IRPC รุกผลิตสินค้าเกรดพิเศษหวังดัน EBITDA แตะ 2 หมื่นลบ.อีกรอบในปี 68

นายนพดล ปิ่นสุภา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) เปิดเผยว่า บริษัทวางเป้าหมายการดำเนินงานเพื่อรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และสร้างองค์กรให้มีความแข็งแรง ภายใต้กลยุทธ์ Strengthen IRPC ในระยะสั้น 4-5 ปี

ซึ่งจะผลักดันให้กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ภายในปี 68 กลับมาแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 2 หมื่นล้านบาทอีกครั้งหลังจากที่เคยทำได้เมื่อปี 60 และวางเป้าระยะยาวจะมี EBITDA ในปี 73 ที่ระดับ 3 หมื่นล้านบาท จากในปี 62 บริษัทมี EBITDA อยู่ที่ 5.94 พันล้านบาท

ภายใต้แผนกลยุทธ์ดังกล่าว จะเน้นการเพิ่มสินค้าเกรดพิเศษ (specialties products) ทั้งในส่วนของธุรกิจปิโตรเลียมและปิโตรเคมี การเพิ่มช่องทางการจำหน่าย การเพิ่มประสิทธิภาพ การบริหารจัดการสต็อก การลดต้นทุนต่าง ๆ โดยใช้เงินทุนในช่วงปี 63-66 ประมาณ 2.18 พันล้านบาท ซึ่งจะสร้างผลประโยชน์ได้ราว 4.6 พันล้านบาทเมื่อสิ้นสุดโครงการ โดยผลประโยชนที่จะได้มากสุดจะเกิดขึ้นในปีนี้ที่ราว 1.9 พันล้านบาท

ปัจจุบันบริษัทมีการผลิตสินค้ามูลค่าเพิ่ม (HVA) สำหรับผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี ในสัดส่วน 55% และสินค้ากลุ่ม Commodity 45% โดยในส่วนของ HVA แบ่งเป็น กลุ่มสินค้า Commodity Plus ซึ่งมีราคาสูงว่าสินค้า Commodity ราว 1% และกลุ่มสินค้า Specialty ในสัดส่วน 13% มีเป้าหมายจะเพิ่มเป็น 30% ในปี 67 ซึ่งสินค้ากลุ่ม Specialty มีราคาสูงกว่าสินค้าประเภท Commodity ราว 10% โดยกลุ่มสินค้าดังกล่าวจะเน้นไปที่กลุ่มเครื่องมือแพทย์ และ Ultra High Molecular Weight Polyethylene (UHMW-PE) เม็ดพลาสติกความหนาแน่นมากกว่าโพลิเอทินลีนทั่วไป 10 เท่า ซึ่งสามารถใช้งานได้หลากหลาย

นอกจากนี้ การเข้าถือหุ้น 50% ในบริษัท ไมเท็กซ์ โพลิเมอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ดำเนินธุรกิจธุรกิจผลิตและจำหน่ายเม็ดพลาสติกชนิดพิเศษพีพีคอมพาวด์ (PP Compound :PPC) จะทำให้บริษัทสามารถขยายตลาดสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ได้รวดเร็วขึ้น และช่วยเพิ่มกำลังการผลิตของโรงงานผลิต PP Compound ให้ใช้กำลังการผลิตได้เต็มที่จากปัจจุบันผลิตอยู่ 9 หมื่นตัน/ปี เป็น 1.4 แสนตัน/ปี ใน 4 ปีข้างหน้า โดยบริษัทจะขายเม็ดพลาสติกดังกล่าวผ่านช่องทางไมเท็กซ์ รวมทั้งรับรู้กำไรจากไมเท็กซ์ตามสัดส่วนการถือหุ้นราว 300 ล้านบาท

ขณะที่การขยายกำลังการผลิตพลาสติก ABS อีก 6 พันตัน/ปี ซึ่งเป็นชนิดผงที่สามารถเพิ่มความยืดหยุ่นในการผลิตสินค้าให้ตรงกับความต้องการของลูกค้ามากขึ้น มีราคาสูงกว่า ABS เกรดทั่วไปราว 100 เหรียญสหรัฐ/ตัน โดยการขยายกำลังการผลิตดังกล่าวจะแล้วเสร็จในเดือน ส.ค.63

ส่วนสินค้า HVA ในกลุ่มปิโตรเลียม ก็จะเน้นการผลิตดีเซลกำมะถันต่ำ ซึ่งมีมาร์จิ้นดีเพิ่มขึ้น ภายหลังจากที่โครงการ Ultra Clean Fuel Project (UCF) รองรับการผลิตน้ำมันตามมาตรฐานยูโร 5 แล้วเสร็จต้นปี 66

นายนพดล กล่าวอีกว่า ผลการดำเนินงานในไตรมาส 2/63 คาดว่าจะดีขึ้นกว่าไตรมาส 1/63 ที่ขาดทุนสุทธิ 8.91 พันล้านบาท หลังจากที่คาดว่ากำไรขั้นต้นจากการผลิตตามราคาตลาด (Market GIM) ซื่งไม่รวมผลกระทบจากสต็อก จะสูงขึ้นมาที่ราว 8-9 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จากระดับ 6.82 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลในไตรมาส 1/63 ขณะที่ผลขาดทุนจากสต็อกผลิตภัณฑ์จะดีขึ้น จากไตรมาสแรกที่ขาดทุนสต็อกสูงถึง 7.5 พันล้านบาท หลังราคาน้ำมันและราคาปิโตรเคมีดีขึ้น ขณะที่กำลังกลั่นน้ำมันอยู่ที่ 1.9 แสนบาร์เรล/วัน ใกล้เคียงกับไตรมาสแรก ส่งผลให้ EBITDA ในไตรมาส 2/63 ไม่ติดลบ จากไตรมาสแรก ติดลบ 6.44 พันล้านบาท

ส่วนในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ คาดว่าผลประกอบการจะดีขึ้นจากไตรมาสแรก โดยคาดว่าจะมีกำลังการกลั่นน้ำมัน 2.05 แสนบาร์เรล/วัน ส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ (สเปรด) จะปรับตัวดีขึ้น มาร์จิ้นโรงกลั่นก็ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ทำให้ทั้งปี 63 คาดว่า Market GIM จะอยู่ที่ 9-10 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จากระดับ 8.7 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลในปี 62 อย่างไรก็ตามยังต้องจับตาทิศทางราคาน้ำมันดิบ โดยเบื้องต้นประมาณว่าราคาน้ำมันจะทรงตัวอยู่ที่ 40-50 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ซึ่งจะทำให้ทั้งปี 63 ยังมีผลขาดทุนจากสต็อกน้ำมัน เนื่องจากในช่วงสิ้นปีที่แล้วราคาน้ำมันดิบอยู่ที่ราว 60 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล

สำหรับสถานการณ์โควิด-19 และสงครามการค้า ทำให้ราคาน้ำมันและปิโตรเคมีปรับลดลง ซึ่งกระทบต่อผลการดำเนินงานของบริษัท ทำให้ต้องจัดพอร์ตสินค้าให้เข้ากับทิศทางตลาด และส่งออกสินค้าไปยังพื้นที่ที่ยังมีความต้องการอยู่ ภายใต้กลยุทธ์การขายให้เร็ว ขายให้หมด และขายเป็นเงินสดให้มากที่สุด เพื่อรักษาสภาพคล่อง รวมถึงการทบทวนแผนลงทุน 5 ปี (ปี 63-67) ราว 48% เหลือ 2.8 หมื่นล้านบาท โดยการชะลอโครงการโรงงานอะโรเมติกส์แห่งใหม่ ตามโครงการ MARS โดยในปี 63 จะลดงบลงทุนราว 31% เหลือ 4.78 พันล้านบาท และลดค่าใช้จ่ายดำเนินงานประมาณ 15% จากปกติที่มีอยู่ราว 1.5 หมื่นล้านบาท/ปี

นอกจากนี้เพื่อเป็นการเสริมสภาพคล่อง บริษัทยังได้เตรียมแผนออกหุ้นกู้อีกราว 5 พันล้านบาท ถึง 1 หมื่นล้านบาทในปีนี้ เพื่อรีไฟแนนซ์ ,ลงทุน และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน ขณะที่เมื่อต้นปีได้กู้เงินระยะสั้นจากธนาคารในวงเงิน 1 หมื่นล้านบาท เพื่อสำรองไว้ใช้จ่ายสำหรับการดำเนินงาน ทำให้ ณ สิ้นไตรมาส 1/63 มีเงินสดในมือที่ราว 1.2 หมื่นล้านบาท โดยในปีนี้มีภาระหนี้ที่ต้องชำระคืน 6 พันล้านบาท

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 ก.ค. 63)

Tags: , , , , , ,
Back to Top