ADVANC คาดรายได้ปี 63 ติดลบน้อยกว่า GDP รับผลงาน Q2 แตะจุดต่ำสุดคาดฟื้น Q4

นางสาวณัฐิยา พัวพงศกร หัวหน้าหน่วยงานนักลงทุนสัมพันธ์และกำกับการดูแลการปฏิบัติงาน บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) คาดรายได้ในปี 63 ดีกว่าภาพรวมเศรษฐกิจไทยที่มีหลายหน่วยงาน อาทิ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ธนาคารโลก คาดว่าจะติดลบ 5-7% ในปีนี้

เนื่องจากลักษณะธุรกิจโทรคมนาคมมีความจำเป็นในการใช้งานทั้งการดำเนินชีวิตประจำวันและทางธุรกิจ โดยเฉพาะในช่วงที่มีการทำงานจากบ้าน (Work from Home:WFH)

อย่างไรก็ดี ธุรกิจโทรคมนาคมคงไม่ได้ถึงกับจะเป็นบวก แต่เชื่อว่าจะติดลบน้อยกว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) โดยปัจจัยลบสำคัญ คือ ภาพรวมเศรษฐกิจหดตัว ภาคธุรกิจต่าง ๆ ต้องปิดตัวลงชั่วคราว และภัยแล้ง ซึ่งส่งผลกระทบรายได้ของอุตสาหกรรมโทรมคมนาคม

โดยธุรกิจโมบายมีจำนวนลูกค้าลดลงเช่นเดียวกับกลุ่มนักท่องเที่ยว การจับจ่ายใช้สอยลดลง ขณะที่ธุรกิจอินเตอร์เน็ตบ้าน (Fixed Braodband) กลับมีความต้องการใช้เพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งธุรกิจ SME แต่รายได้ต่อเลขหมาย (ARPU) ยังไม่สูง เพราะยังมีแพ็กเกจให้บริการในราคาต่ำ คือ ราคา 399 บาท บริษัจึงต้องเร่งตัวเรื่อง ARPU แต่ก็คาดว่าธุรกิจยังเติบโตได้

“ปีนี้เป็นปีที่ท้าทายในหลายๆธุรกิจ เพราะเราจะเจอสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ตั้งแต่ต้นปีนี้ อย่างไรก็ตาม ธุรกิจโทรคมนาคมได้รับกระทบน้อยกว่าธุรกิจอื่น…ปีนี้หลายบริษัทไม่กล้าคาดการณ์ หรือคาดการณ์ได้ยาก ขึ้นกับการควบคุมโรค ภาพเศรษฐกิจที่รับผลกระทบ ปีนี้ตอนต้นปียังไม่ได้คาดการณ์เพราะต้องเข้าประมูล 5G และมาเจอโควิดทำให้ยากต่อการคาดการณ์ ก็ดู GDP เป็นหลัก เราน่าจะทำได้ดีกว่า GDP Growth” นายสาวณัฐิยา กล่าว

นางสาวณัฐิยา กล่าวว่า ในไตรมาส 2/63 ประเมินว่าบริษัทจะได้รับกระทบค่อนข้างมาก โดยเฉพาะจากการที่รัฐบาลมีมาตรการให้ประชาชนใช้เน็ตฟรี 10 GB ช่วง 10-30 เม.ย. แม้จะได้รับการชดเชยบ้างแต่ก็ทำให้เสียโอกาสทางธุรกิจไปค่อนข้างมาก รวมทั้งมาตรการให้โทรฟรี 100 นาทีนาน 45 วัน ซึ่งบริษัทไม่ได้รับการชดเชย

ดังนั้น บริษัทคาดว่าในไตรมาส 2/63 น่าจะมีผลประกอบการค่อนข้างต่ำ แต่หากการควบคุมสถานการณ์การระบาดไวรัสโควิด-19 ประคองตัวได้ดีก็คาดว่าในไตรมาส 3/63 น่าจะทรงตัว จากนั้นจะฟื้นตัวและทยอยกลับมาในไตรมาส 4/63 ขณะเดียวกันมีการควบคุมต้นทุนเป็นเรื่องสำคัญ

สำหรับงบการลงทุนในปีนี้คาดการณ์งบลงทุนสำหรับการขยายโครงข่าย 4G, 5G และ Fixed Broadband รวม 3.5-4 หมื่นล้านบาท โดยจะมีการลงทุนเครือข่าย 2600 MHz เป็นหลัก เพื่อตอบโจทย์ทั้ง 4G และ 5G พร้อมกัน เพราะได้ความคุ้มค่ากว่า ขณะที่กระแสเงินสดของบริษัททำได้ค่อนข้างดีในระดับ 7-8 หมื่นล้านบาท เพียงพอกับการลงทุน และยังมีวงเงินกู้จากสถาบันการเงินทั้งระยะสั้นและระยะยาววงเงินราว 5 หมื่นล้านบาท

ด้านนายวัชรพงศ์ ลีโทชวลิต ฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ ADVANC กล่าวว่า บริษัทได้รับการจัดสรรคลื่นความถี่ 5G จำนวน 3 คลื่น ทั้งคลื่นความถี่ต่ำ (700MHz) ที่ครอบคลุมพื้นที่ระยะไกลและช่วยประหยัดต้นทุนธุรกิจ ในระยะยาว คลื่นความถี่กลาง (2600 MHz) มีความเหมาะสมในพื้นที่เมือง ที่มีประชากรหนาแน่น และคลื่นความถี่สูง (26 GHz) รองรับการใช้งานสูงในพื้นที่เฉพาะ ได้แก่ นิคมอุตสาหรรม พื้นที่ EEC ประกอบกับคลื่นที่บริษัทมีอยู่แล้ว 900MHz 1800MHz และ 2100MHz จะช่วยให้เอไอเอสสามารถให้บริการ 5G ได้ในอนาคตา และแต่ละคลื่นใช้เทคโนโลยี 3G 4G 5G

แผนงานขยายโครงข่าย 5G ได้เริ่มพัฒนาในปีนี้แล้ว 77 จังหวัดตั้งแต่เดือน เม.ย. แต่ยังไม่ครบทุกพื้นที่ โดยสิ้นปี 63 มีเป้าหมายขยายโครงข่ายให้ครอบคลุม 13% ของประชากร เน้นพื้นที่ใช้งานดาต้าสูง ส่วนคลื่น 2600MHz ครอบคลุมแล้ว 59% ของพื้นที่ EEC ภายใน มิ.ย.63 โดยการขยายโครงข่าย 5G เป็นเทคโนโลยี Multi Tech ในการลงทุนใช้งานได้ทั้ง 4G และ 5G ทำให้ช่วยประหยัดการลงทุนโครงข่ายในระยะยาว

นอกจากนี้ Eco system 5G ขณะนี้มีโครงข่าย 40 กว่ารุ่น และมีผู้ผลิตโทรศัพท์รองรับ 5G ระดับราคากว่า 1 หมื่นบาท/เครื่อง คาดว่าปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า ราคาเครื่องน่าจะลดลงมาประมาณ 5 พันกว่าบาท ทำให้เข้าถึงระดับ mass ได้มากขึ้น ส่วในจีนปัจจุบันมีผู้ใช้บริการ 5G แล้วกว่า 26 ล้านราย และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 60 ล้านรายในสิ้นปีนี้ ซึ่งจะทำให้ 5G ถูกลง

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 พ.ค. 63)

Tags: , , , , , , ,
Back to Top