PODCAST: Weekly Highlight (30 มี.ค.-3 เม.ย.)”มะกัน”ติดเชื้อโควิด-19 ทะลุแสนคน SET เม.ย.ส่อหลุด 1,000 จุด

“Weekly Highlight” สัปดาห์นี้ (30 มี.ค.-3 เม.ย.) มาเจาะลึกกับข่าวสารสำคัญ ในรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 30 มีนาคม 2563

เริ่มต้นกับการสรุปภาพรวมตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ที่แล้ว (23-27 มี.ค.) SET INDEX ปรับตัวลดลงประมาณ 2.4% ขณะที่ดัชนี SET 100 ลดลง 2.5% โดยกลุ่มหุ้นที่ติดลบหนักที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ กลุ่มการเงิน ,กลุ่มมีเดีย และกลุ่มกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์

แม้ว่าดัชนีตลาดหุ้นไทยจะมีความผันผวนต่อเนื่อง หลังจากที่หลายประเทศทั่วโลกทยอยปิดพรมแดน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่นักวิเคราะห์หลายค่าย ออกมาคาดการณ์กันว่าแนวโน้ม SET INDEX ในสัปดาห์นี้ มีโอกาสขึ้นไปยืนเหนือ 1,100 จุดได้อีกครั้ง เนื่องจากนักลงทุนคาดหวังมาตรการพยุงเศรษฐกิจของนานาประเทศที่ทยอยประกาศกันออกมา

โดยเมื่อคืนของวันที่ 27 มีนาคม นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีของสหรัฐ ได้ลงนามมาตรการเยียวยาผลกระทบทางเศรษฐกิจวงเงิน 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ นับเป็นการจัดสรรวงเงินช่วยเหลือสูงสุดเป็นประวัติการณ์ หลังสหรัฐพบจำนวนผู้ติดเชื้อมากที่สุดในโลกทะลุ 1 แสนราย

ศูนย์วิทยาศาสตร์และวิศวกรรมเชิงระบบ (CSSE) แห่งมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ รายงานว่า วันที่ 29 มีนาคม 2563 ณ เวลา 18.00 น.ตามเวลาประเทศไทย จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก อยู่ที่ 669,312 ราย โดยสหรัฐมียอดผู้ติดเชื้อสูงสุดที่124,686 ราย

ขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อในยุโรปก็อยู่ในระดับสูง โดยอิตาลีมีผู้ติดเชื้อ 92,472 ราย, สเปน 73,235 ราย, เยอรมนี 58,247 ราย, ฝรั่งเศส 38,105 ราย, อังกฤษ 17,315 ราย, สวิตเซอร์แลนด์ 14,076 ราย และเบลเยียม 10,836 ราย

ทั้งนี้ ยอดผู้เสียชีวิตจากไวรัสโควิด-19 ทะลุ 30,000 รายทั่วโลก โดยอิตาลีมีผู้เสียชีวิตสูงสุดกว่า 10,000 ราย

สำหรับแนวทางการกระตุ้นเศรษฐกิจของไทยในระยะถัดไป ต้องติดตามวงเงินใหม่ที่จะนำมาประคับประคองเศรษฐกิจ หลังจากที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี สั่งให้กระทรวงการคลังพิจารณาออกพระราชกำหนดกู้เงิน วงเงินกว่า 2 แสนล้านบาท พร้อมเร่งจัดทำมาตรการเยียวยาระยะที่ 3 เพราะเล็งเห็นว่าวิกฤตโควิด-19 สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจของไทยหนักกว่าในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540

ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) หรือ ศบค. เปิดเผยยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 วันที่ 29 มีนาคม 2563 พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มอีก 143 ราย และมีผู้เสียชีวิต 1 ราย เป็นชายไทยอายุ 68 ปี มีประวัติเชื่อมโยงกับสนามมวย ส่งผลให้มียอดสะสมผู้ติดเชื้อรวมอยู่ที่ 1,388 ราย แบ่งเป็น คนไทย 1,172 ราย และอื่น ๆ อีก 216 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยในกรุงเทพฯและปริมณฑล และในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ขณะที่มียอดผู้เสียชีวิตสะสมรวม 7 ราย

กรอบการเคลื่อนไหวสัปดาห์นี้ของ SET INDEX นักวิเคราะห์ประเมินแนวรับสำคัญไว้ที่ 1,050 จุด และประเมินแนวต้านไว้ที่ 1,133 จุด แต่ต้องระมัดระวังความเสี่ยงจากผลกระทบโควิด-19 ว่าจะสร้างความเสียหายมากกว่างบประมาณที่นานาประเทศได้ตั้งไว้เพื่อรับมือหรือไม่ รวมถึงความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลก หลังจากผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่เตรียมเพิ่มกำลังการผลิตอีกครั้งในเดือน
เมษายน

อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะเป็นตัวชี้วัดตลาดหุ้นไทยในเดือน เมษายน คือการประกาศผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนไตรมาสแรก ถ้าออกมาแย่กว่าคาด จะนำมาสู่การปรับฐานรอบใหม่อีกครั้ง

บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) ได้นำสมมติฐานกรณีเลวร้ายกำไรบริษัทจดทะเบียนในช่วงที่เกิดวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 พบว่ากำไรต่อหุ้นของตลาดลดลงมาอยู่ที่ 17 ดอลลาร์สหรัฐต่อหุ้น จากภาวะปกติจะอยู่ที่ 28 ดอลลาร์สหรัฐต่อหุ้น ฉุด SET INDEX ปรับฐานแรงจาก 900 จุดเหลือเพียงเกือบ 400 จุดเท่านั้น

แต่สถานการณ์ในปัจจุบันเชื่อว่ามีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อย ดังนั้นจึงใช้สมมติฐานกำไรต่อหุ้นของตลาดปีนี้จะอยู่ในกรอบ 24.5-27.5 ดอลลาร์สหรัฐต่อหุ้นหรือติดลบ 10% จากประมาณการเดิม ทำให้กรอบของ SET INDEX ที่เหมาะสมจะอยู่ที่ 1,100-1,250 จุด และกรณีย่ำแย่กว่าคาดติดลบ 20% กรอบของ SET INDEX ที่เหมาะสมก็จะลดลงมาเหลือ 800-1,000 จุดเท่านั้น

ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในสัปดาห์นี้อยู่ที่ 32.40-32.90 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ข้อมูลเงินเฟ้อเดือน มี.ค. และเครื่องชี้เศรษฐกิจเดือน ก.พ. ของไทย และมาตรการรับมือความเสี่ยงจากโควิด-19 ของหลายประเทศทั่วโลก

ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่สำคัญ ได้แก่ ข้อมูลการจ้างงานนอกภาคเกษตร การจ้างงานภาคเอกชน ดัชนี PMI และ ISM ภาคการผลิต/ภาคบริการ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน มี.ค. ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย รายจ่ายด้านการก่อสร้างเดือนก.พ. และดัชนีราคาบ้านจากเอสแอนด์พี/เคส-ชิลเลอร์ เดือน ม.ค. นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามดัชนี PMI ภาคการผลิต/ภาคบริการเดือนมี.ค. ของจีน และยูโรโซนด้วยเช่นกัน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 มี.ค. 63)

Tags: , , , , , , , , , , , , ,
Back to Top