UAC เช็คภูมิคุ้มกันฝ่าโควิด ชูยุทธศาสตร์ “พลังงานทดแทน” สานเป้า 5 พันลบ.

นายชัชพล ประสพโชค ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ยูเอซี โกลบอล (UAC) เปิดเผยกับ “อินโฟเควสท์” ว่า บริษัทเตรียมความพร้อมทุกด้านเพื่อรองรับกับผลกระทบของวิกฤติโควิด-19 หลังจากเกิดการแพร่ระบาดไปในหลายประเทศทั่วโลกและลุกลามกลายเป็นวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหม่ โดยแผนหลักสำคัญคือการรักษาสภาพคล่องเงินสดหมุนเวียนในการดำเนินกิจการ ควบคู่ไปกับแนวทางลดต้นทุนและชะลอการใช้จ่ายในโครงการที่ไม่จำเป็นในช่วงนี้ อย่างไรก็ตาม บริษัทยังมีสถานะการเงินที่มั่นคงเนื่องจากบอร์ดบริหารให้ความสำคัญการบริหารจัดการหนี้ให้อยู่ในระดับที่สามารถรองรับกับความเสี่ยงได้ สะท้อนได้จากอัตราหนี้สินต่อทุนอยู่ในระดับต่ำกว่า 1 เท่า

แม้ว่าบริษัทจะมีหุ้นกู้จำนวน 400 ล้านบาทที่จะครบกำหนดไถ่ถอนภายในเดือน มิ.ย.นี้ แต่บริษัทได้เตรียมเงินสดพร้อมชำระคืนหุ้นกู้ดังกล่าวไว้เรียบร้อยแล้ว ส่วนแหล่งเงินทุนที่ใช้ขยายการลงทุนในอนาคตนั้นทางที่ประชุมผู้ถือหุ้นครั้งล่าสุดได้อนุมัติแผนออกหุ้นกู้ใหม่จำนวน 2 พันล้านบาทในระยะเวลา 10 ปี เป็นเงินลงทุนรองรับใช้ขยายธุรกิจเพิ่มเติมเพื่อเสริมศักยภาพทำกำไรสนับสนุนการเติบโตในระยะยาวสอดคล้องกับเป้าหมายรายได้แตะ 5 พันล้านบาทภายใน 3-4 ปีข้างหน้า

ทั้งนี้ บริษัทมียุทธศาสตร์มุ่งขยายธุรกิจพลังงานทดแทนมากขึ้น โดยโครงการที่อยู่ระหว่างการดำเนินการและมีความเป็นไปได้ในอนาคตที่จะช่วยผลักดันการเติบโตให้ได้ตามเป้าหมายในระยะยาว ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ (ไบโอแก๊ส) จำนวน 2 โรง คิดเป็นกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 3 เมกะวัตต์ (MW) ที่จังหวัดขอนแก่น เข้าข่ายในโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเร่งด่วน (Quick Win) เนื่องจากเป็นโรงไฟฟ้าที่ก่อสร้างเสร็จแล้ว ซึ่งหากรัฐบาลเปิดรับซื้อไฟฟ้าตามโครงการดังกล่าวในเดือนมิ.ย. บริษัทก็พร้อมยื่นข้อเสนอ เมื่อได้รับอนุมัติก็คาดว่าจะเริ่มทยอยรับรู้เป็นรายได้ทันที และคาดว่าจะรับรู้รายได้เต็มที่จากโครงการดังกล่าวในไตรมาส 3/63

นอกจากนั้น ยังมีโครงการจัดการขยะเพื่อผลิตพลังงานทดแทนและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่นำกลับมาใช้ใหม่ ที่นครเวียงจันทน์ ประเทศ สปป.ลาว มูลค่าเงินลงทุนประมาณ 30 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 990 ล้านบาทโดย UAC ถือหุ้น 50.1% ล่าสุดอยู่ระหว่างดำเนินการในเฟส 1 ในส่วนการคัดแยกขยะคาดแล้วเสร็จต้นไตรมาส 4/63 หลังจากนั้นค่อยเริ่มดำเนินการในเฟส 2 คือผลิตไฟฟ้าจากขยะคาดแล้วเสร็จได้ในปลายปี 2564 หรืออย่างช้าต้นปี 2565 เป็นส่วนช่วยเพิ่มรายได้ให้กับ UAC และเปิดโอกาสขยายธุรกิจเพิ่มในประเทศ CLMV ในอนาคต

และอีกโครงการสำคัญคือแผนการเข้าร่วมประมูลโรงไฟฟ้าชุมชนแบบทั่วไปตามนโยบายของรัฐบาล บริษัทคาดหวังชนะการประมูลจำนวน 5-10 โครงการ กำลังการผลิต 15 เมกะวัตต์ คาดว่าต้องใช้เงินลงทุน 1.5 พันล้านบาท โดยส่วนหนึ่งใช้เงินทุนของบริษัทและที่เหลือเป็นแหล่งเงินกู้จากสถาบันการเงิน

“แม้ว่าก่อนหน้านี้เรามีแผนเข้าไปขยายการลงทุนโครงการลงทุนใหม่ ๆ ในประเทศ CLMV แต่วิกฤติโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจหลายประเทศต้องสะดุด ส่งผลให้ต้องชะลอแผนขยายการลงทุนไปก่อน แต่หากสถานการณ์โควิด-19 ผ่อนคลายมากขึ้นน่าจะเห็นความชัดเจนของโครงการลงทุนใหม่ ๆ อีกครั้ง”

นายชัชพล กล่าว

นายชัชพล กล่าวต่อว่า ท่ามกลางวิกฤติโควิด-19 ส่งผลกระทบหลายอุตสาหกรรม แต่ด้วยโครงสร้างธุรกิจของ UAC ที่อิงกับอุตสาหกรรมภาคการผลิต และอิงกับธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับพลังงานเป็นหลัก ทำให้ได้รับผลกระทบในวงจำกัด แตกต่างกับธุรกิจอิงกับภาคบริการและท่องเที่ยวเพราะถูกผลกระทบจากการล็อกดาวน์ประเทศมีโอกาสพลิกฟื้นตัวได้ช้า ขณะที่ธุรกิจอุตสาหกรรมภาคการผลิตและพลังงาน หลังจากเศรษฐกิจเริ่มส่งสัญญาณดีขึ้นน่าจะเห็นการกลับมาฟื้นตัวสู่ภาวะปกติได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้น เป็นเหตุผลให้แนวโน้มผลประกอบการของ UAC ในช่วงที่เหลือของปีนี้จะยังคงรักษาระดับการเติบโตได้ต่อเนื่อง หลังจากไตรมาส 1/63 บริษัทมีกำไรสุทธิเติบโตทุบสถิติสูงสุดใหม่อยู่ที่ 104.89 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 54.57% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

“โชคดีที่ UAC มีธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมภาคการผลิต และอิงกับธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับพลังงานเป็นหลัก อาจจะกระทบบ้าง แต่คงกระทบไม่มากเท่าใดนัก เราพยายามให้ธุรกิจเติบโตยั่งยืน โดยให้ผลประกอบการเป็นสิ่งสะท้อนออกมา และวันนี้ UAC ก็กำลังเก็บเกี่ยวสิ่งที่ได้ดำเนินการมา สร้างผลตอบแทนกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง คิดว่าปีนี้คงไม่ได้เป็นปีที่แย่มากของ UAC ผลประกอบการไตรมาส 1/63 กำไรเป็นสถิติสูงสุดใหม่ คาดหวังว่าในช่วงที่เหลือของปีก็จะพยายามรักษาระดับนี้ต่อไป”

นายชัชพล กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 พ.ค. 63)

Tags: , , ,
Back to Top