เอเซีย พลัส คาด GDP ไทยปีนี้หดตัวแรง -7.8 ถึง -8.4%

นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการสายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส เปิดเผยในหัวข้อ “Economics Update” จากกิจกรรมของเพจห่วงใย Thai Business ว่า แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทยถือว่าควบคุมได้ค่อนข้างดี แต่หลังจากที่ทั่วโลกยังคงมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และยังไม่สามารถกลับมาดำเนินกิจการต่าง ๆ ได้ปกติ ทางบล.เอเซีย พลัส จึงได้ปรับคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยลงมาเป็นหดตัว -7.8 ถึง -8.4% จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโต 1% เนื่องจากคาดว่าการส่งออกในปีนี้จะหดตัวมากถึง -10 ถึง -13.7% จากเดิมที่คาดจะเติบโต 1.4% การนำเข้าหดตัว -14 ถึง -15% จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโต 2.7%

นอกจากนี้ บล.เอเซีย พลัส ยังคาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้น่าจะอยู่ในระดับ 0.25-0.50% จากเดิมที่คาดว่าจะอยู่ที่ 0.75-1.25% ซึ่งเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆกว่า 100 ประเทศทั่วโลกประเทศไทยติดอยู่ในอันดับ 1 ใน 20 ที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำที่สุด จึงมองว่าหากจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายคงทำได้เพียงอีก 1 ครั้ง หรือลดลงมาได้อีก 0.25% เท่านั้น

ขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจทั่วโลกนั้น กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะหดตัว -4.9% จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโต 2.9% ซึ่งถือว่าเป็นระดับการหดตัวของเศรษฐกิจที่รุนแรงมาก โดยได้ปรับลดประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจโลกลดลงทุกๆประเทศและติดลบทั้งหมด ยกเว้นประเทศจีนที่คาดว่าเศรษฐกิจยังสามารถขยายตัวได้ 1% แต่ก็ถือว่าเป็นระดับที่ค่อนข้างต่ำจากปีก่อนที่เติบโตได้ 6.1-6.2% สะท้อนผลกระทบที่มีต่อเศรษฐกิจโลกที่ค่อนข้างรุนแรง

ในส่วนของประเทศไทย IMF คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะติดลบ 7.7% ในส่วนของธนาคารโลก (World Bank) คาดว่าจะหดตัว 5% โดยหากเทียบกับการหดตัวของประเทศอื่นๆในภูมิภาคอาเซียน ประเทศไทยถือว่าอยู่ในประเทศที่มีการหดตัวมากที่สุด โดยเป็นผลมาจากโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศไทยที่พึ่งพาการท่องเที่ยว และการส่งออกค่อนข้างมาก จึงมีผลกระทบที่ค่อนข้างรุนแรง ต่อมาในปี 64 IMF คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะสามารถเติบโตได้ 5% ขณะที่ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) คาดการณ์ว่าจะเติบโตได้ 4.1%

นายเทิดศักดิ์ กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมาแม้ว่าจะเกิดการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกที่สองในหลายประเทศ แต่ดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลกไม่ได้มีการปรับตัวลดลงมามากนัก และยังปรับเพิ่มขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยได้รับปัจจัยหนุนจากเม็ดเงินที่ถูกอัดฉีดเข้าสู่ระบบจำนวนมากจึงกลายเป็นสภาพคล่องส่วนเกิน ส่งผลให้ดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลกสามารถยืนอยู่ได้

ทั้งนี้ หลังจากที่มีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ทั่วโลก การกลับมาใช้บริการของร้านค้าต่างๆ ยังน้อยกว่าในช่วงภาวะปกติค่อนข้างมาก หรือลดลงไปราว 20-30% และถึงแม้ว่าจะมีการคลายล็อกดาวน์เต็มที่ก็เชื่อว่าการกลับมาใช้บริการก็จะยังไม่ฟื้นกลับมาเท่ากับช่วงภาวะปกติก่อนหน้าที่จะเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 แต่อย่างไรก็ตามถือว่าดีกว่าช่วงที่มีการแพร่ระบาด และมีการล็อกดาวน์ที่เป็นจุดต่ำสุด เพราะผู้ใช้บริการลดลงไปมากถึง 60-80%

สำหรับการพัฒนาวัคซีนเพื่อรักษาโควิด-19 ปัจจุบันอยู่ในขั้นที่ 2 เป็นส่วนใหญ่ ยังไม่ได้มีการทดลองในมนุษย์แบบมีนัยสำคัญ หรือไม่มีการทดลองในวงกว้าง จึงมองว่าการพัฒนาวัคซีนได้สำเร็จนั้นอย่างเร็วที่สุดคือช่วงปลายปีนี้ หรือช้าที่สุดจะเป็นช่วงกลางปี 64 แต่สำคัญกว่านั้นคือกว่าที่วัคซีนจะกระจายไปได้ทั่วถึงประชาชนยังต้องใช้เวลาอีกค่อนข้างมาก

ส่วนปัจจัยเรื่องสงครามทางการค้าระหว่างประเทศนั้น มีโอกาสจะรุนแรงมากขึ้น โดยเป็นผลมาจากปัจจุบันผลสำรวจความนิยมพรรคการเมืองในประเทศสหรัฐ พรรคเดโมแครตและพรรครีพับลิกันมีความแตกต่างอย่างชัดเจนหลังจากที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และการประท้วงเรื่องสีผิวที่กระจายไปทั่วโลก ส่งผลให้คะแนนความนิยมของพรรครีพับลิกันลดลงมาอย่างต่อเนื่อง หรือมาอยู่ที่ 39% แต่ในส่วนของพรรคเดโมแครตปรับตัวสูงขึ้นเป็น 65%

นายเทิดศักดิ์ กล่าวว่า ความได้เปรียบเสียเปรียบของทั้งสองพรรคชัดเจนมากขึ้น ทางพรรครีพับลิกันจะชูนโยบายที่สำคัญออกมาเพื่อที่จะดึงคะแนนความนิยมของพรรคกลับมา โดยมีนโยบายสำคัญคือ America First ที่มีส่วนสำคัญให้เกิดสงครามทางการค้า ปัจจุบันมองว่าการจะหันหน้าเข้าเจรจาการค้าด้วยดีนั้นเป็นไปได้ยาก เนื่องจากจีนได้ออกกฎหมายความมั่นคงที่เข้าไปควบคุมในฮ่องกงด้วย ขณะที่สหรัฐได้กฎหมายออกมาช่วยกลุ่มผู้ชุมนุมในฮ่องกง

ล่าสุด สหรัฐยังออกกฎหมายเพื่อที่จะระงับวีซ่าของผู้ที่มีส่วนในการออกกฎหมายควบคุมด้านความมั่นคงในฮ่องกง ส่วนจีนก็ได้ออกมาตอบโต้โดยการระงับวีซ่าของผู้ที่ออกกฎหมายสนับสนุนผู้ชุมนุมในฮ่องกง ซึ่งจะเห็นว่ามีความร้อนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมองว่าจะมีผลกระทบต่อสงครามทางการค้าเพิ่มขึ้นด้วย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 มิ.ย. 63)

Tags: , , , , , ,
Back to Top