เช็คที่นี่! รวมมาตรการช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกร

เน้นจัดการหนี้สิน เพิ่มช่องทางจำหน่ายสินค้า สร้างรายได้

“อินโฟเควสท์” รวบรวมมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 แพร่ระบาด หลังรัฐบาลได้เริ่มมาตรการจ่ายเงินเยียวยาให้แก่ครัวเรือนเกษตรกร รายละ 5,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน (พ.ค.-ก.ค.63) จำนวน 10 ล้านคน วงเงินงบประมาณจำนวน 150,000 ล้านบาท

ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

  • พักชำระหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ย 3 เดือนโดยอัตโนมัติ หรือตั้งแต่เดือนเม.ย.-มิ.ย.2563 ให้กับลูกค้าที่ใช้บริการสินเชื่อที่มีกำหนดชำระเป็นรายเดือน ซึ่งลูกค้าต้องมีสถานะเป็นหนี้ปกติหรือค้างชำระไม่เกิน 3 เดือน (ณ วันที่ 1 มีนาคม 2563) และไม่ถูกจัดชั้นเป็นหนี้ด้อยคุณภาพ (NPL) ทั้งในส่วนของเกษตรกร บุคคล ผู้ประกอบการ(นิติบุคคล) กลุ่มบุคคล กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชุน และสหกรณ์ ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั้งทางตรงและทางอ้อม
  • โครงการสนับสนุนสินเชื่อฉุกเฉินวงเงินสูงสุด 10,000 บาท อัตราดอกเบี้ย 0.10% ต่อเดือน ระยะเวลาผ่อนชำระคืนสูงสุด 2 ปี ปลอดชำระเงินงวด 6 งวดแรก โดยเมื่อรวมอายุผู้กู้กับระยะเวลาผ่อนชำระคืนแล้วต้องไม่เกิน 70 ปี ไม่ต้องใช้หลักประกัน
  • โครงการสินเชื่อ SME เกษตร (วงเงินกู้ ไม่เกิน 20 ล้านบาท) เฉพาะสัญญาที่มีกำหนดชำระเป็นรายเดือน ระยะเวลาดำเนินโครงการตั้งแต่บัดนี้ ถึงวันที่ 30 มิ.ย.2563

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

  • โครงการประสานใจเกษตรกรไทย สู่พี่น้องชาวจีนสู้วิกฤตโควิด 19 มอบผลไม้ไทยให้คนจีนตั้งแต่ 25 เมษายน – 10 พฤษภาคม 2563
  • ส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศ สนับสนุนการค้าผ่านทางออนไลน์ ในช่วงที่ผลไม้เดือนเมษายนกับพฤษภาคมกำลังจะออก เช่น การที่ตลาด อ.ต.ก. เปิดจำหน่ายผ่านระบบออนไลน์ หรือกลุ่มเกษตรกรจันทบุรี ขายในลาซาด้า เป็นต้น

กองทุนหมุนเวียนเพื่อการกู้ยืมแก่เกษตรกรและผู้ยากจน

  • การผัดชำระหนี้รายงวดหรือทั้งหมดตามที่เห็นสมควร ได้ไม่เกิน 2 คราวติดต่อกัน คราวละไม่เกิน 1 ปี ทั้งนี้ต้องไม่เกินระยะเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญา
  • การขยายเวลาการชำระหนี้ได้ตามสมควร แต่ไม่เกิน 3 คราวๆละไม่เกิน 2 ปี ทั้งนี้ต้องไม่เกินระยะเวลา 20 ปี
  • การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ (ประเภทการขยายระยะเวลาการชำระหนี้) เป็นไปตามศักยภาพของลุกหนี้แต่ละราย เงินต้นตามสัญญาเงินกู้เดิม ให้คิดดอกเบี้ยในอัตรา 5% ต่อไป ส่วนดอกเบี้ยที่ค้างชำระให้โอนเป็นเงินต้นตามบัญีใหม่และได้คิดดอกเบี้ยทบต้น
  • การประนอมหนี้ กรณีผู้กู้ยืมขอชำระหนี้เงินต้นค้างชำระทั้งหมด ส่วนดอกเบี้ยชำระเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของดอกเบี้ยที่ผู้กู้ยืมค้างชำระอยู่กับสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้เสร็จสิ้นในคราวเดียวกัน

กรมชลประทาน

  • โครงการจ้างแรงงานชลประทานเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งและโควิด-19 ตามที่รัฐบาลอนุมัติงบ 4,497.59 ล้านบาท สำหรับการจ้างแรงงาน 88,838 คน โดยเปิดรับสมัครทั่วประเทศตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา ได้จ้างแรงงานแล้ว 28,623 คน คิดเป็น 32% ของแผน

กรมส่งเสริมสหกรณ์

  • โครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้เกษตรกรสมาชิกสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้รับจัดสรรงบประมาณเพื่อชดเชยดอกเบี้ย ปี 2563 จำนวน 280 ล้านบาท ซึ่งมีสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร ที่ได้รับการตรวจสอบแล้ว จำนวน 1,162 แห่ง สมาชิก จำนวน 375,708 ราย ดอกเบี้ยที่ขอชดเชย 1,011.405 ล้านบาท
  • ขยายระยะเวลาการชำระหนี้ให้สหกรณ์ ไม่เกิน 20 ปี ปลอดชำระต้นเงิน 3 ปีแรกและขอสินเชื่อเพื่อการฟื้นฟูการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ โดยคิดดอกเบี้ยในอัตราไม่ต่ำกว่า MLR-1 ต่อปี หากสหกรณ์ใดมีความประสงค์จะเข้าร่วมมาตรการดังกล่าว สามารถติดต่อ ธ.ก.ส. สาขาที่สหกรณ์กู้ยืมเงิน
  • สำหรับสหกรณ์ที่เป็นลูกหนี้กองทุนพัฒนาสหกรณ์ (กพส.) ให้ขยายเวลาการชำระหนี้ได้ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2563 ซึ่งสหกรณ์จะต้องผ่อนผันขยายระยะเวลาการชำระหนี้ให้แก่สมาชิกผู้กู้เงินจากสหกรณ์เช่นเดียวกัน
  • ส่วนกลุ่มเกษตรกรที่เป็นลูกหนี้กองทุนสงเคราะห์เกษตรกร จะได้รับการขยายระยะเวลาการชำระหนี้ที่จะครบกำหนดชำระออกไปอีก 1 ปี โดยขยายเวลาชำระหนี้ไปจนถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 และกลุ่มเกษตรกรจะต้องขยายระยะเวลาการชำระหนี้ งดคิดดอกเบี้ยและค่าปรับกับสมาชิกด้วย ซึ่งสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรที่จะขอขยายเวลาการชำระหนี้จากกองทุนพัฒนาสหกรณ์และกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร สามารถยื่นคำร้องได้ที่สำนักงานสหกรณ์จังหวัดทุกจังหวัด

กรมส่งเสริมการเกษตร

  • ช่วยกระจายสินค้าจากเกษตรกรโดยตรงสู่ผู้บริโภคภายใต้แคมเปญ “ซื้อสินค้าเกษตรไทย เกษตรกรอยู่ได้ ประเทศไทยอยู่รอด” มีสินค้าได้แก่ มะม่วง ลิ้นจี่ เมล่อน แคนตาลูป มันเทศ แตงโม ส้มโอ ทุเรียน ฝรั่ง กล้วยหอม มะละกอ มะพร้าว กะหล่ำปลี หน่อไม้ฝรั่ง กล้วยไม้ มะลิ ดอกดาวเรือง เป็นต้น
  • เปิดจุดจำหน่ายสินค้าให้กับเกษตรกรผ่านตลาดเกษตรกรใน 77 จังหวัด การจำหน่ายร่วมกับผู้ประกอบการโดยตรงผ่าน Modern Trade เช่น Tesco Lotus โดยรับสินค้าจากแปลงส่งเสริมเกษตรกร ชนิดผักมากกว่า 43 ชนิด
  • ประสานงานกับผู้ประกอบการ เช่น บริษัทรีเจนซี่ บรั่นดีไทย โรงงานนวพร ในการรับซื้อองุ่น และตลาดต่าง ๆ เช่น ตลาดไท
  • ประสานหน่วยงานราชการ ภาคเอกชน สั่งซื้อสินค้าเกษตรจากเกษตรกรโดยตรงเพื่อรับประทาน
  • ขายสินค้าสินค้าเกษตรแบบออนไลน์ (Online) ในทุกช่องทาง เช่น Website: www.ตลาดเกษตรกรออนไลน์.com รวมสินค้าและผลิตภัณฑ์พร้อมจำหน่ายออนไลน์จาก 77 จังหวัด

กระทรวงพาณิชย์

  • จับมือภาคเอกชน เปิด “ตลาดผลไม้รวมใจ คนไทยช่วยชาติ” เพื่อให้เกษตรกรและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากจังหวัดต่างๆ รวมถึงผู้ประกอบการสินค้าเกษตรนวัตกรรมแปรรูปกว่า 30 ราย ให้สามารถนำผลิตภัณฑ์มาจำหน่ายในศูนย์การค้าเซ็นทรัลฯ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ช่วยเพิ่มช่องทางการจำหน่ายให้กับเกษตรกร

กระทรวงอุตสาหกรรม

  • มาตรการสร้างนักรบอุตสาหกรรมอาหารพันธุ์ใหม่ (Food Warriors) เป็นมาตรการสร้างผู้ประกอบการอาหารรุ่นใหม่ตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่ ภาคการเกษตร ภาคการผลิต และภาคการตลาด เพื่อให้เป็นพลังขับเคลื่อนหลักในการสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างงาน สร้างรายได้ และสร้างการเติบโตให้เศรษฐกิจไทย โดยให้ความสำคัญกับการผลิตอาหารอนาคต (Future Food) เช่น อาหารสุขภาพ (Healthy Food) ผลิตภัณฑ์อาหารจากเทคโนโลยีชีวภาพ (Food Biotechnology Products) และอาหารใหม่ (Novel Food)
  • มาตรการสร้างนวัตกรรมอาหารอนาคต (Future Food Innovation) เป็นมาตรการยกระดับนวัตกรรมอาหารอนาคตสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ โดยสร้างโครงสร้างพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของไทย เช่น การพัฒนาศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมอาหาร (Food Industrial Transformation Center : FITC) เพื่อพัฒนาสินค้านวัตกรรมอาหาร การพัฒนาและสนับสนุนการใช้ Intelligence Packaging (บรรจุภัณฑ์ฉลาด) ที่สามารถแสดงข้อมูลระดับสินค้า (Grade) คุณภาพ และความปลอดภัยทางอาหาร เพื่อใช้บรรจุอาหารสด การส่งเสริมให้มี Future Food Lab ในพื้นที่เมืองนวัตกรรมอาหารส่วนขยายที่อยู่ในอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคและมหาวิทยาลัยที่มีศักยภาพ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมของผู้ประกอบการ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 พ.ค. 63)

Tags: , , ,
Back to Top