GPSC เตรียมปิดดีล M&A พลังงานทดแทน H2/63 เร่งสรุปร่วมมือ PTT ก่อนลุยโปรเจ็คท์ใหญ่

นายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมปิดดีลการเข้าซื้อกิจการ (M&A) อย่างน้อย 1 ดีล สำหรับโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในต่างประเทศภายในครึ่งหลังของปีนี้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มพอร์ตธุรกิจพลังงานทดแทนให้ได้ตามเป้า 30% ภายใน 10 ปีข้างหน้า จากกว่า 500 เมกะวัตต์ (MW) หรือราว 11% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าในมือที่มีอยู่ 5,026 เมกะวัตต์ในปัจจุบัน

พร้อมกันนี้ยังอยู่ระหว่างสรุปรูปแบบความร่วมมือในธุรกิจไฟฟ้ากับบมจ.ปตท. (PTT) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ รองรับการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ที่อาจจะมีขึ้นในอนาคต โดยคาดว่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นภายในไตรมาส 3/63 ซึ่งจะช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งและช่วยบรรลุเป้าหมายการเติบโตของกลุ่มปตท. ที่มีเป้าหมายขยายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในระดับ 8,000 เมกะวัตต์ภายใน 10 ปีข้างหน้า (ปี 63-72) ซึ่งในระยะ 5 ปีแรกวางเป้าจะมีกำลังการผลิตที่ราว 3,000 เมกะวัตต์

“GPSC ยังเป็น Flagship เรื่องธุรกิจไฟฟ้าของปตท. แต่ถ้าการเติบโตที่เร็วมาก ๆ เราก็ต้องบูรณาการจุดแข็งร่วมกัน เช่น เรามีความรู้ มีคน มีข้อมูล แต่ปตท.มีความพร้อมมากกว่าเรา ถ้าปตท.มาร่วมด้วยจะทำให้มีแหล่งเงินมากขึ้นก็จะเข้าสู่เป้าหมายได้เร็วขึ้น ทางปตท.มีแผนชัดเจนอยู่แล้ว แต่ทาง GPSC มีความพร้อมในเรื่องรูปแบบ ที่เหลือปตท.ตัดสินใจว่ารูปแบบที่จะร่วมกันเป็นรูปแบบไหน คาดว่าจะเห็นความชัดเจนร่วมกันในไม่ช้า ภายในไตรมาส 3 น่าจะเห็นแล้วว่ารูปแบบจะเป็นอย่างไร…ตอนนี้เราให้ความสำคัญการลงทุนกับประเทศที่เป็น Second Home Country ของเรา ประเทศที่เราพิจารณาแล้วว่าเหมาะสมเข้าไปลงทุนที่เราสกรีนมาก็มีพม่า เวียดนาม ไต้หวัน เป็นต้น”นายชวลิต กล่าว

นายชวลิต กล่าวว่า ระหว่างที่รอความชัดเจนความร่วมมือกับปตท. ทางบริษัทก็จะดำเนินการทางธุรกิจต่าง ๆ ไปก่อน โดยเฉพาะดีลการซื้อกิจการที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ซึ่งโฟกัสในเมียนมา เวียดนาม ไต้หวัน เป็นต้น

GPSC มีกำลังผลิตไฟฟ้าในมือแล้ว 5,026 เมกะวัตต์ โดยในส่วนนี้เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว 4,766 เมกะวัตต์ โดยมีการลงทุน 3 ประเทศ คือไทย ,ลาว และญี่ปุ่น ขณะที่มีความสนใจร่วมลงทุนอย่างน้อย 4 โครงการในเมียนมา ได้แก่ โครงการ Gas to Power ขนาด 600 เมกะวัตต์ (MW) โดยมีบมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) เป็นเจ้าของโครงการ ซึ่งอยู่ระหว่างรอการพิจารณาจากทางการเมียนมา ,โครงการผลิตไฟฟ้าป้อนเมืองใหม่ย่างกุ้ง ของ New Yangon Development Company (NYDC) ซึ่งจะดำเนินการร่วมกับกลุ่มธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ของปตท. ,โครงการความร่วมมือกับปตท. พัฒนาโครงการในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม และโครงการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ ซึ่งเป็นโครงการที่บมจ.โกลว์ พลังงาน เคยศึกษาไว้เดิม

สำหรับความคืบหน้าโครงการผลิตไฟฟ้าป้อนเมืองใหม่ย่างกุ้ง ยังอยู่ระหว่างจัดทำรายละเอียดภายใต้สมมติฐานของความไม่ชัดเจนด้านความต้องการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ ทำให้เบื้องต้นคาดว่าการผลิตไฟฟ้าจะเป็นรูปแบบไฮบริดระหว่างโซลาร์และก๊าซธรรมชาติ โดยมีขนาดไม่มากนัก ซึ่งจะบริษัทจะทำการศึกษาให้มั่นใจคาดจะใช้ระยะเวลาพอสมควรก่อนจะนำเสนอข้อมูลไปยังทาง NYDC ต่อไป

ส่วนการโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มินบู ขนาด 220 เมกะวัตต์ ในเมียนมา ของกลุ่มเอกชนไทยที่เข้าไปพัฒนานั้น บริษัทก็เคยเข้าไปศึกษาด้วยเช่นกัน โดยปัจจุบันโครงการดังกล่าวได้เปิดดำเนินการไปแล้วในเฟสแรก 50 เมกะวัตต์ ส่วนเฟสที่ 2 ก็ใกล้ดำเนินการแล้วเสร็จเช่นกัน

“โครงการมี Tariff เขาดีมากเลย เราก็เคยไปดู ๆ เฟส 2 ก็ใกล้เสร็จแล้ว เขาก็มีเวลาจำกัดเหมือนกัน คงต้องไปถามเจ้าของโครงการ ที่เราเข้าใจเขามีระยะเวลาจำกัดเหมือนกัน”นายชวลิต กล่าวตอบกรณีความสนใจและโอกาสที่จะเข้าไปร่วมพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้ามินบูหรือไม่

นายชวลิต กล่าวอีกว่า สำหรับการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าในไทยนั้น บริษัทยังมองโอกาสการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชนในพื้นที่จ.ระยอง และพื้นที่พัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยไม่ได้ให้ความสนใจการลงทุนโครงการดังกล่าวในพื้นที่ทั่วประเทศ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้จัดทำมาสเตอร์แพลนให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อการบริหารจัดการขยะชุมชนและขยะอุตสาหกรรม รวมถึงโอกาสพัฒนาโรงไฟฟ้าชุมชนในพื้นที่ EEC เพื่อช่วยบูรณาการความสมดุลด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม

ส่วนความคืบหน้าโรงไฟฟ้าขยะชุมชน ขนาด 9.8 เมกะวัตต์ ในจ.ระยอง ของบริษัทที่อยู่ระหว่างดำเนินการนั้น มีความล่าช้าจากแผนเล็กน้อย โดยคาดว่าจะเริ่ม COD ได้ในไตรมาส 2/64 จากเดิมคาดในเดือนมี.ค.64

ด้านความสนใจต่อโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน ที่คาดว่ารัฐบาลจะเปิดรับซื้อไฟฟ้าในอนาคตนั้น บริษัทและปตท.ได้ร่วมกันศึกษาในพื้นที่แนวท่อก๊าซธรรมชาติ เพราะเป็นพื้นที่ที่มีชุมชนและมีเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งปัจจุบันศึกษาอยู่ 4-5 พื้นที่

สำหรับสถานการณ์โควิด-19 กระทบต่อภาพรวมของความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศลดลงบ้าง แต่ในส่วนของบริษัทผลกระทบในช่วงครึ่งแรกของปีนี้นับว่าไม่มากนัก โดยมียอดขายไฟฟ้าให้กับกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมลดลงไปตัวเลขหลักเดียวที่ไม่มากนัก อย่างในกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ได้รับผลกระทบอย่างชัดเจน ขณะที่บางอุตสาหกรรมอย่างลูกค้ากลุ่มพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง ก็กลับมีความต้องการใช้เพิ่มขึ้น ขณะที่ยอดการใช้โดยรวมในปัจจุบันยังไม่ได้กลับเข้ามามากนัก ซึ่งคงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป

อย่างไรก็ตามในช่วงที่ผ่านมาบริษัทก็ได้ให้ความช่วยเหลือลูกค้า ด้วยการพยายามยืดหยุ่นสัญญาการซื้อขายไฟฟ้าให้ดีที่สุดภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อให้ลูกค้ากระทบน้อยที่สุด รวมถึงการเจรจากับลูกค้าเป็นระยะด้วย โดยปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนขายไฟฟ้าเข้าสายส่งของการไฟฟ้า และขายไฟฟ้าให้กับลูกค้าอุตสาหกรรม อย่างละ 50%

ขณะเดียวกันบริษัทก็ปรับตัวภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ด้วยการบูรณาการร่วมกันภายในกลุ่มบริษัท โดยเฉพาะกับบมจ.โกลว์ พลังงาน ภายหลังที่ได้ซื้อกิจการแล้วเสร็จ เพื่อเพิ่มจุดแข็งและสร้างมูลค่าเพิ่มร่วมกันในการจัดหา ลดค่าใช้จ่าย การบริหาร และบูรณาการโครงข่ายผลิตไฟฟ้าและไอน้ำ เพื่อให้เกิดผลประโยชน์ร่วมกัน (Synergy) ร่วมกันให้เร็วขึ้นมากที่สุด

นายชวลิต กล่าวอีกว่า สำหรับกลยุทธ์ของบริษัทในช่วง 5 ปีนี้ตามที่ได้เสนอแผนต่อการประชุมผู้บริหารระดับสูงกลุ่มปตท.เพื่อกำหนดยุทธ์ศาสตร์และทิศทางในอนาคตกลุ่ม (Strategic Thinking Session:STS) ครั้งที่ผ่านมา ประกอบด้วย

  1. แผนกลยุทธ์ภายใต้ 3 S ได้แก่ Synergy การสร้างมูลค่าเพิ่มจากพลังร่วมในกลุ่ม GPSC บริษัทโกลว์ และ อื่น ๆ ที่บริษัทได้เข้าไปลงทุน , Selective Growth ซึ่งเป็นการเติบโตร่วมกับกลุ่มปตท. ในเป้าหมายของประเทศที่จะเข้าไปลงทุน และ S-Curve ด้านนวัตกรรม อย่างการผลิตแบตเตอรี่ ซึ่งบริษัทเตรียมที่จะผลิตเซลล์แบตเตอรี่เซลล์แรกออกมาในเดือนธ.ค.63 และล่าสุดคณะกรรมการบริษัทอนุมัติสร้างนวัตกรรมทางด้านแบตเตอรี่ เพื่อที่จะทดสอบความปลอดภัยของแบตเตอรี่และสามารถพัฒนาศูนย์การผลิตให้เหมาะสมในเชิงพาณิชย์ และเพื่อให้ใช้เป็นสถานที่ทดสอบการจะขยายขนาดของโรงงานด้วยเม็ดเงินลงทุน 230 ล้านบาท
  2. การบูรณการร่วมกับปตท.เพื่อบรรลุเป้าหมายการเติบโตในอนาคต
  3. การพิจารณาเรื่องขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (Shipper) หรือ LNG Shipper ซึ่งจะต้องมีทางเลือกและแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน เพื่อให้บริษัทมีขีดความสามารถในการแข่งขันเทียบเท่ากับผู้ประกอบการธุรกิจไฟฟ้ารายอื่น โดยปัจจุบันได้ทำงานร่วมปตท. ซึ่งเป็นผู้ประกอบการธุรกิจก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) รายใหญ่ที่ครอบคลุมทั้งวงจร (Value Chain) เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการร่วมดำเนินธุรกิจ LNG โดยคาดว่าจะสรุปผลวิธีการในการยื่นขอใบอนุญาตดังกล่าวอย่างไรในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้า

“ใน 5 ปีข้างหน้ากำลังการผลิตของเราก็น่าจะเป็น 6,500 เมกะวัตต์ และมีธุรกิจที่สามารถสร้างรายได้จาก new S-Curve ได้ด้วย คือธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับแบตเตอรี่เป็นส่วนหนึ่งของเรา”

นายชวลิต กล่าว

GPSC มีเป้าหมายที่เพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ในช่วง 5 ปีข้างหน้า (ปี 63-67) จำนวน 1,500 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันที่มีกำลังผลิตไฟฟ้าในมือแล้ว 5,026 เมกะวัตต์ โดยในส่วนนี้ COD แล้ว 4,766 เมกะวัตต์ ส่วนที่เหลืออีกราว 260 เมกะวัตต์อยู่ระหว่างการพัฒนา ขณะที่ยังมีแผนพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้า SPP Replacement จำนวน 7 โรง กำลังการผลิตรวมประมาณ 600 เมกะวัตต์ ที่จะเริ่มทยอยเข้าระบบตั้งแต่ปี 65 เป็นต้นไป โดยตามแผนลงทุน 5 ปี GPSC จะใช้เงินลงทุนราว 6 หมื่นล้านบาท รองรับการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าในมือ โดยเงินลงทุนดังกล่าวจะมาจากกระแสเงินสดที่เข้ามาแต่ละปีราว 1.8-2 หมื่นล้านบาท และเงินกู้อีกส่วนหนึ่ง

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 ก.ค. 63)

Tags: , , , , , ,
Back to Top