุดยิงและแก้ไขปัญหาผ่านการเจรจาโดยทันที ขณะที่อันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซียในฐานะประธานอาเซียน ยืนยันว่าจะผลักดันข้อเสนอหยุดยิงต่อไป
อย่างไรก็ตาม ปธน.ทรัมป์ยังไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับการเจรจาหยุดยิงดังกล่าว ขณะที่ทำเนียบขาว รวมถึงสถานทูตไทยและกัมพูชาในกรุงวอชิงตัน ยังไม่ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกำหนดการและสถานที่ในการเจรจา
สถานการณ์ล่าสุดยังคงเต็มไปด้วยการกล่าวหากันไปมา โดยเมื่อวันศุกร์ (25 ก.ค.) เอกอัครราชทูตไทยประจำสหประชาชาติแจ้งต่อคณะมนตรีความมั่นคงว่า กัมพูชาเป็นฝ่ายเปิดฉากโจมตีก่อน ขณะที่ในวันเสาร์ กัมพูชากล่าวหาไทยว่า “จงใจโจมตีทางทหารอย่างผิดกฎหมาย” และเรียกร้องให้ประชาคมโลกประณามไทย
เกรกอรี โพลิง ผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์ยุทธศาสตร์และกิจการระหว่างประเทศ (CSIS) เตือนว่า แม้การเจรจาจะเกิดขึ้นได้ แต่ทั้งไทยและกัมพูชาคงไม่พอใจที่สหรัฐฯ นำประเด็นการค้ามาเป็นเครื่องมือต่อรอง และหากการเจรจาหยุดยิงสำเร็จแต่ยังไม่ได้รับข้อตกลงการค้า ก็อาจมองว่าเป็นการหักหลังของสหรัฐฯ
สำหรับข้อพิพาทชายแดนไทย-กัมพูชามีมานานหลายทศวรรษ โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่การอ้างสิทธิ์เหนือปราสาทพระวิหารและกลุ่มปราสาทตาเมือนธม ความตึงเครียดเคยปะทุรุนแรงในปี 2551 หลังกัมพูชาพยายามขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกแต่เพียงฝ่ายเดียว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 ก.ค. 68)