กกร.คงคาดการณ์จีดีพีปีนี้ถึง -5% ส่งออกหดตัวถึง -10%

นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยว่า กกร.ยังคงประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2563 ไว้ตามเดิม โดยมองว่า เศรษฐกิจไทยอาจหดตัวในกรอบ -5.0% ถึง -3.0% และการส่งออกอาจหดตัว -10.0% ถึง -5.0% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไป คาดว่าอยู่ในกรอบ -1.5% ถึง 0.0%

นายปรีดี กล่าวว่า แม้สถานการณ์โควิด-19 ในไทยจะดีขึ้นจนภาครัฐคลายล็อกให้กิจการต่างๆ กลับมาเปิดดำเนินการตั้งแต่เดือน พ.ค. (เฟส 1-3) รวมทั้งมีมาตรการเยียวยาเพื่อบรรเทาผลกระทบหลายด้าน ทำให้เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดแล้ว แต่ด้วยกำลังซื้อครัวเรือนที่อ่อนแอและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ขณะเดียวกันเศรษฐกิจโลกที่อยู่ในภาวะถดถอย อีกทั้งยังมีความเสี่ยงจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ปะทุขึ้นอีกรอบ ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจและภาคธุรกิจไทยจะยังไม่กลับสู่ภาวะปกติหรือก่อนโควิด-19 และคงต้องใช้เวลาอีกพอสมควร ดังนั้นสถานการณ์การว่างงานในประเทศจึงยังอยู่ในภาวะที่น่ากังวล ซึ่งที่ประชุม กกร. เห็นว่า ภาครัฐควรเร่งขับเคลื่อนแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมโดยเร็ว โดยเน้นโครงการที่เพิ่มเม็ดเงินลงสู่เศรษฐกิจฐานราก และฟื้นฟูธุรกิจท้องถิ่นเพื่อสร้างงานอย่างครอบคลุมทั่วประเทศ

นอกจากนี้ กกร.เห็นว่า การเร่งผลักดันการใช้วงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) ภายใต้พระราชกำหนด 5 แสนล้านบาท ให้มีความคืบหน้าอย่างรวดเร็วจะมีส่วนสนับสนุนภาคธุรกิจเอกชนโดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมให้สามารถประคองกิจการต่อไปได้ท่ามกลางสถานการณ์ที่ยากลำบากนี้ โดยทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรร่วมกันหารือและบริหารจัดการให้เงื่อนไขต่างๆ ของการปล่อยสินเชื่อในทางปฏิบัติมีความคล่องตัวมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ เช่น อาจให้ บสย. เข้ามาช่วยค้ำประกันสินเชื่อเพิ่มเติม หลังสิ้นสุดโครงการ 2 ปี ตาม พ.ร.ก. (โครงการ PGS-9)

นายปรีดี กล่าวว่า ภายใต้สภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปหลังการระบาดของโควิด-19 และเศรษฐกิจโลกที่ถดถอย สร้างความท้าทายต่อทิศทางเศรษฐกิจและการดำเนินธุรกิจในช่วงข้างหน้า การกลับมาพึ่งพาแรงขับเคลื่อนจากปัจจัยภายในประเทศจึงเป็นสิ่งที่ต้องเร่งผลักดัน กกร.จึงเสนอให้มีการประชุมระหว่างภาครัฐและเอกชน (กรอ.) เพื่อให้มีเวทีสำหรับการหารือนำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างจริงจังอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง อาทิ การฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19, การขับเคลื่อนโมเดล BCG (Bioeconomy, Circular Economy, Green Economy) เป็นต้น โดยควรเริ่มประชุมครั้งแรกในเดือน ก.ค.63

สำหรับปัญหาภัยแล้งซึ่งจะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ กกร.มีความเป็นห่วง และขอให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอในการบริหารจัดการน้ำ รวมทั้งเร่งดำเนินโครงการเพื่อให้มีปริมาณน้ำเพียงพอต่อความต้องการ เนื่องจากปัจจุบันยังมีปริมาณน้ำไม่เพียงพอ

ส่วนความคิดเห็นเรื่องข้อตกลง CPTPP กกร.เห็นควรสนับสนุนให้ประเทศไทยเข้าร่วมเจรจากับกลุ่มประเทศภายใต้ข้อตกลง CPTPP ในเดือน ส.ค.63 เนื่องจากการเข้าร่วมเจรจาทำให้เห็นถึงผลดีหรือผลเสียต่อการเข้าร่วมเป็นประเทศภาคีตามข้อตกลง CPTPP ซึ่งกระบวนการเข้าร่วมเป็นประเทศภาคีนั้น มีขั้นตอนเป็นลำดับขั้น ซึ่งประกอบด้วย การขอเข้าร่วมเจรจา การเข้าร่วมเจรจากับประเทศภาคี หลังจากเจรจาเสร็จแล้ว ต้องนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณา ซึ่งขณะเดียวกันต้องมีการรับฟังประชาพิจารณ์ผลการเจรจาด้วย และสุดท้ายต้องเสนอให้รัฐสภาพิจารณาเห็นชอบ ซึ่งต้องใช้เวลาในทุกกระบวนการอย่างน้อย 4 ปี และประเทศไทยสามารถยุติการเจรจาในทุกขั้นตอนได้หากเห็นว่าประเทศไทยไม่ได้ประโยชน์ กกร. เห็นว่าการเข้าร่วมเจรจาจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย เพื่อให้ประเทศไทยทราบถึงข้อตกลง และเป็นประโยชน์สำหรับการปรับตัวของประเทศไทยให้สามารถแข่งขันกับประเทศต่างๆ ได้ในเวทีโลก โดยเฉพาะประเทศในกลุ่ม ASEAN

“เรื่องนี้ยังไม่มีข้อสรุป มีขั้นตอนอีกมาก ยังไม่รู้จะจบปีไหน สหรัฐเองก็เคยเข้าร่วมแต่มาประกาศถอนตัวเมื่อรู้ว่าเสียเปรียบ ถ้าไม่เข้าร่วมก็ต้องคิดให้รอบคอบ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านเรา เราอาจเข้าไปค้าขายกับใครไม่ได้จะยิ่งเสียหาย ถ้าตัดสินใจช้าจะทำให้ทำงานยากขึ้น ไม่ได้ตัดสินใจเข้าร่วมทันทีแต่ร่วมเจรจา จะเป็นประโยชน์ในการรับรู้ข้อมูลและการแข่งขัน ถ้าในอนาคตพบว่าเป็นปัญหาก็ถอนตัว” นายปรีดี กล่าว

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เห็นด้วยที่จะเข้าร่วมเจรจา CPTPP เพราะจะช่วยให้รู้เขารู้เราว่าเป็นอย่างไร ซึ่งจะมีการจัดสัมมนาเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและสร้างความเข้าใจให้กับสังคม หลังจากนั้นก็จัดทำข้อสรุปเสนอรัฐบาลให้เป็นข้อมูลในการเจรจา

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 มิ.ย. 63)

Tags: , , , , , , ,
Back to Top