สาธารณสุข ตั้งโต๊ะแถลงจุดยืนแบน 3 สารเคมีอันตราย หนุนคนไทยร่วมต้าน

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวง แถลงข่าวย้ำจุดยืนแบน 3 สารเคมีอันตราย (พาราควอต คลอร์ไพรีฟอส และ ไกรโครเซต) ว่า กระทรวงสาธารณสุขในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบการควบคุมป้องกันและรักษาโรคของประชาชน ขอยืนยันว่ากระทรวงไม่เห็นด้วยและจะคัดค้านถึงที่สุดต่อกรณีที่มีความพยายามที่จะให้มีการยกเลิกการแบนการใช้สารเคมีดังกล่าวหลังจะมีการพิจารณาเลื่อนการยกเลิกการใช้สารเคมีอันตรายที่มีผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพของประชาชน

นายอนุทิน กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีความเป็นห่วงว่า หากมีการเสนอให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายพิจารณาทบทวนมติให้มีการนำสารเคมีอันตราย ทั้งพาราควอต และ คลอร์ไพริฟอสกลับมาใช้อีกครั้ง ซึ่งจะมีผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพของผู้ใช้ ผู้บริโภค และก่อให้เกิดมลภาวะในระบบนิเวศน์ของเกษตรกรรมในประเทศ จึงขอความร่วมมือจากประชาชนช่วยกันพิจารณาและต่อต้านคัดค้านขัดขวางการพิจารณาทบทวนของมติของคณะกรรมการวัตถุอันตราย

“หากจำได้ มติการแบนสารพิษเปลี่ยนไป เปลี่ยนมาตลอดเวลา บางครั้งแบนได้หมด แบนได้เดือน 2 เดือน ก็เปลี่ยนอีกแล้ว พอกดดันเปลี่ยนไม่ได้ ก็ยืด พอใกล้ถึงเวลาหมดการยืด ก็จะมาขอให้พิจารณาให้ใช้ก่อน แบบนี้ไม่ต้องประชุมคณะกรรมการฯ ก็ได้ มติทุกคณะกรรมการที่ตั้งโดยรัฐบาล จะต้องมีความยั่งยืน มั่นคงและแน่วแน่ ไม่ใช่เปลี่ยนได้ตลอดเวลา นี่คือสิ่งที่ สธ.มีความเป็นห่วงมาก เราเข้าไปโหวต เราไม่ได้ไปล็อบบี้ใคร กรรมการ 2 คนของเรา ไปโหวตตามวิชาชีพ ตามความรู้ ตามนโยบายของ สธ. ซึ่ง สธ.เป็นหน่วยงานเดียวในการยืนหยัดการแบนมาตลอด”

นายอนุทิน กล่าว

ทั้งนี้ แม้ว่ากระทรวงสาธารณสุขจะมีผู้แทนอยู่ในคณะกรรมการวัตถุอันตรายเพียง 2 เสียงจากจำนวนคณะกรรมการทั้งคณะ 27 เสียง คือเสียงของปลัดกระทรวงสาธารณสุขและเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา โหวตยังไงก็แพ้ จึงต้องมาให้ข้อมูลกับประชาชนว่า แม้จะยืนยันวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ข้อมูลผลกระทบทางสุขภาพ และรายงานผู้ป่วยที่ได้รับสารพิษไปหลายครั้งแล้ว แต่ยังมีความกดดันให้คณะกรรมการฯ เปลี่ยนแปลงมติอยู่ตลอด และมีความพยายามที่จะให้มีการใช้สารเคมีในการเกษตรโดยตลอด

“ขอยืนยันว่า 2 เสียงของกระทรวงสาธารณสุขจะคัดค้านเต็มที่ หวังว่าเสียงครั้งนี้จะทำให้ผู้ที่มีส่วนร่วมในการพิจารณาได้คิดถึงสุขภาพของประชาชน คิดถึงความปลอดภัยของประเทศ คิดถึงความยั่งยืนของระบบเกษตรกรรมของประเทศ และการทำให้คนไทยมีสุขภาพที่ดี”

นายอนุทิน กล่าวว่า หากทั้ง 3 สารเคมีพอจะมีคุณประโยชน์อยู่บ้างต่อการนำมาใช้ด้านการเกษตร ทุกโรงพยาบาลทั่วประเทศคงไม่ขึ้นป้ายต่อต้านคัดค้านการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิด

ด้านนพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงปี 2558-2562 พบว่า เรามีผู้ป่วยจากโรคพิษจากสารกำจัดศัตรูพืช จำนวน 41,941 ราย โดยปีที่มีผู้ป่วยมากสุด ปี 2560 มีจำนวน 10,686 ราย แต่พอมาปี 2562 จำนวน 6,008 ราย เป็นผลมาจากการรณรงค์ลดปริมาณการนำเข้าสารเคมีเหล่านี้ ข้อมูลล่าสุดปี 2563 (1 ม.ค.-29 ส.ค.) จำนวนผู้ป่วยลดลงเหลือ 4,933 ราย

“การที่กระทรวงสาธารณสุขออกมาเคลื่อนไหวเรื่องนี้ถ้าเราทำต่อเนื่องและจริงจัง จำนวนคนที่ได้รับผลกระทบก็จะลดลงตามลำดับ”

นพ.สุวรรณชัย กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (31 ส.ค. 63)

Tags: , , , , , , , ,
Back to Top