ทิสโก้มองตลาดหุ้นเสี่ยงรับผลศก.หยุดชะงักจากมาตรการกระตุ้นหมดลง

นายคมศร ประกอบผล หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (TISCO ESU) เปิดเผยว่า ตัวเลขเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวขึ้น ท่ามกลางการผ่อนคลายมาตรการ Lockdown หนุนให้ตลาดหุ้นฟื้นตัวขึ้นเร็วในช่วงที่ผ่านมา โดยตลาดหุ้นหลายประเทศ เช่น จีน เกาหลี ไต้หวัน และสหรัฐอเมริกา ได้ฟื้นตัวขึ้นมายืนอยู่สูงกว่าเมื่อต้นปี ก่อนที่จะมีการระบาดของโรคโควิด-19 ไปทั่วโลก

อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวของเศรษฐกิจต่อจากนี้มีความเสี่ยงที่จะหยุดชะงักลงจากสองปัจจัยหลัก คือ 1. ผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมากำลังทยอยหมดลง และมาตรการกระตุ้นระลอกถัดไปอาจล่าช้าหรือไม่เพียงพอ และ 2 การระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกสองในหลายประเทศ ซึ่งอาจทำให้ต้องกลับมาใช้มาตรการ Lockdown อีกครั้ง โดยหากเศรษฐกิจหยุดชะงักจริงตามที่คาดก็มีโอกาสที่ตลาดหุ้นทั่วโลกจะปรับตัวลงแรงอีกครั้ง

“หลังจากโควิด -19 แพร่ระบาด ฉุดให้เศรษฐกิจทั่วโลกได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง รัฐบาลทั่วโลกจึงออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น การแจกเงินสดให้ประชาชน และการจ่ายเงินสวัสดิการให้กับผู้ว่างงาน ส่งผลให้การบริโภคฟื้นตัวกลับมาได้อย่างรวดเร็ว แต่มาตรการต่างๆ จะทยอยหมดลงในเร็วๆ นี้ ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจด้านอื่นนอกเหนือจากการบริโภค โดยเฉพาะด้านการจ้างงาน ยังคงอ่อนแอ จึงเป็นความเสี่ยงอย่างมากต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะถัดไป หากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระลอกใหม่ที่ออกมาไม่มีขนาดใหญ่เพียงพอที่จะหนุนเศรษฐกิจเหมือนครั้งก่อน รวมทั้งมีความเสี่ยงที่การอนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่จะล่าช้าเพราะต้องผ่านการอนุมัติตามขั้นตอน ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็มีโอกาสที่ตลาดหุ้นไทยและตลาดหุ้นทั่วโลกจะปรับลงแรงอีกครั้ง”

นายคมศรกล่าว

สำหรับตัวอย่างประเทศที่เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นอย่างเห็นได้ชัดจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐฯ คือประเทศสหรัฐอเมริกา โดยยอดค้าปลีก (Real Retail Sales) ในเดือนมิถุนายนได้ฟื้นตัวกลับมาอยู่ในระดับเดียวกับเดือนกุมภาพันธ์ก่อนการระบาด หลังจากที่ลดลงไปต่ำสุดถึง -21% ในเดือนเมษายนในช่วงที่มีมาตรการ Lockdown เข้มงวด การบริโภคที่ฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว ถึงแม้ว่าอัตราการว่างงานในสหรัฐฯ ล่าสุดยังคงอยู่สูงถึง 11% ชี้ให้เห็นว่ามารตการกระตุ้นของภาครัฐ มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา และยังมีความจำเป็นในช่วงนี้

อย่างไรก็ดี มาตรการกระตุ้นระลอกแรกของสหรัฐฯ กำลังทยอยหมดลง โดยเงินให้เปล่าจำนวน 1,200 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อคน ซึ่งเป็นการจ่ายครั้งเดียวได้มีการเบิกจ่ายไปจนใกล้ครบแล้ว ในขณะที่เงินสมทบพิเศษสำหรับผู้ว่างงาน 600 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อสัปดาห์ จะหมดอายุสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้ ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่อาจทำให้ยอดค้าปลีกพลิกกลับมาหดตัวได้อีกครั้ง หากไม่มีมาตรการกระตุ้นออกมาเพิ่มเติมต่อจากนี้

“รัฐบาลสหรัฐฯ กำลังเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมก่อนที่สภาจะปิดทำการต้นเดือนสิงหาคม (สภาผู้แทนฯ ปิดวันที่ 3 สิงหาคม – 7 กันยายน และวุฒิสภาจะปิดวันที่ 10 สิงหาคม – 7 กันยายน) ซึ่งมีความเสี่ยงที่สภาจะไม่สามารถตกลงเรื่องมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ทันภายในวันดังกล่าว ท่ามกลางความขัดแย้งในหลายประเด็น เช่น มูลค่ารวมของมาตรการซึ่งยังตกลงกันไม่ได้ และประเด็นการรวมการลดภาษี Payrolls tax เข้าไปในมาตรการ ซึ่งประเด็นขัดแย้งดังกล่าวอาจทำให้การพิจารณามาตรการล่าช้าออกไป” นายคมศรกล่าว

นอกจากนี้ การจ่ายสวัสดิการว่างงานพิเศษ แม้จะถูกต่ออายุโครงการออกไปแต่สวัสดิการที่ให้ก็มีแนวโน้มลดลงจากเดิมเนื่องจากหลายฝ่ายเห็นว่าสวัสดิการพิเศษจำนวน 600 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อสัปดาห์ เป็นจำนวนเงินที่สูงกว่าค่าจ้างปกติจนอาจเป็นแรงจูงใจให้เกิดการว่างงานโดยสมัครใจ

จะเห็นได้ว่ามาตรการกระตุ้นการบริโภคของภาครัฐฯ ที่มีส่วนสำคัญในประคับประคองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วงที่ผ่านมากำลังจะหมดอายุลงสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้ ในขณะที่มาตรการระลอกสองยังไม่มีความชัดเจนและอาจมีขนาดเล็กลงกว่าระลอกแรก รวมถึงมีความเสี่ยงที่กระบวนการอนุมัติในสภาจะล่าช้า ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่อาจทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจต่อจากนี้หยุดชะงักลง

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 ก.ค. 63)

Tags: , , , , , ,
Back to Top