ธปท. คาดเศรษฐกิจกลับสู่ภาวะปกติปลายปี 64 ยันภาคการเงินไทยเข้มแข็ง

  • ธปท. มองภาคการเงินไทยเข้มแข็งแม้โดนผลกระทบจากวิกฤติโควิด ยันไม่ต้องกู้เงินจาก IMF
  • ธปท. มองเศรษฐกิจไทยหลังผ่านจุดต่ำสุดในไตรมาส 2/63 แล้วจะทยอยฟื้นกลับสู่ภาวะปกติได้ราวปลายปี 64

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานสัมมนาวิชาการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานภาค ประจำปี 63 ในหัวข้อ”ก้าวต่อไป…ทิศทางเศรษฐกิจหลังยุคโควิดภิวัฒน์” โดยระบุว่า ประเทศไทยประสบกับภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก ถือเป็นสถานการณ์ร้ายแรงแบบที่ไม่เคยเจอมาก่อน ซึ่งเกิดขึ้นจากภาวะด้านสาธารณสุข แตกต่างจากในอดีตที่เป็นสถานการณ์ที่เกิดจากภาวะด้านการเงิน

นายวิรไท กล่าวว่า ขณะนี้เข้าสู่ภาวะของการฟื้นฟูและต้องเร่งปรับระบบโครงสร้างเศรษฐกิจไทยให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของโลกใหม่ หลังจากเศรษฐกิจผ่านจุดต่ำสุดมาแล้วในช่วงไตรมาส 2/63 ที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกหยุดชะงัก ซึ่งเศรษฐกิจไทยจากนี้ไปคงเป็นลักษณะการทยอยฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป และคาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวสู่ระดับปกติเหมือนกับช่วงก่อนเกิดวิกฤติโควิดราวปลายปี 64 ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าจะต้องไม่มีการระบาดรุนแรงซ้ำอีก

อย่างไรก็ดี มองว่าแม้ประเทศไทยจะได้รับผบกระทบจากวิกฤติโควิด แต่ปัจจุบันระบบการเงินมีความแข็งแกร่ง เนื่องจากเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูง และมีทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูง ขณะที่การกู้เงินจากต่างประเทศอยู่ในระดับต่ำ กลไกการกำกับดูแลสถาบันการเงินมีความเข้มแข็งมาก มีการบริหารจัดการความเสี่ยงได้ดีกว่าช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 40 เป็นอย่างมาก ดังนั้น เชื่อว่าประเทศไทยไม่จำเป็นต้องขอรับความช่วยเหลือทางการเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) แต่อย่างใด

“แม้ในภาคเศรษฐกิจจริง จะได้รับผลกระทบรุนแรงไม่แพ้กับปี 40 แต่ภาคการเงิน แตกต่างกันมาก เราไม่จำเป็นต้องขอรับความช่วยเหลือจาก IMF เพราะเศรษฐกิจมหภาคของเราในปัจจุบันมีความเข้มแข็งมาก สถานะเราไม่ได้เป็นเหมือนปี 40 เรามีกลไกการบริหารเศรษฐกิจมหภาคที่เข้มแข็ง” ผู้ว่าการ ธปท.ระบุ

นายวิรไท กล่าวอีกว่า ช่วงระยะแรกที่ไวรัสโควิดแพร่ระบาด ธปท.ได้ออกมาตรการร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ก.ล.ต.) ซึ่งเป็นมาตรการที่เปรียบเสมือนกับเป็นการสร้างหลังพิงให้กับระบบการเงินให้สามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่อง หลังจากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สร้างความตื่นตระหนกให้กับประชาชนและนักลงทุนจนทำให้กลไกของตลาดการเงินไม่ทำงาน ทั้งตลาดตราสาร ตลาดหุ้น และราคาทองคำปรับตัวลดลง เพราะทุกคนต่างต้องการถือเงินสดไว้ในมือ

ส่วนระยะที่สอง ซึ่งเป็นช่วงของการออกมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์ที่ต้องหยุดกิจการหรือปิดกิจการ หรือกิจกรรมต่างๆ ธปท.ได้ออกมาตรการเยียวยาช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยด้วยการยืดเวลาการชำระหนี้ ทั้งสินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อบ้าน ตลอดจนการออกมาตรการช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอี

และในปัจจุบันกำลังเข้าสู่ระยะที่สามที่ประเทศไทยสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดได้ดีในระดับหนึ่งแล้ว ธปท.ก็จะมีมาตรการให้ความช่วยเหลือเป็นการเฉพาะกลุ่มเป้าหมายและตรงจุดมากขึ้น โดยให้ความสำคัญกับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้

นายวิรไท ยอมรับว่ามีความกังวลกับปัญหาการจ้างงาน เพราะที่ผ่านมาสถานการณ์โควิดได้สร้างผลกระทบอย่างมากกับตลาดแรงงานในประเทศ โดยเฉพาะภาคบริการและภาคการผลิตที่มีการจ้างแรงงานในระดับสูง และเมื่อมองไปข้างหน้าเชื่อว่าการกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานภายใต้สถานการณ์ของโลกใหม่หลังโควิดคลี่คลายอาจจะทำได้ยาก เนื่องจากปัจจุบันมีกำลังการผลิตส่วนเกินสูงมากในทั่วโลก ภาคการผลิตเริ่มหันไปใช้หุ่นยนต์หรือเครื่องจักรทดแทนแรงงานคนมากขึ้น ในขณะที่นักศึกษาจบใหม่จะมีผลกระทบต่อความสามารถในการหางานทำ

“ภาคบริการ โดยเฉพาะในธุรกิจท่องเที่ยว คงจะคาดหวังให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาปีละ 40 ล้านคนได้ยากเหมือนเดิมแล้ว แรงงานในส่วนนี้คงกลับเข้ามาได้ยาก ทัวร์ก็คงจะไม่ได้มาในลักษณะของกรุ๊ปใหญ่ๆ ส่วนภาคการผลิต ก็มีการใช้หุ่นยนต์แทนแรงงานมากขึ้น เมื่อหมดโควิด กลับมาสู่โลกใหม่ เป็นโลกที่ทุกคนคำนึงถึงต้นทุนเป็นสำคัญ จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนวิธีการผลิตใหม่”

ผู้ว่าการ ธปท.กล่าว

พร้อมระบุว่า การสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงินให้กับสังคมในช่วงหลังจากนี้ไปถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะจะเห็นได้ว่าก่อนวิกฤติโควิด ประเทศไทยก็ประสบปัญหาภาวะหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ดังนั้นเมื่อผ่านพ้นช่วงการเยียวยาไปแล้ว ต้องหันกลับมาให้ความสำคัญกับการออม และการวางแผนทางการเงิน ในขณะที่ปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ก็เป็นอีกเรื่องสำคัญในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เพื่อไม่ให้ปัญหา NPL เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ให้ภาคประชาชนและธุรกิจได้มีภาระหนี้ที่สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ที่แท้จริง

“โลกในยุคโควิดภิวัฒน์จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงไป เป็นยุคที่ต้องทำงานกันหนักขึ้น มีการแข่งขันสูงขึ้น แต่ไม่ใช้การแข่งขันด้านราคา หรือด้านปริมาณ แต่เป็นการแข่งขันด้านคุณภาพ ใครทำได้ดีกว่า ก็จะผ่านไปได้” ผู้ว่าฯ ธปท.ระบุ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 ก.ค. 63)

Tags: , , ,
Back to Top