GPSC เตรียมขอไลเซ่นส์ Shipper พร้อมจับมือ PTT ศึกษาธุรกิจ LNG

นายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ระหว่างพิจารณายื่นขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (Shipper) ต่อคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)

เพื่อให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันเทียบเท่ากับผู้ประกอบการธุรกิจไฟฟ้ารายอื่น โดยปัจจุบันได้ทำงานร่วมกับบมจ.ปตท. (PTT) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่และผู้ประกอบการธุรกิจก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) รายใหญ่ที่ครอบคลุมทั้งวงจร (Value Chain) เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการร่วมดำเนินธุรกิจ LNG โดยคาดว่าจะสรุปผลการดำเนินการในไตรมาส 3/63

“เรากำลังพิจารณาอยู่ เรากำลังศึกษาอยู่ ตอนนี้เราทำงานร่วมกับกลุ่ม ปตท. เพราะกลุ่มปตท.มีจุดแข็งเป็นผู้ประกอบการอยู่แล้ว และ handle ในปริมาณที่มากที่สุดตอนนี้ ขณะที่เรามีจุดแข็งในการเป็นผู้ใช้ก๊าซฯรายใหญ่รายหนึ่งของประเทศ ก็มาดูร่วมกันว่าจะบูรณาการร่วมกันอย่างไรเพื่อให้เกิดประโยชน์ทั้งสองฝ่าย…เราควรทำตัวเองให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันไม่ด้อยไปกว่าคนอื่นในเรื่องต้นทุน ส่วนจะมีวิธีการอย่างไร แต่ละบริษัทมีวิธีการที่แตกต่างกันเบื้องต้นได้คุยกับปตท.แล้วก็มาในเชิงบวก ไม่น่าจะเกิน 1-2 ไตรมาสนี้ก็น่าจะรู้ ไตรมาส 3 ก็อาจจะรู้ใครทำได้ดีกว่ากัน แล้วได้สิ่งที่เป็นประโยชน์กับ GPSC หรือเปล่า”

นายชวลิต กล่าว

นายชวลิต กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวภายหลังจากที่มีผู้ประกอบการธุรกิจไฟฟ้า 3 รายเพิ่งได้รับใบอนุญาต Shipper เพื่อนำเข้า LNG เข้ามาใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับโรงไฟฟ้าของตนเอง ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าลดลง ได้แก่ บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) ได้รับใบอนุญาต 1 ใบ โดยเตรียมนำเข้า LNG ปริมาณ 3 แสนตัน/ปี ,บริษัทร่วมทุนระหว่าง GULF และบมจ.ราช กรุ๊ป (RATCH) ในนามบริษัท หินกองเพาเวอร์โฮลดิ้ง จำกัด (HKH) ได้รับใบอนุญาต 1 ใบ เตรียมนำเข้า LNG ปริมาณ 1.4 ล้านตัน/ปี และกลุ่มบมจ.บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM) ได้รับใบอนุญาต 1 ใบ เตรียมนำเข้า LNG ในปริมาณ 6.5 แสนตัน/ปี

นายชวลิต กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทใช้ก๊าซฯเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า คิดเป็นปริมาณในรูปแบบ LNG เกือบ 2 ล้านตัน/ปี และปัจจุบันมีโรงไฟฟ้าประเภท SPP ที่ใกล้จะหมดอายุ (SPP Replacement) อีก 7 สัญญา กำลังผลิตรวมประมาณ 600 เมกะวัตต์ (MW) ซึ่งจะเริ่มทยอยเข้าระบบตั้งแต่ปี 65 โดยทั้ง 7 สัญญาจะต้องจัดหาเชื้อเพลิงใหม่ โดยในส่วนนี้มี 6 สัญญาใช้ก๊าซฯเป็นเชื้อเพลิง ส่วนอีก 1 สัญญาเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดเล็ก

ทั้งนี้ การจัดหาเชื้อเพลิงสำหรับ SPP Replacement นั้นอยู่ระหว่างการพิจารณาเพื่อให้เกิดความเหมาะสมและเป็นประโยชน์กับบริษัท ขณะที่ก็ต้องรอดูนโยบายการเปิดเสรีก๊าซฯ และการปรับสูตรราคาก๊าซฯของกระทรวงพลังงานและกกพ.ประกอบกันด้วย

นอกจากนี้ บริษัทยังได้ร่วมกับ ปตท. ศึกษาความเป็นไปได้โครงการโรงไฟฟ้าชุมชน ที่รัฐบาลมีแผนจะเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการดังกล่าว โดยเบื้องต้น ปตท.ให้ความสนใจโครงการตามแนวท่อก๊าซฯ เพราะเป็นพื้นที่ที่มีชุมชนและมีเศรษฐกิจพอเพียง โดยให้ความสนใจเชื้อเพลิงประเภทก๊าซชีวภาพ และพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งต้องรอดูผลการศึกษาว่าจะมีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด

ขณะเดียวกัน บริษัทยังอยู่ระหว่างการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี เพื่อเสนอเข้าสู่ที่ประชุมผู้บริหารระดับสูงกลุ่มปตท.เพื่อกำหนดยุทธ์ศาสตร์และทิศทางในอนาคตกลุ่ม (Strategic Thinking Session:STS) ในช่วงกลางปีนี้ โดยในช่วงที่มีสถานการณ์โควิด-19 บริษัทก็จะให้ความสำคัญกับกระแสเงินสดมากที่สุด ซึ่งในระยะสั้นยืนยันได้ว่ามีกระแสเงินสดและแหล่งเงินทุนเพียงพอในการลงทุนตามแผนและการเข้าซื้อกิจการ ท่ามกลางปัจจัยต่าง ๆ ที่ต้องเฝ้าจับตามองในส่วนของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน และสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ว่าจะมีผลต่อทิศทางเศรษฐกิจของโลกอย่างไร


“เรากำลังดูว่าพวกนี้จะกระทบต่อ demand supply อย่างไร เราถึงจะมาดู portfolio ที่จะไปลงมีความเหมาะสมอย่างไร ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งตอนนี้เราอยู่ในช่วงทำแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี ทั้งของ GPSC และ ปตท.ก็ทำทั้งกลุ่ม เรากำลังดูยุทธศาสตร์ว่าเราจะแสวงหาความร่วมมืออย่างไรได้บ้าง เพื่อจะเอาชนะตัววิกฤติต่าง ๆ ที่ทำให้เกิด new normal”

นายชวลิต กล่าว

ทั้งนี้ เบื้องต้น GPSC วางเป้าหมายมีกำลังผลิตไฟฟ้าใหม่ในช่วง 5 ปีข้างหน้า (ปี 63-67) จำนวน 1,500 เมกะวัตต์ (MW) ซึ่งไม่นับรวมกำลังผลิตไฟฟ้าประเภท SPP Replacement จากปัจจุบันที่มีกำลังผลิตไฟฟฟ้าในมือแล้ว 5,026 เมกะวัตต์ โดยในส่วนนี้เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว 4,766 เมกะวัตต์ พร้อมทั้งวางเป้าจะมีกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในสัดส่วน 30% จาก 11% ของพอร์ตในขณะนี้ โดยวางเป้าหมายจะใช้เงินลงทุนช่วง 5 ปีที่ราว 6 หมื่นล้านบาท

นายชวลิต กล่าวอีกว่า สำหรับสถานการณ์โควิด-19 ในปัจจุบันกระทบกับลูกค้านิคมอุตสาหกรรมของบริษัทในบางกลุ่ม อย่างกลุ่มยานยนต์ที่หยุดโรงงานชั่วคราว แต่ขณะนี้กลุ่มลูกค้าดังกล่าวก็เริ่มกลับมาฟื้นตัวหลังรัฐทยอยผ่อนคลายล็อก หลังจากที่ออกมาตรการเข้มเพื่อสกัดการแพร่ระบาด ขณะเดียวกันก็ได้จับตากลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมบางรายที่ลดลงไปเป็นเพราะการเลื่อนแผนซ่อมบำรุง หรือมีปัญหาเรื่องขาดแคลนน้ำหรือไม่ แต่ล่าสุดเห็นว่าสถานการณ์น้ำในพื้นที่พัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) สถานการณ์ได้ผ่อนคลายแล้วในปีนี้และน่าจะผ่านพ้นไปได้

ส่วนแนวทางที่จะให้ความช่วยเหลือลูกค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมนั้น ขณะนี้ยังต้องรอดูนโยบายการช่วยเหลือด้านค่าไฟฟ้าของภาครัฐออกมาก่อนว่าจะมีมาตรการเพิ่มเติมหรือไม่ หลังจากที่ได้ประกาศลดค่าไฟฟ้า 3% ให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าทุกประเภทในช่วงเดือนเม.ย.-มิ.ย.63 ซึ่งที่ผ่านมาภาครัฐก็ได้เจรจากับผู้ประกอบการ SPP ว่าจะมีแนวทางช่วยเหลือภาครัฐได้อย่างไรบ้าง ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปขอรอดูมาตรการรัฐที่ชัดเจนก่อนแล้วค่อยมาพิจารณาอีกครั้ง

ปัจจุบันบริษัทขายไฟฟ้าให้กับกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรม (IU) สัดส่วน 51% ส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและโรงกลั่น รวมถึงมีลูกค้ากลุ่มยานยนต์เล็กน้อย และการขายไฟฟ้าให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สัดส่วน 48% และลูกค้าอื่นๆ อีก 1%

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 มิ.ย. 63)

Tags: , , , , , , , , , , , ,
Back to Top