ศาลล้มละลายกลางไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของ บมจ.การบินไทย (THAI) นัดแรกในวันนี้ โดยมีเจ้าหนี้ยื่นคัดค้าน 16 รายที่ส่วนใหญ่เป็นรายย่อยยื่นคัดค้าน โดยเฉพาะเจ้าหนี้ตั๋วโดยสารที่ขอเรียกเงินคืน รวมถึงสหกรณ์ออมทรัพย์วชิระพยาบาล และ บมจ.ทิพยประกันชีวิต จากที่บริษัทมีเจ้าหนี้รายใหญ่มากกว่า 100 ราย มูลหนี้รวมกว่า 3 แสนล้านบาท
ขณะที่พยานฝ่ายลูกหนี้ คือ THAI ให้การ 3 ปากตอบข้อซักค้านของเจ้าหนี้ ได้แก่ นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่, นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ กรรมการ และอดีตกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ THAI และนางสาวชุติมา ปัญจโภคากิจ กรรมการ บริษัท อีวาย คอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด ในฐานะหนึ่งในผู้จัดทำแผนฟื้นฟูฯ
ทนายฝ่ายเจ้าหนี้ได้ซักค้านนายชาญศิลป์ ส่วนใหญ่เป็นคำถามพุ่งเป้าเกี่ยวกับการจัดจ้างบริษัท อีวาย คอร์ปอเรทฯ ซึ่งนายชาญศิลป์ตอบคำถามว่า ไม่ทราบว่า อีวาย คอร์ปอเรทฯ เป็นคนละบริษัทกับสำนักงานอีวายที่เป็นบริษัทผู้สอบบัญชี และไม่ทราบว่าอีวาย คอร์ปอเรทฯ มีกรรมการที่ไม่มีประสบการณ์การเป็นที่ปรึกษาการฟื้นฟูธุรกิจขนาดแสนล้านบาท หรือ รัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่
นายชาญศิลป์ ให้เหตุผลว่า เข้ามาเป็นผู้บริหาร THAI หลังจากที่แต่งตั้ง อีวาย คอร์ปอเรทฯ เป็นหนึ่งในผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการ ส่วนเมื่อมีการแต่งตั้งผู้ทำแผนแล้ว อีวาย คอร์ปอเรทฯ จะต้องร่วมลงนามในแผนด้วยหรือไม่นั้น นายชาญศิลป์ ตอบว่าไม่ทราบ แต่ยืนยันว่ายังไม่ได้มีการจ่ายเงินค่าจ้างให้กับอีวาย คอร์ปอเรชั่นฯ แต่อย่างใด
นอกจากนี้ ทนายฝ่ายเจ้าหนี้ที่คัดค้าน ยังสอบถามว่าหาก THAI ฟื้นฟูกิจการไม่สำเร็จจะมีการขอยืดระยะเวลาการฟื้นฟูเพิ่มเติมหรือไม่ นายชาญศิลป์ ตอบว่า กระบวนการฟื้นฟูมีขั้นตอนตามกฎหมาย หากกฎหมายให้ยืดระยะเวลาได้ก็คงจะต้องทำ ส่วนแหล่งที่มาของเงินที่ THAI จำเป็นต้องใช้เงินหมุนเวียนปีละ 6 หมื่นล้านบาท และยังมีหนี้สะสมอีก 3.5 แสนล้านบาทนั้น นายชาญศิลป์ ตอบว่า แหล่งที่มาชำระหนี้ขณะนี้ยังไม่มี แต่อนาคตต้องมีแน่นอน
ด้านนายปิยะสวัสดิ์ ตอบข้อซักถามประเด็นเดียวกันว่า ได้รับรายงานเรื่องการคัดเลือกอีวาย คอร์ปอเรทฯ เข้ามาเป็นคณะผู้ทำแผน โดยทราบว่าเป็นบริษัทมีประสบการณ์และมีชื่อเสียงระดับโลก ส่วนกรณีมีการตั้งคำถามว่าอีวาย คอร์ปอเรทฯ เป็นคนละบริษัทกับสำนักงานอีวายที่เป็นผู้ตรวจสอบบัญชี และมีเครือข่ายระดับโลก นายปิยสวัสดิ์ ยอมรับว่าทราบข้อมูลนี้
ส่วนประเด็นที่อีวาย คอร์ปอเรทฯ ระบุว่ามีประสบการณ์ช่วยฟื้นฟูกิจการมา 3 บริษัท เช่น บริษัทสหฟาร์ม แต่ล้มเหลวนั้น ตอบว่าทราบ ส่วนที่ว่าสามารถชำระเงินให้เจ้าหนี้ได้เพียงเล็กน้อยนั้น นายปิยสวัสด์ กล่าวว่า อยู่กระบวนการชำระหนี้ ยังไม่เสร็จเรียบร้อย
นายปิยสวัสดิ์ ยังกล่าวว่า ค่าตอบแทนจ้างอีวาย คอร์ปอเรทฯ เข้ามาทำแผนฟื้นฟู THAI นั้น ในฐานะที่เป็นกรรมการ THAI ทราบข้อมูลว่าจะมีการจ่ายผลตอบแทนตามสัญญา จำนวน 22 ล้านบาท โดยแบ่งจ่ายเป็นงวด และจ่ายค่าดำเนินการ 15 ล้านบาท/เดือน ตั้งแต่ศาลแต่งตั้งผู้ทำแผนจนกว่าศาลจะเห็นชอบแผน อย่างไรก็ดี รายละเอียดส่วนนี้ไม่ได้ระบุในแผน เพราะรอให้ศาลอนุมัติแผนก่อน เพราะยังไม่มีการจ่ายค่าว่าจ้างแต่อย่างใด
ขณะที่แหล่งเงินทุนในการฟื้นฟูกิจการ ปัจจุบันมีการพูดคุยสถาบันการเงินในประเทศแล้วหลายแห่ง ได้รับคำตอบที่ดีว่าหลายสถาบันการเงินพร้อมให้การสนับสนุน หากศาลและเจ้าหนี้เห็นชอบแผนฟื้นฟูครั้งนี้ก็จะเป็นโอกาสที่ THAI จะได้รับโอกาสจากสถาบันการเงินในการสนับสนุนแหล่งเงินทุนในช่วงวิกฤติโควิด
ส่วนคำถามที่ว่าหากการฟื้นฟูกิจการครั้งนี้ไม่สำเร็จจะขอฟื้นฟูกิจการอีกหรือไม่ นายปิยสวัสดิ์ กล่าวว่า หากแผนฟื้นฟูได้รับการเห็นชอบ จะทำให้ THAI สามารถเดินหน้าตามที่กำหนดไว้ และช่วยลดต้นทุน เพื่อให้เดินหน้าเจรจาเจ้าหนี้เรื่องการชำระหนี้ได้ ซึ่งจะทำให้สามารถหาเงินเข้ามาบริหารจัดการธุรกิจ โดยมั่นใจว่าแผนจะสำเร็จ รวมทั้งมองว่าการฟื้นฟูกิจการไม่ได้เป็นเพียงการยืดชำระหนี้ แต่เป็นโอกาสปรับโครงสร้างองค์กร ลดค่าใช้จ่าย ปรับปรุงเส้นทางบินใหม่ให้เหมาะสม ซึ่งจะเป็นผลต่อการประหยัดค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาในอนาคต
ด้านนางสาวชุติมา ตอบข้อซักถามกับทนายฝ่ายเจ้าหนี้กรณีที่มีกระแสข่าวว่าการจัดจ้างอีวาย คอร์ปอเรทฯ ไม่ถูกต้องว่า อีวาย คอร์ปอเรทฯ ได้รับการติดต่อจาก THAI ให้มาเป็นผู้ทำแผนฟื้นฟูพร้อมกับบริษัทอีกราย ซึ่งเป็นงานที่ผู้ทำแผนทราบว่าจะต้องทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านการบิน ซึ่งระบุชัดเจนอยู่แล้ว โดย THAI ได้ทำสัญญาว่าจ้างหลังจากพ้นสภาพจากการเป็นรัฐวิสาหกิจ และชี้แจงว่า สาเหตุที่ไม่มีประสบการณ์เข้าบริหารแผนฟื้นฟูกิจการระดับแสนล้านบาท เพราะไม่ค่อยมีกิจการระดับนี้เข้ามาฟื้นฟูกิจการ
ทั้งนี้ ศาลล้มละลายกลางยุติการไต่สวนวันแรกในเวลาประมาณ 13.00 น.เศษหลังจากเริ่มมาตั้งแต่ช่วงเช้า และได้นัดไต่สวนตามคำร้องของเจ้าหนี้อีกครั้งในวันที่ 20 ส.ค. 63 เวลา 9.00 น.และ วันที่ 25 ส.ค.นี้ เวลา 9.00 หลังจากนั้นศาลฯจะระบุวันพิพากษาต่อไป
นายชาญศิลป์ กล่าวกับผู้สื่อข่าวภายหลังเป็นพยานของ THAI ในวันนี้ว่า กระบวนการไต่สวนคำร้องวันนี้เป็นไปโดยราบรื่นและมีแนวโน้มที่ดี โดยมีทนายเจ้าหนี้รายย่อยเพียง 7 รายเท่านั้นที่ยื่นคำคัดค้านคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของ THAI ซึ่งประเด็นที่คัดค้านนั้น ไม่มีเรื่องใดน่าหนักใจ เพราะเป็นประเด็นที่สามารถชี้แจงให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องได้
ประกอบกับ ขณะนี้มีเจ้าหนี้รายใหญ่ร้อยกว่าราย รวมทั้งกระทรวงการคลังที่ได้ลงนามในหนังสือให้การสนับสนุนการฟื้นฟูกิจการของ THAI และไม่คัดค้านคณะผู้ทำแผนฯ ที่บริษัทเสนอ ซึ่งคิดเป็นจำนวนรวมมากกว่า 50% ของมูลหนี้ทั้งหมดตามงบการเงินไตรมาส 2/63 ที่มีกว่า 3 แสนล้านบาท
นายชาญศิลป์ เชื่อว่า บริษัทแสดงพยานหลักฐานต่อศาลอย่างเต็มที่แล้วว่าสมควรได้รับการฟื้นฟูกิจการและคณะผู้ทำแผนฯ ที่การบินไทยเสนอ มีความเหมาะสม แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ต้องขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลล้มละลายกลางว่าจะมีคำสั่งอย่างไรและเมื่อใด โดยในการไต่สวนครั้งถัดไปบริษัทก็เตรียมจะนำพยานเข้าเบิกความต่อศาล
หลังจากนั้น คาดว่าศาลจะใช้เวลาในการพิจารณาคำร้อง 1-2 สัปดาห์ขึ้นกับดุลยพินิจ โดยจะพิจารณา 2 ประเด็น คือ ควรสั่งให้ THAI ฟื้นฟูกิจการหรือไม่ และควรแต่งตั้งคณะผู้ทำแผนฯ ตามที่บริษัทเสนอมาหรือไม่ ซึ่งคณะผู้ทำแผนฯ ที่เสนอไปประกอบด้วยบุคคลที่มีความรู้ความสามารถและผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์สูงและเป็นมืออาชีพในสาขาความรู้ด้านต่างๆ ได้แก่ พลอากาศเอกชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน, นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล, นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค, นายบุญทักษ์ หวังเจริญ, นายปิยสวัสดิ์ และตนเอง รวมถึง อีวาย คอร์ปอเรทฯ
หากกระบวนการไต่สวนเสร็จสิ้นและศาลมีคำสั่งให้ THAI เข้าสู่การฟื้นฟูกิจการ พร้อมตั้งคณะผู้ทำแผนฯ ก็จะมีการลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วกรมบังคับคดีจะแจ้งเจ้าหนี้ทุกรายให้ทราบขั้นตอนการลงทะเบียนยื่นคำขอรับชำระหนี้ โดยสามารถดำเนินการผ่านระบบออนไลน์ หรือจะนำเอกสารมาที่สำนักงานใหญ่ของ THAI เพื่อที่บริษัทและเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกต่อไป
นอกจากนี้ หากศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและตั้งคณะผู้ทำแผนฯแล้ว THAI จะเชิญเจ้าหนี้กลุ่มต่างๆ มารับฟังการจัดทำร่างแผนฟื้นฟูกิจการในเบื้องต้นเพื่อให้รับทราบถึงความคืบหน้าของการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการภาย 1-2 เดือน นับจากวันที่มีการประกาศคำสั่งตั้งผู้ทำแผนในราชกิจจานุเบกษา
สำหรับลูกค้าที่ขอคืนค่าบัตรโดยสาร (Refund) นั้น บริษัทเปิดให้ไปแลกเป็น Voucher และใช้ได้ถึงปี 65 ส่วนสมาชิกโปรแกรมสะสมไมล์ Royal Orchid Plus (ROP) นั้น แม้จะไม่ใช่เจ้าหนี้ของบริษัท เพราะไมล์สะสมของสมาชิกเป็นการสะสมคะแนนเพื่อวัตถุประสงค์ในการแลกรางวัลต่างๆ แต่การบินไทยยังคงตระหนักถึงความสำคัญของสมาชิก ROP จึงให้ขยายเวลาใช้สิทธิในปี 64
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 ส.ค. 63)
Tags: THAI, การบินไทย, ชาญศิลป์ ตรีนุชกร, ชุติมา ปัญจโภคากิจ, ทิพยประกันชีวิต, ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์, อีวาย คอร์ปอเรทฯ