สธ.ขออย่าประมาทแม้ตัวเลขผู้ป่วยใหม่ต่ำกว่าคาด ย้ำมาตรการที่ได้ผลยังเป็นปัจจัยสำคัญ

นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กล่าวย้ำว่าการรักษามาตรการที่ได้ผลยังเป็นปัจจัยสำคัญในการที่จะทำให้เห็นว่าจำนวนผู้ป่วยใหม่จะลดลง หรือ จำนวนผู้เสียชีวิตไม่เพิ่มขึ้น โดยในช่วงต้นเดือนเม.ย.ทางกรมควบคุมโรคได้คาดการณ์สถานการณ์จำนวนผู้ป่วยติดเชื้อในประเทศไทยช่วงต้นเดือนเมษายนว่า อาจจะพบผู้ป่วยในประเทศไทยมากถึง 7,745 รายเมื่อถึงวันที่ 15 เม.ย. แต่เมื่อถึงวันที่ 15 เม.ย.ที่ผ่านมาพบผู้ป่วยเพียง 2,643 ราย คิดเป็นจำนวน 1 ใน 3 ของจำนวนที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้

ทั้งนี้สาเหตุหลักอาจจะมาจากการที่รัฐบาลประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค.เป็นต้นมา และประชาชนมีความร่วมมือในการปฏิบัติตามมาตรการ หากจำนวนผู้ป่วยในประเทศไทยยังอยู่ในหลัก 20-30 ราย/วัน เมื่อถึงวันที่ 30 เม.ย. คาดการณ์ว่าจะมีผู้ป่วยประมาณ 3,000 ราย

อย่างไรก็ตาม ยังไม่สามารถประมาทได้เนื่องจากโรคติดต่อทางระบบทางเดินหายใจพร้อมที่จะกลับมาได้ตลอดเวลา รวมถึงสถานการณ์ต่างประเทศยังมีการระบาดที่รุนแรงอยู่

“หากเรารักษามาตรการที่เข้มแข็งไว้ได้ เราก็จะยังคงพบผู้ป่วยน้อยในประเทศไทยต่อไปได้อีก ปัจจัยที่จะเปลี่ยนแปลงน่าจะเป็นหลังวันที่ 30 เม.ย. ถ้าหากมีการเดินทางเพิ่มขึ้น หรือมีการผ่อนปรนมาตรการมากขึ้น รวมถึงมีการเดินทางเข้ามาในประเทศไทยที่มากขึ้น ก็จะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงมากขึ้นไปอีก ซึ่งเราจะต้องยกระดับมาตรการให้สอดคล้องกับความเสี่ยง โดยจะต้องให้ประเทศไทยมีการแพร่เชื้อน้อยที่สุด…หวังว่า ก่อนจะสิ้นเม.ย.จะเห็นจำนวนผู้ป่วยลดลง หรือผู้เสียชีวิตไม่เพิ่มขึ้น”

นพ.โสภณ กล่าว

นพ.โสภณ กล่าวถึงคนไทยที่จะเดินทางกลับเข้ามาในประเทศไทย โดยผ่านจุดผ่านแดนถาวรในพื้นที่จังหวัดชายแดนในระยะนี้ว่า ตามจำนวนที่กำหนดล่วงหน้าแต่ละวัน ในแต่ละช่องทาง ซึ่งทุกคนจะเข้าสู่ระบบการตรวจคัดกรอง วัดไข้ เฝ้าระวังสังเกตอาการและดูแล ตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19 ของประเทศไทย

โดยผู้ที่จะเดินทางกลับเข้ามาในประเทศไทยต้องมีเอกสารสำคัญประกอบการเดินทาง 2 ฉบับ คือ

1.ใบรับรองแพทย์ หรือ fit to travel และ 2.หนังสือรับรองการเดินทางเข้าประเทศ ที่ออกโดยสถานเอกอัครราชทูต หรือสถานกงสุลใหญ่ไทยประจำประเทศที่พำนัก ซึ่งระบุรายละเอียดข้อมูลส่วนบุคคลของผู้เดินทาง ช่องทางผ่านแดนที่จะเดินทางกลับ วันที่จะเดินทาง จังหวัดที่พำนักอาศัยหรือจังหวัดภูมิลำเนาในประเทศไทย และลายมือชื่อของผู้เดินทางที่ลงนามรับทราบ และยินยอมรับการกักตัวในสถานที่ที่รัฐกำหนด หรือ Local Quarantine เป็นเวลา 14 วันตามมาตรการป้องกันควบคุมโรคของภาครัฐ อันเป็นประโยชน์กับผู้เดินทางที่จะได้รับการดูแลวินิจฉัยโรคที่รวดเร็วหากติดเชื้อ และสร้างความปลอดภัยให้กับสังคมส่วนรวม

นพ.โสภณ กล่าวอีกว่า ในแต่ละจังหวัดได้เตรียมความพร้อมในการดูแลคนไทยที่จะถูกกักตัวเพื่อเฝ้าระวังสังเกตอาการในสถานที่ที่รัฐกำหนด เป็นเวลา 14 วันตามมาตรการป้องกันควบคุมที่กำหนด โดยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ท้องถิ่น เอกชน และภาคประชาชน โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ผู้เดินทางได้รับการดูแลใกล้ชิด และประเทศไทยสามารถป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 เม.ย. 63)

Tags: , , ,
Back to Top