เจ้าสัวซีพีตอบนายกฯ เสนอทำเกษตรผสมผสาน เล็งเลือก 4 จ.เป็นโมเดลต้นแบบ

นายธนินท์ เจียรวนนท์ แห่งเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ตอบจดหมาย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ได้ขอความร่วมมือจากนักธุรกิจชั้นนำให้ร่วมช่วยชาติฝ่าวิกฤตโควิด-19 โดยนำเสนอแนวคิดที่เป็นรูปธรรมเป็นโครงการที่ซีพีจะทำและเป็นที่น่าสนใจอย่างมาก คือ เกษตรผสมผสานในยุค 4.0 โดยจะทำโครงการต้นแบบแนวคิด “3 ประโยชน์ 4 ประสาน” โดยจะเลือก 4 จังหวัดของไทยนำร่องทำเป็นโมเดลต้นแบบ เพื่อยกระดับเกษตรกรให้มีรายได้สูงอย่างยั่งยืน ไม่ใช่การทำเพียงไม่กี่ปีแล้วเลิก

เครือซีพี ระบุว่า ในอดีตที่ผ่านมาเครือซีพีได้ดำเนินโครงการเกษตรกรรมทันสมัยเพื่อเป็นต้นแบบการเรียนรู้เพื่อยกระดับเกษตรกรอย่างยั่งยืนหลายโครงการ อาทิ ในประเทศไทย มีโครงการเกษตรกรรมหนองหว้า อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา จากพื้นดินรกร้างว่างเปล่ากว่า 1 พันไร่ นับเป็นเวลากว่า 37 ปีแล้ว ที่หมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้า ส่งเสริมอาชีพให้เลี้ยงสุกร จนถึงปัจจุบันเติบโตกลายเป็นตัวอย่างชุมชนที่ประสบความสำเร็จมีความเข้มแข็งสามารถเลี้ยงชีพได้ด้วยตัวเอง มีผู้เดินทางมาศึกษาดูงานจากทั่วโลก

ทั้งนี้ โมเดล 3 ประโยชน์ 4 ประสาน เป็นรูปแบบความร่วมมือ 4 ฝ่าย คือ รัฐบาล เอกชน สถาบันการเงิน และเกษตรกร เพื่อรองรับการพัฒนาเกษตรกรรมทันสมัย ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์ 3 ประการ คือ ประโยชน์ต่อประเทศ ต่อประชาชนและสุดท้ายเป็นประโยชน์ต่อองค์กร ซึ่งปรากฏไม่เพียงแต่เป็นต้นแบบให้นานาประเทศมาขอศึกษาดูงานแต่ยังเป็นรายงานกรณีศึกษาหลายฉบับของ Harvard Business School ตั้งแต่ปี พ.ศ.2535 เกี่ยวกับบทบาทของภาคเอกชนที่มีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในภาคเกษตร

ในปี 60 Harvard Business School ได้เชิญนายธนินท์และผู้บริหารเครือซีพีไปบรรยายแนวคิดโครงการผิงกู่ที่เป็นเกษตรกรรมทันสมัย ภายใต้หัวข้อ “Rapid Development of China & CP Group’s Strategy” ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นที่น่าสนใจว่านายธนินท์จะนำโมเดลนี้มาทำให้ประเทศไทยอีกครั้งในยุคนี้ แน่นอนว่า จากการเรียนรู้จากหลายโครงการในอดีตโครงการที่จะดำเนินการในประเทศไทยที่เสนอในจดหมายตอบนายกต้องไม่ธรรมดาเพราะถือเป็นการฟื้นฟูเกษตรกรจากพิษเศรษฐกิจโรคระบาดโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรไทย เพื่อสร้างรายได้ให้เกษตรกรอย่างยั่งยืนโดยใช้เทคโนโลยียุคเกษตร 4.0

นายธนินท์ ระบุว่า “เกษตรที่งอกจากแผ่นดินไทย บนดิน ผมเรียกว่าน้ำมันบนดิน สินค้าเกษตรน่าจะมีความสำคัญยิ่งกว่าน้ำมัน เพราะสินค้าเกษตรเลี้ยงชีวิตมนุษย์ แต่น้ำมันเลี้ยงชีวิตเครื่องจักร แล้วใครสำคัญกว่ากัน นี่เป็นทรัพย์สมบัติของชาติยิ่งกว่าน้ำมัน”

พร้อมยกตัวอย่างประเทศญี่ปุ่นที่ให้ความสำคัญของเกษตรกรมาตั้งแต่โบราณ ถือเป็นผู้มีบุญคุณสร้างอาหารเลี้ยงทั้งประเทศ รัฐบาลญี่ปุ่นจึงถือว่าเกษตรกรเป็นฐานของประเทศทำให้สินค้าเกษตรของญี่ปุ่นแพงที่สุดในโลกรายได้เกษตรกรจึงสูงที่สุดในโลกด้วย

“ทำไมชาวนาญี่ปุ่นรวยกว่าชาวนาสหรัฐอเมริกาเสียอีก เพราะตั้งแต่สมัยโบราณจักรพรรดิญี่ปุ่นยกย่องชาวนาว่าเป็นผู้มีบุญคุณต่อประเทศชาติ สร้างอาหารเลี้ยงคนทั้งประเทศการเกษตรจึงเป็นเสมือนมือซ้ายของจักรพรรดิ ส่วนมือขวาของจักรพรรดิก็คือซามูไร ซึ่งก็เป็นทหารปกป้องประเทศ ด้วยนโยบายนี้ที่มีมาแต่โบราณจึงทำให้สินค้าเกษตรของญี่ปุ่นแพงที่สุดในโลก รายได้เกษตรกรจึงสูงที่สุดในโลก ชาวนาญี่ปุ่นเดินทางไปเที่ยวรอบโลก พักโรงแรมระดับ 5 ดาวก็เพราะรัฐบาลญี่ปุ่นเข้าใจดีว่า เกษตรกรเป็นฐานของประเทศ” นายธนินท์ กล่าว

ในจดหมายฯ นายธนินท์ เน้นย้ำว่า เกษตรกรเป็นภาคส่วนที่สำคัญของประเทศ การพัฒนาด้านเกษตรต้องคิดแบบครบวงจร เพื่อความยั่งยืน นั่นคือเกษตรกรต้องมีรายได้เพียงพอต่อการปลดหนี้และเลี้ยงครอบครัวได้ระยะยาวแต่ที่ผ่านมาเกษตรกรไทยเป็นเกษตรกรที่อยู่ภายใต้ความเสี่ยงสูง 3 ประการคือ 1.เงินทุน 2.ภัยธรรมชาติ และ 3.ราคาสินค้าเกษตรที่ไม่แน่นอน

ต้องเผชิญกับความเสี่ยงสูงแต่กำไรน้อย และยังมีปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน ปัญหาด้านชลประทานที่ขาดการบริหารจัดการทั้งที่ประเทศไทยโชคดีที่มีฝนตกปีละจำนวนมาก แต่กลับปล่อยให้น้ำ 60% ไหลลงสู่ทะเล ขณะที่น้ำใต้ดินอีกจำนวนมากก็ไหลลงสู่ทะเลเช่นกัน

ดังนั้น ขอเพียงการบริหารจัดการน้ำอย่างจริงจังก็จะช่วยเกษตรกรได้มากและมีทางเลือกที่จะปลูกพืชมูลค่าสูงที่ต้องใช้น้ำปริมาณมากได้ จะทำให้ชาวบ้านมีทางเลือกมากและหลายหลายขึ้นสามารถทำเกษตรผสมผสานได้และยังขยายไปเรื่องปศุสัตว์และการท่องเที่ยวได้ด้วย

นอกจากนี้ ยังมีโครงการภายใต้โมเดล 3 ประโยชน์ 4 ประสานที่ทำสำเร็จในประเทศจีน ได้แก่ โครงการไก่ไข่ครบวงจร 3 ล้านตัวที่ผิงกู่ นครปักกิ่ง โครงการไก่เนื้อ 100 ล้านตัวต่อปี หมู 1 ล้านตัวต่อปี รวมถึงโครงการเกษตรกรรมทันสมัยฉือซี พัฒนาพื้นที่ 8,000 ไร่ มณฑลเจ้อเจียง ซึ่งเป็นเกษตรผสมผสานแบบทันสมัยครบวงจรที่อยู่ใกล้เมือง โดยให้ทุกอย่างอยู่ในจุดเดียวกัน ครบทั้งด้านพืชผักและปศุสัตว์ เป็นต้น

นายธนินท์ กล่าวว่า จะคัดเลือกพื้นที่ต้นแบบเกษตรผสมผสาน 3 ประโยชน์ 4 ประสานใน 4 จังหวัด เพื่อเป็นเสมือนโรงเรียนให้เกษตรกรมาดูงาน มาศึกษาได้และพื้นที่ต้นแบบต้องยั่งยืน ต่อยอดได้ มีการใช้เทคโนโลยี การมีส่วนร่วมและกระจายรายได้ เพื่อสร้างความแข็งแกร่งแก่เศรษฐกิจฐานรากสร้างความมั่นคงทางอาหารและความปลอดภัยในอาหารในระยะยาวให้กับประเทศไทยจากหนองหว้าเมืองไทย ถึงผิงกู่เมืองจีน

ในจดหมาย นายธนินท์ เล่าถึงประสบการณ์ในการทำเกษตรผสมผสานภายใต้โมเดล 3 ประโยชน์ 4 ประสาน ทั้งในเมืองไทย และเมืองจีน เริ่มจากประเทศไทยหมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้า โดยระบุว่า หมู่บ้านแห่งนี้เกิดขึ้นจากการน้อมรับแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ด้านการปฏิรูปที่ดิน (พ.ศ.2516) ด้วยทรงเล็งเห็นว่าการปฏิรูปที่ดินเป็นวิธีการหนึ่งที่ช่วยให้เกษตรกรมีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง

โดยนายธนินท์ มองว่าสิ่งที่ต้องช่วยเหลือเกษตรกรเหล่านี้ คือ การนำเทคโนโลยีที่ดีที่สุดมาถ่ายทอดให้กับเกษตรกร พร้อมทั้งช่วยเหลือด้านการตลาดที่ซีพีมีความเชี่ยวชาญเพื่อให้เกษตรกรเหล่านี้มีความมั่นคงในอาชีพอย่างแท้จริง

โครงการ “หมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้า”ก่อตั้งขึ้น ในปี 2520 บนที่ดินขนาด 1,253 ไร่ ต.บ้านซ่อง อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา ส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงสุกรแก่เกษตรกรที่ยากจน โดยมีนายอำเภอจะเป็นผู้คัดเลือกเกษตรกรเหล่านี้ ถึงแม้ผู้ที่ร่วมโครงการจะไม่มีผู้ค้ำประกันแต่ธนาคารซึ่งเป็นผู้ปล่อยกู้เงินทุนค่อนข้างมั่นใจว่า หากเกษตรกรมีซีพีเป็นผู้ให้คำปรึกษาแล้วทุกอย่างจะราบรื่นเพราะซีพีเป็นทั้งตลาดรับซื้อและค้ำประกันวงเงินกู้ของเกษตรกรกับธนาคาร

ดังนั้น ซีพีจึงนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดในสมัยนั้นซึ่งเป็นเทคโนโลยีชั้นนำระดับโลกมาถ่ายทอดให้กับเกษตรกร โดยเริ่มจากผู้นำเกษตรกรที่เปิดรับการเรียนรู้และการดำเนินการในรูปแบบใหม่ สร้างการมีส่วนร่วมความเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา จากนั้นบริษัททำหน้าที่หาพันธุ์สัตว์ชั้นเยี่ยมจากสหรัฐอเมริกา หลังจากได้ผลผลิตมา บริษัททำหน้าที่หาตลาดให้กับเกษตรกรเท่ากับโครงการนี้เอาความเสี่ยงทั้งหมดมาอยู่ที่ซีพี

ผลปรากฎว่าผ่านไป 10 ปี จากเกษตรกรยากไร้ ไม่มีที่ทำกินก็สามารถเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ทั้งหมด ได้มีที่ดิน 24 ไร่เป็นของตัวเอง จากไม่มีอาชีพก็สามารถเลี้ยงสุกรได้อย่างช่ำชองจากไม่มีความรู้ก็สามารถรวมตัวกันจัดตั้งให้หมู่บ้านเป็นนิติบุคคล ในนาม”บริษัท หมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้า จำกัด”

อันนี้ถือว่าเป็นตัวอย่างหนึ่งแต่ก็ได้ทำมาหลายสิบปีแล้ว แต่ในยุคนี้ เทคโนโลยีพร้อมขึ้นกว่าเดิมมาก สามารถทำให้ครบวงจร และทันสมัยได้ มากขึ้น ซึ่งกำลังเลือกพื้นที่และจะทำให้รายได้ถึงมือเกษตรกรและเกษตรกรมีความยั่งยืน

ต่อมาในปี 2555 ซีพีได้ไปทำโครงการด้านการพัฒนาเกษตรกรรมให้กับชุมชนยั่งยืนให้ที่ประเทศจีน โดยทำโครงการไก่ไข่ครบวงจร 3 ล้านตัวผิงกู่-เครือซีพี ที่หมู่บ้านซีฟานเกอจวง (Xifan Gezhuang) ตำบลยู่โค (Yukou) เขตผิงกู่ (Pinggu) ประเทศจีน เป็นโครงการไก่ไข่ครบวงจรที่ทันสมัยที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียภายใต้ชื่อ “โครงการไก่ไข่ 3 ล้านตัวผิงกู่-เครือเจริญโภคภัณฑ์” ถือเป็นโครงการที่มีขนาดการเลี้ยงใหญ่เป็นอันดับหนึ่งของเอเชียและเป็นอันดับสองของโลก สามารถเลี้ยงไก่ไข่ได้ถึง 3 ล้านตัว มีกำลังการผลิตไข่ไก่มากถึง 54,000 ตันต่อปี

ซึ่งโครงการนี้มีมูลค่าการลงทุนรวม 720 ล้านหยวนหรือประมาณ 3,600 ล้านบาท และมีเกษตรกรจีนได้รับประโยชน์จากการดำเนินโครงการนี้ถึง 1,608 ครอบครัว หรือประมาณ 5,000 คน รายได้ของเกษตรกรมาจากการให้เช่าที่ดินหากคิดเป็นรายคนได้ค่าเช่าคนละ 400 หยวนต่อปี โบนัสจากสหกรณ์ 1,500 หยวนต่อปี และรายได้จากค่าจ้าง โดยค่าแรงขั้นต่ำในปักกิ่งอยู่ที่ 1,500 หยวน แต่โครงการนี้จ้าง 3,000 หยวน ถ้าครอบครัวไหนมีหลายคนรายได้รวมก็มากขึ้นไปอีก ทำให้โดยเฉลี่ยเกษตรกรมีรายได้เฉลี่ยประมาณ 22,000 บาทต่อราย

รวมถึงโครงการเกษตรกรรมทันสมัยฉือซี พัฒนาพื้นที่ 8,000 ไร่ มณฑลเจ้อเจียงให้เป็นเกษตรผสมผสานแบบทันสมัยครบวงจรที่อยู่ใกล้เมือง ใกล้นครเซี่ยงไฮ้ โดยให้ทุกอย่างอยู่ในจุดเดียวกันครบทั้งด้านพืชผักและปศุสัตว์ พร้อมทั้งนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการทำการเกษตร

อาทิ นำระบบจีพีเอส และคอมพิวเตอร์มาใช้ควบคุมการทำงานของเครื่องไถนา โดยไม่ต้องใช้คนขับ ช่วยลดต้นทุนและควบคุมประสิทธิภาพผลผลิตสามารถดูข้อมูลย้อนหลังได้ว่าพืชแต่ละชนิดเริ่มปลูกเมื่อไหร่ และนำสถิติไปสแกนคิวอาร์โค้ดดูข้อมูลย้อนหลังของผลิตภัณฑ์ตั้งแต่เริ่มต้นผ่านสมาร์ทโฟนได้ สำหรับโครงการนี้วางแผนให้เป็นแหล่งผลิตอาหารป้อน 100 ล้านคนรอบนครเซี่ยงไฮ้ ในเบื้องต้นมีมูลค่าโครงการ 4,000 – 5,000 ล้านหยวน หรือประมาณ 20,000 – 25,000 ล้านบาท

จากประสบการณ์ที่ผ่านมา เครือเจริญโภคภัณฑ์จึงมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนต้นแบบเพื่อยกระดับรายได้ที่มั่นคงให้กับเกษตรกรไทย ซึ่งในการดำเนินการในครั้งนี้จะนำองค์ความรู้จากที่มีประสบการณ์ในหลายประเทศกลับมาทำในประเทศไทยอีกครั้ง ซึ่งเทคโนโลยีสมัยนี้ก้าวหน้ามาก จะทำสำเร็จได้ง่ายกว่าในอดีตและทำให้รายได้ถึงมือเกษตรกรอย่างยั่งยืน

อย่างไรก็ดี ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อให้โครงการขยายผลได้ เน้นการมีส่วนร่วม และเกษตรกรเป็นเจ้าของ และที่สำคัญที่ต้องเร็วและมีคุณภาพและหากทำสำเร็จจะเป็นอีกหนึ่งโครงการที่เป็นโรงเรียนพัฒนาอาชีพให้เกษตรกร ให้เกิดรายได้อย่างยั่งยืนต่อไป

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 พ.ค. 63)

Tags: , , , ,
Back to Top