CIMBT หั่นคาดการณ์ GDP ปีนี้ติดลบ 6.4% แนะทางรอดก่อนศก.ทรุดเข้าเฟส 4

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) กล่าวว่า สำนักวิจัยฯ ปรับมุมมองทางเศรษฐกิจไทย จากเดิมขยายตัว 1.7% เป็นหดตัว 6.4% ตามภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลก ซึ่งทำให้เศรษฐกิจไทยถึงจุดต่ำสุดในช่วงไตรมาส 2/63 และน่าจะฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลัง

แต่หากสถานการณ์เลวร้ายไปอีก เศรษฐกิจไทยคงเข้าสู่ภาวะวิกฤตตามเศรษฐกิจโลก เพราะมีความเสี่ยงเติบโตช้าจากปัญหาสงครามการค้า ภัยแล้ง และงบประมาณล่าช้า ก่อนจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

เนื่องจากเศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงชะลอตัวแรงขึ้นกว่าช่วงเดือนที่ผ่านมาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จากจีนและภูมิภาคเอเชียไปสู่ทวีปยุโรปและสหรัฐฯ อย่างรวดเร็ว จนกระทบแทบทุกภาคส่วนทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ ล่าสุดมีการประกาศมาตรการให้คนอยู่แต่ในบ้าน (lockdown) ในแต่ละภูมิภาค การห้ามเคลื่อนย้ายคนและสินค้า ตลอดจนการทำงานในเขตอุตสาหกรรม ซึ่งน่าจะเป็นแนวทางที่ดีที่จะลดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส ขณะเดียวกันมาตรการเหล่านั้นทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอลงแรงหรือหยุดชะงัก สิ่งที่ตามมาคือการจ้างงานลดลง อัตราการว่างงานสูงขึ้น ส่งผลให้กำลังซื้อแผ่วลง เศรษฐกิจประเทศสำคัญๆ กำลังก้าวเข้าสู่ภาวะการถดถอย

“จะเลวร้ายแค่ไหน จะลากยาวเป็นวิกฤตเศรษฐกิจหรือไม่คงตอบยาก ขึ้นอยู่กับการควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส แนวทางการรักษาผู้ติดเชื้อ และมาตรการทางการเงินและการคลังที่จะประคองและดูแลผู้ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ” นายอมรเทพ กล่าว

นอกจากนี้ วิกฤตเศรษฐกิจรอบที่ผ่านๆ มามีการเปลี่ยนรูปแบบอย่างเสมอ ทำให้นักเศรษฐศาสตร์ไม่สามารถคาดการณ์ได้ เช่น วิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี 40 เกิดในภาคการเงินในประเทศ วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์เมื่อปี 51 เกิดจากภาคการเงินของสหรัฐฯ แต่ไทยได้รับผลกระทบผ่านภาคการส่งออกที่หดตัวแรงจนกระทบอุปสงค์ในประเทศ รอบนี้ในปี 563 หากจะเกิดวิกฤตโควิด-19 จะเกิดได้ผ่านหลากหลายช่องทาง

“หากเหตุการณ์เลวร้ายควบคุมไม่อยู่จนเกิดวิกฤตคงหนีไม่พ้นภาคการเงิน แต่ในมุมมองของเรา ทั่วโลกยังไม่ใช่วิกฤต เพียงแต่เข้าสู่ภาวะการถดถอยที่ประเทศสำคัญมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอลงแรงหรือหดตัว” นายอมรเทพ กล่าว

แม้ไทยอยู่ในเฟส 2 ของการแพร่เชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ระบาดจากการติดต่อผ่านผู้ติดเชื้อต่างชาติ หรือหากผ่านคนไทยด้วยกันก็ยังสามารถสืบหาแหล่งที่มาได้ แต่ในอีกไม่ช้าอาจจะเข้าเฟส 3 คือการที่คนไทยติดกันเองในวงกว้างและรวดเร็วโดยไม่ทราบแหล่งที่มา ซึ่งภาคสาธารณสุขกำลังทำงานอย่างเต็มที่ในการยืดเวลาการเข้าสู่เฟส 3

แต่หากเทียบการระบาดทางเศรษฐกิจถือว่าเข้าสู่เฟส 3 เรียบร้อยแล้ว โดยเฟส 1 การระบาดไวรัสในจีนกระทบภาคการท่องเที่ยว การส่งออก และการผลิต จำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนหดตัวมากกว่าครึ่ง ขณะที่เศรษฐกิจจีนชะลอลงแรงมีผลให้ภาคการส่งออกไทยหดตัวตามอุปสงค์ที่ลดลง นอกจากนี้การที่จีนสั่งปิดโรงงานและภาคธุรกิจมีผลให้ไทยขาดวัตถุดิบสำคัญที่มาจากจีน จนมีผลให้ภาคการผลิตของไทยที่ชะลอตามการส่งออกที่หดตัวอยู่แล้วกลับย่ำแย่อีกเพราะต้องลดกำลังการผลิตตามการขาดแคลนวัตถุดิบในหลายอุตสาหกรรม

เฟส 2 เมื่อการแพร่กระจายของไวรัสโควิด-19 เข้ามาในประเทศไทย จะเห็นผลกระทบผ่านภาคการบริโภคที่ประชาชนหลีกเลี่ยงการเข้าไปในพื้นที่แออัด ประกอบกับนักท่องเที่ยวชาติอื่นเริ่มลดลงต่อเนื่อง การใช้จ่ายสินค้าอุปโภคและบริโภคเริ่มลดลง ยอดการค้าปลีกมีแนวโน้มชะลอลงตามความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่อ่อนแอ คนเริ่มระมัดระวังการออกนอกบ้าน และล่าสุดมีการประกาศของหน่วยงานราชการในหลายจังหวัดที่ขอความร่วมมือผู้คนออกนอกบ้านเท่าที่จำเป็น และปิดสถานบริการหลายประเภทเพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่ของเชื้อไวรัส มีผลให้การใช้จ่ายของครัวเรือนชะลอลงแรงหรือหดตัวได้ในบางประเภท

สำหรับเฟส 3 ตลาดการเงินที่เริ่มติดเชื้อในช่วงเดือนที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยมีแรงเทขายหนัก ความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั่วโลกหดหาย มีการเทขายสินทรัพย์เสี่ยงทุกประเภทเพื่อถือในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ แทน จากการที่นักลงทุนกังวลต่อปัญหาสภาพคล่องในสหรัฐฯ

นอกจากนี้ นักลงทุนยังกังวลว่าธุรกิจสำคัญๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยว การขนส่ง และน้ำมันอาจมีปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ ส่งผลให้ความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้สูงขึ้น นักลงทุนเทขายตราสารหนี้ รวมไปถึงตราสารหนี้ที่แทบจะเรียกว่าปลอดภัยที่สุดในโลก นั่นคือพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ส่งผลให้ราคาพันธบัตรลดลงหรืออัตราผลตอบแทนพันธบัตรเพิ่มขึ้น

และไม่เพียงสหรัฐฯ เท่านั้น ภาวะความแตกตื่นนี้ลามไปทั่วโลกรวมทั้งไทย ส่งผลให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมมือกับหลายภาคส่วนได้ออกมาตรการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบผ่านธนาคารพาณิชย์เพื่อช่วยพยุงความผันผวนในตลาดตราสารหนี้ นอกจากนั้นคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 0.75% ต่อปี เพื่อเสริมสภาพคล่องในระบบ

ภาวะเช่นนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของเฟส 3 เท่านั้น มีความเป็นไปได้สูงที่ทาง กนง.จะลดดอกเบี้ยอีกครั้งในไตรมาสที่ 2 นี้เหลือ 0.50% ต่อปี โดยภาครัฐได้ออกมาตรการพยุงสภาพคล่องและมาตรการดูแลผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ต่อเนื่อง ช่วยยืดเวลาให้เราอยู่ในช่วงต้นของเฟส 3 นานขึ้น โดยเฉพาะหลังตลาดพันธบัตรเริ่มอยู่ในภาวะที่บริหารจัดการได้ นักลงทุนหายตกใจ

อย่างไรก็ดี ความเสียหายทางเศรษฐกิจผ่านการท่องเที่ยว การส่งออก การผลิต การบริโภค และความผันผวนในตลาดเงิน ตลาดทุนนั้นมีมาก เศรษฐกิจไทยจึงอาจเข้าสู่ภาวะถดถอยได้ในปีนี้ เรามองว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะเข้าสู่จุดต่ำสุดช่วงไตรมาสที่ 2 ทาง กนง. น่าจะใช้นโยบายอื่นควบคู่กับการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้งในการดูแลสภาพคล่อง ซึ่งมาตรการอัดฉีดสภาพคล่องนั้นน่าจะมีส่วนช่วยให้เงินบาทอยู่ในทิศทางอ่อนค่าได้ จากการที่อัตราดอกเบี้ยต่ำ สภาพคล่องสูง น่าจะลดความน่าสนใจของเงินบาท

อีกทั้งภาวะความไม่แน่นอนในตลาดโลกน่าจะมีผลให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ อยู่ในทิศทางแข็งค่าเทียบสกุลอื่นๆ เงินบาทน่าจะอ่อนค่าเทียบดอลลาร์สหรัฐฯ ไปได้ถึงระดับ 34.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงไตรมาสที่ 2 นี้ และน่าจะเริ่มมีเสถียรภาพก่อนกลับมาแข็งค่าได้เล็กน้อยจากการที่ไทยยังเกินดุลการค้าและจากการที่ตลาดการเงินโลกเริ่มคลายความกังวลจากปัญหาสภาพคล่อง เรามองปลายปีนี้เงินบาทน่าจะอยู่ที่ระดับ 33.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ

นายอมรเทพ กล่าวว่า ประเทศไทยจะต้องเร่งยับยั้งก่อนเศรษฐกิจไทยเข้าสู่เฟส 4 เพราะคาดว่าหากปัญหาไวรัสระบาดลากยาว เศรษฐกิจจะทรุดหนักจนเกิดวิกฤติขึ้นมา ซึ่งจะเกิดผ่านปัญหาความสามารถในการชำระหนี้ หรือ credit crisis กล่าวคือ กลุ่มภาคธุรกิจที่มีปัญหาหนี้สูงและเป็นกลุ่มที่อันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่าระดับน่าลงทุน หรือ non-investment grade หรือ high yield จะเป็นกลุ่มที่อาจผิดนัดชำระหนี้ และอาจทำให้เกิดปัญหาความเชื่อมั่นต่อระบบตลาดเงินและตลาดทุน จนเกิดการลามไปสู่การไถ่ถอนตราสารหนี้ เช่น หุ้นกู้บริษัทเอกชน หรือ corporate bond ในกลุ่มที่มีความน่าเชื่อถือดีหรือไม่ได้รับปัญหาทางเศรษฐกิจมากจนบริษัทไม่มีเงินชำระหนี้

และในภาวะที่ทุกคนเทขายสินทรัพย์ต่างๆ จากความกังวลว่าธุรกิจจะไม่สามารถชำระหนี้คืนได้ หรือกังวลว่าราคาสินทรัพย์จะลดลงไปต่อเนื่อง ราคาสินทรัพย์อื่น เช่น ที่ดิน บ้าน คอนโด รถยนต์ นาฬิกาหรูและสินค้าฟุ่มเฟือยราคาสูงอื่นๆ อาจมีราคาลดลงได้ เกิดผลด้านจิตวิทยาต่อผู้บริโภคผ่านความมั่งคั่ง หรือ wealth effect ที่เมื่อคนรู้สึกว่าตัวเองจนลง ก็จะลดการบริโภคหรืออุปโภคสินค้าตามมา ฉุดให้เศรษฐกิจดำดิ่งจนเกิดการว่างงานสูงและอาจลากยาวจนเศรษฐกิจถดถอยไปได้ราว 1 ปีหรือ 2 ปี ซึ่งภาวะนั้นอาจเรียกได้ว่าเป็นเฟสที่ 4 ที่เศรษฐกิจไทยอาจหดตัวได้มากกว่า 11% ในปีนี้ในกรณีที่เลวร้ายที่สุด และอาจเป็นวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่เลวร้ายที่สุดที่เราเคยเผชิญ

อย่างไรก็ตาม เชื่อมั่นว่าประเทศไทยมีทางออกในการยืดเวลาของเฟส 3 และให้เศรษฐกิจไทยสามารถกลับมาขยายตัวได้อีกครั้งในปีหน้า ช่วยให้พ้นวิกฤตินี้ไปได้ หรืออาจฟื้นได้เร็ว โดยอาจหดตัวเพียง 2.2% ในกรณีที่ดีที่สุดในปีนี้ ซึ่งอาจจะเจ็บในระยะสั้นแต่จะจบไวและฟื้นเร็ว

สำนักวิจัยฯ มีความเห็น 3 ประการเพื่อยื้อเวลาให้ประคองตัวได้หรืออาจพลิกกลับมาแข็งแกร่งอีกครั้งในครึ่งปีหลังดังนี้

1.นโยบายการเงินต้องผ่อนปรนและคิดนอกกรอบ คนจำนวนมากยังมีภาระหนี้สินอยู่ ซึ่งมาตรการของ ธปท.ในการดูแลให้คนยังมีความสามารถในการชำระหนี้ เช่น ลดยอดการชำระหรือยืดเวลาการชำระหรือให้ชำระเพียงดอกเบี้ยได้ชั่วคราวนับเป็นก้าวที่ดีในการประคองภาคเอกชน แต่อาจต้องพิจารณาว่าปัญหาทางเศรษฐกิจจะไม่ลากยาวและลูกหนี้สามารถฟื้นได้เร็วเมื่อหมดโครงการนี้ ไม่เช่นนั้น ยอดหนี้เสียจะพุ่งได้ในอนาคต และอีกด้านที่น่าสนใจคือการอัดฉีดสภาพคล่องให้ภาคธุรกิจผ่านการซื้อสินทรัพย์ต่างๆ เช่น ตราสารหนี้ หรือ หุ้นกู้เอกชน และอาจเป็นการซื้อตรงหรือผ่านตลาดรองเพื่อลดความผันผวนด้านราคาและเพื่อให้ธุรกิจมีกระแสเงินสดอยู่รอดได้

2.นโยบายการคลังต้องรวดเร็วและทั่วถึง นอกเหนือจากให้เงิน 5,000 บาทต่อคนในช่วง 3 เดือนนี้ หรืออาจคิดมาตรการจ้างงาน หรือเป็นการซื้อหาอาหารหรือสินค้าที่จำเป็นแจกเองผ่านหน่วยงานของรัฐหรือชุมชน นอกจากนี้ รัฐบาลอาจใช้โอกาสนี้ดึงคนกลุ่มมนุษย์เงินเดือนเข้ามาใช้เงินด้วยการลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไม่ใช่เพียงเพิ่มลดหย่อน และอาจทำชั่วคราวในปีนี้ รวมถึงอาจเสริมด้วยการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำผ่านธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ

3.ต้องเรียนรู้ปรับตัว หากไม่มีงานในเมืองก็ต้องสร้างงานในชุมชน หรือสร้างตลาดสินค้าและรายได้ในพื้นที่ต่างๆ เรียนรู้ทักษะใหม่ๆ และยืดหยุ่นคล่องตัวพอจะปรับเปลี่ยนงานได้เสมอ อีกทั้งได้เรียนรู้การใช้เทคโนโลยีมากขึ้นในการทำงานหรือเรียนหนังสือผ่านโปรแกรมต่างๆ ซึ่งหากเราพัฒนาต่อยอดได้ สิ่งเหล่านี้อาจช่วยลดมลพิษและสร้างงานใหม่ๆ ได้ในอนาคต

“ผมอยากให้ทุกคนเรียนรู้บทเรียนภาวะการถดถอยทางเศรษฐกิจไทยครั้งนี้ว่า เราจะเติบโตทางเศรษฐกิจกันได้อีกครั้งเมื่อเราควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสได้ จากการไม่ก่อหนี้จนเกินตัวและเกิดภาระทางการเงินทั้งภาคครัวเรือนและธุรกิจมากจนเกินไป รวมทั้งเราร่วมมือร่วมใจฝ่าฟันปัญหาไปพร้อมกันได้ จนเศรษฐกิจไทยไม่เข้าสู่เฟส 4 หรือภาวะวิกฤติ”

นายอมรเทพ กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (31 มี.ค. 63)

Tags: , ,
Back to Top