นายกฯ เป็นประธานลงนามสัญญาร่วมทุนสนามบินอู่ตะเภาฯ เป็นสนามบินเชิงพาณิชย์หลักแห่งที่ 3

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาร่วมลงทุน โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สพอ.) และ บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด ซึ่งเป็นนิติบุคคลตั้งขึ้นเฉพาะกิจ โดยกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส ผู้ยื่นข้อเสนอเงินประกันขั้นต่ำเป็นผลตอบแทนให้แก่รัฐดีที่สุด เพื่อร่วมกันลงทุนพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก

โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ถือเป็นหนึ่งในโครงการโครงสร้างพื้นฐานหลักสำคัญของอีอีซี มีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับสนามบินอู่ตะเภาเป็น “สนามบินนานาชาติเชิงพาณิชย์หลัก แห่งที่ 3” เชื่อมสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิด้วยรถไฟความเร็วสูง ทำให้ทั้ง 3 สนามบิน สามารถรองรับผู้โดยสารรวมกันได้มากถึง 200 ล้านคนต่อปี

นอกจากนี้ โครงการฯ จะทำให้เกิดศูนย์กลางการพัฒนาธุรกิจเป้าหมาย โดยเฉพาะการเป็น “ศูนย์กลางอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และ Logistics & Aviation รวมถึงการเป็นศูนย์กลางของ “มหานครการบินภาคตะวันออก” ที่จะครอบคลุมการพัฒนาพื้นที่เมือง ประมาณ 30 กม. โดยรอบสนามบิน (พัทยาถึงระยอง) ซึ่งเป็นการสานต่อเจตนารมณ์การพัฒนาอีสเทิร์นซีบอร์ดที่ต้องการให้เกิดเป็นเมืองท่าและเมืองธุรกิจสำคัญของประเทศไทย โดยเข้าเชื่อมโยงป็นส่วนขยายของกรุงเทพฯ และปริมณฑลไปทางตะวันออก ที่สามารถเชื่อมโยงกันได้สะดวกทั้งทางน้ำ ทางบก และทางอากาศ เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการบินและประตูเศรษฐกิจสู่เอเชีย

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า การลงนามในวันนี้ เป็นการยืนยันในเจตจำนงค์ของความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ซึ่งเป็นแนวทางในการลงทุนของรัฐบาลต่อไป ถือเป็นก้าวสำคัญและเป็นมิติใหม่ในการก้าวเดินของประเทศไทย พร้อมยกระดับประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางทางการบินของภูมิภาค อีกทั้งจะมีความต่อเนื่องในการลงทุนในทุกมิติ ซึ่งรัฐบาลพยายามเร่งรัดในทุกเรื่องเพื่อตอบสนองเป้าหมายที่ตั้งไว้ จึงขอบคุณประชาชนในพื้นที่ที่มีส่วนร่วม

“โครงการดังกล่าวถือเป็นโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหลักของอีอีซี ที่จะส่งเสริมความเข้มแข็งทั้งด้านเศรษฐกิจ และสังคม ยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยจะพัฒนาเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออกให้เป็นเขตเศรษฐกิจชั้นนำของภูมิภาค”

นายกรัฐมนตรีระบุ

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ทุกคนยินดีที่โครงการมีความคืบหน้า ซึ่งเป็นการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนต่อเนื่องจากการลงนามในสัญญาร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน เมื่อ 24 ต.ค.62 ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก รัฐบาลมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออกอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มมาตั้งแต่รัฐบาลแรกที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นผู้เริ่มโครงการ จนมาถึงวันนี้มีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี มาขับเคลื่อนต่อ ขอขอบคุณทุกคนและทุกภาคส่วนที่ริเร่มมาด้วยกัน ซึ่งกว่าจะถึงวันนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย

“เราจะต้องเป็น New Normal คิดใหม่ ชีวิตที่เป็นปกติใหม่ เราต้องมีสิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้น คือความร่วมมือระหว่างทุกภาคส่วน ซึ่งไม่มีอะไรทำได้โดยคนๆ เดียว หรือเพียงหน่วยงานเดียว โครงการอีอีซีเกิดขึ้นโดยการนำพาของรัฐบาล มีหลายพรรคหลายกระทรวงที่เกี่ยวข้อง สิ่งที่เกิดขึ้นได้ในวันนี้แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือของทุกคน และขอฝากทุกคนไว้ด้วยว่าความร่วมมือที่เกิดขึ้นแบบนี้ขอให้ทำกันต่อไป ในเรื่องที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศของเรา ไม่มีอะไรจะทำได้นอกจากการคิดใหม่ ทำใหม่ บูรณาการในสิ่งใหม่ๆ ก็จะทำให้การทำงานลุล่วงได้ ถ้าเรามีปัญหาอุปสรรค ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรต้องเร่งแก้ไข ผมคาดหวังว่าสิ่งที่ทำในวันนี้ จะเป็นประโยชน์เพื่ออนาคต โครงการนี้มีอายุสัญญาโครงการกว่า 50 ปี พวกเราใครจะอยู่ก็อยู่ ผมก็หวังว่าจะอยู่กันได้ทุกคน แต่ไม่ว่าเราจะอยู่หรือไม่อยู่โครงการนี้ก็จะอยู่คู่กับประเทศยาวนานเป็นร้อยปี” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

นายกรัฐมนตรี กล่าวในตอนท้ายว่า สิ่งสำคัญคือต้องเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายทั้ง 13 อุตสาหกรรมให้เกิดขึ้นโดยเร็ว รวมทั้งเมืองอัจฉริยะ ซึ่งทุกอย่างต้องมีการเปลี่ยนแปลง เพราะนี่คือโลกยุคใหม่ อาจไม่ใช่แค่หลังโควิด-19 เพราะถึงอย่างไรก็ต้องเปลี่ยนแปลง วันนี้ถ้าโลกปรับหรือเปลี่ยน แต่เราไม่ปรับหรือเปลี่ยนแปลงอะไรเลย ประเทศไทยก็อยู่ไม่ได้ คนไทยก็อยู่ไม่ได้ ต่อให้ใครก็ตามที่จะเข้ามาบริหารแผ่นดินก็อยู่ไม่ได้เหมือนกัน เมื่อประเทศและประชาชนอยู่ไม่ได้แล้ว เราจะทำอย่างไร วันนี้จึงขอฝากคำขอบคุณและกำลังใจให้ทุกคน เพราะรู้ว่าทุกคนทำงานหนัก

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) กล่าวว่า โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะภาฯ เป็นการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนโดยใช้เงินลงทุนประมาณ 290,00 ล้านบท แต่เป็นโครการที่รัฐได้ผลประโชน์ด้านการเงิน 305,555 ล้านบาท ได้ภาษีอากรกว่า 62,000 ล้านบาท เกิดการจ้างงานเพิ่ม 15,600 ตำแหน่งต่อปี ในระยะ 5 ปีแรก เกิดการพัฒนาทักษะบุคลากรด้านธุรกิจการบินและธุรกิจเชื่อมโยง เพิ่มเทคโนโลยีองค์ความรู้ด้านธุรกิจการบิน โดยทรัพย์สินทั้งหมดจะตกเป็นของรัฐเมื่อสิ้นสุดสัญญา

“เมื่อผสานโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก จะก่อให้เกิดการลงทุนในมิติต่าง ๆ ทั้งจากภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศมาสู่พื้นที่อีอีซี ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับประเทศไทยและคนไทยทุกคน”

นายคณิศ กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 มิ.ย. 63)

Tags: , , ,
Back to Top