ส.ส.เข้าชื่อยื่นประธานรัฐสภาส่งศาล รธน. วินิจฉัยปมเสียบบัตรแทนกัน

ส.ส.รัฐบาล-ฝ่ายค้าน เข้าชื่อยื่นประธานรัฐสภาเพื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกระบวนการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ปมเสียบบัตรแทนกัน

นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) แถลงว่า ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลจำนวน 90 คนเข้าชื่อกันตามเงื่อนไขไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของสมาชิกรัฐสภา ยื่นเรื่องต่อประธานรัฐสภาเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกระบวนการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 เนื่องจากมีการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์แสดงตนและลงมติทั้งที่ไม่ได้อยู่ในห้องประชุม

“วิปรัฐบาลมีหน้าที่ต้องยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเมื่อเกิดเหตุอันควรสงสัยภายใน 3 วันหลังวุฒิสภาให้ความเห็นชอบ วิปรัฐบาลจึงตัดสินใจยื่นเรื่องต่อประธานรัฐสภาโดยทันที เพื่อให้เกิดความรวดเร็ว” นายวิรัช กล่าว

ประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า ในหนังสือที่ยื่นต่อประธานรัฐสภาระบุขอให้วินิจฉัยใน 3 ประเด็นได้แก่ 1.) กระบวนการร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ขัดหรือแย้งกับหลักการการออกเสียงลงคะแนนตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 120 หรือไม่ 2.) หากมีปัญหา จะมีปัญหาทั้งฉบับหรือเฉพาะมาตรา และ 3.) จะดำเนินการในแต่ละกรณีต่อไปอย่างไร

ส่วนกรณีที่มีการเผยแพร่คลิปเสียบบัตรแทนกัน ซึ่งมี ส.ส.พรรคพลังประชารัฐด้วยนั้น นายวิรัชกล่าวว่า ยังไม่ทราบว่าคลิปดังกล่าวอยู่ในกระบวนการลงมติเรื่องอะไร แต่เมื่อวานนี้ (21 ม.ค.) ที่ประชุมพรรคพลังประชารัฐได้ย้ำว่าต้องอยู่ในห้องประชุมตลอดเวลา

ส่วนการแสดงความรับผิดชอบหากร่างกฎหมายตกทั้งฉบับนั้น นายวิรัช กล่าวว่า ยังไม่ทราบเรื่องนี้ แต่ต้องเข้าใจว่า เครื่องลงมติมีเพียง 350 เครื่อง แต่จำนวนสมาชิกมีถึง 500 คน จึงต้องสลับกันเสียบบัตร ส่วนที่มีคลิปบุคคลคนเดียวกันเสียบบัตรแทนกันหลายใบก็ต้องไปดูตามข้อเท็จจริง

ด้าน น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.กทม. เปิดเผยว่า ส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้าน 84 คน ได้ร่วมกันทำหนังสือถึงนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เพื่อร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้มีการตรวจสอบว่าร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายงบประมาณประจำปี 2563 ชอบด้วยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหรือไม่เช่นกัน เนื่องจากเห็นว่า กระบวนการตรากฎหมายน่าจะไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ซึ่งหากมีการวินิจฉัยว่าร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ต้องเป็นอันตกไป ซึ่งจะนำไปเปรียบเทียบกับกรณีที่สภาฯ ไม่เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.จนเป็นเหตุให้ต้องตีตกไปไม่ได้ เพราะหากเป็นเช่นนั้นจะเกี่ยวข้องกับการบริหารประเทศของรัฐบาล

แต่เรื่องนี้ไม่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล จึงไปคาดหวังให้ยุบสภาหรือให้รัฐบาลลาออกไม่ได้ เนื่องจากเป็นเรื่องกระบวนการของสภาฯที่ต้องหาทางออก ส่วนเรื่องการนำบัตรผู้อื่นมาลงคะแนนแทนจะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้จะต้องตรวจสอบให้ได้ข้อเท็จจริง

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 ม.ค. 63)

Tags: , , , ,
Back to Top